บล.เอเซีย พลัส:
OR 4Q66 เหลือเพียงกำไรบางๆ …หวังฟื้นตัวได้ใหม่ใน 1Q67
OR รายงานกำไรสุทธิงวด 4Q66 ลดลงมีนัยฯ มาอยู่เพียง 192.9 ล้านบาท จาก 5.2 พันล้านบาทในงวด 3Q66 กดดันหลักจากธุรกิจ MOBILITY ที่เกิด STOCK LOSS 2.5 พันล้านบาท ฉุดกำไรขั้นต้น/ลิตร มาอยู่เพียง 0.75 บาท/ลิตร จากเดิม 1.26 บาท/ลิตร และธุรกิจ GLOBAL ที่ทั้งกำไรขั้นต้น/ลิตร และยอดขายน้ำมันลดลง QOQ แม้ธุรกิจLIFESTYLE จะมียอดขายดีขึ้นแต่ชดเชยไม่หมด ช่วงสั้นงวด 1Q67 คาดกำไรฟื้นตัว QOQ หนุนหลักจากกำไรขั้นต้น/ลิตร ที่เพิ่มขึ้นจากโอกาสเกิด STOCK LOSS น้อยลง และค่าใช้จ่าย SG&A ที่ลดลงตามช่วงฤดูกาล
ปรับลดประมาณการกำไรปี 2567 เป็นต้นไป สะท้อนการประเมินภาพรวมของธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน และ ธุรกิจ NON-OIL ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ FV ใหม่ อยู่ที่ 20.5 บาท/หุ้น (เดิม 23) ประกาศจ่ายปันผล 2H66 ที่หุ้นละ 0.27 บาท (ทั้งปี 2566 จ่ายหุ้นละ 0.52 บาท) DIV.YIELD ครึ่งปี 1.5% ภาพการเติบโตเพียงสอดรับกับทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่โดดเด่น แนะนำ NEUTRAL
กำไร/ลิตร ลดลงจาก stock loss ฉุดกำไร 4Q66 ลด QoQ
OR รายงานผลประกอบการงวด 4Q66 ปรับตัวลดลงมีนัยฯมาอยู่เพียง 192.9 ล้านบาท จากงวด 3Q66 ที่เป็นกำไร 5.2 พันล้านบาท กดดันหลักจากกลุ่มธุรกิจ Mobility (กลุ่มธุรกิจน้ำมัน – สัดส่วน 68.1% ของ EBITDA รวมในปี 2566) ที่มี EBITDA ลดลง 78.3%qoq มาอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท โดยหลักเป็นผลมาจากกำไรขั้นต้นเฉลี่ย/ลิตร ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่เพียง 0.75 บาท/ลิตร จาก 1.26 บาท/ลิตร ในงวดก่อนหน้า จากผลขาดทุนสต็อกน้ำมัน 2.5 พันล้านบาท ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยดูไบ ณ สิ้นงวด 4Q66 ที่ปรับตัวลดลง QoQ เทียบกับ
งวดก่อนหน้าที่เคยเป็นกำไรสต็อกน้ำมันราว 4.0 พันล้านบาท ถึงแม้ว่าปริมาณจำหน่ายน้ำมันโดยรวมในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.3%qoq มาอยู่ที่ 7.0 พันล้านลิตร หนุนจากปริมาณขายน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งในตลาดค้าปลีก และในตลาดพาณิชย์ จากมาตรการกระตุ้นยอดขายในช่วงปลายปีก็ตาม ซึ่งในงวดนี้มีการขยายสถานีบริการน้ำมันในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก 53 สถานี มาอยู่ที่ 2,256 สถานี อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น จากทั้งค่าจ้างบุคคลภายนอกในการซ่อมบำรุงตามแผน และค่าส่งเสริมการขายที่มากขึ้น ส่งผลให้ EBITDA margin ของกลุ่มธุรกิจ mobility ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 0.7% จาก 3.2% ในงวด 3Q66
รวมถึงในส่วนของกลุ่มธุรกิจ Global (กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ – สัดส่วน 6.6% ของ EBITDA รวมในปี 2566) มี EBITDA ลดลงมาอยู่เพียง 3 ล้านบาท จาก 550 ล้านบาทในงวดก่อนหน้า โดยหลักเป็นผลมาจากกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในประเทศฟิลิปปินส์ และสปป.ลาว รวมถึงปริมาณจำหน่ายน้ำมัน โดยรวมในต่างประเทศปรับตัวลดลง 11.4%qoq มาอยู่ที่ 372 ล้านลิตร โดยหลักเป็นผลมาจากประเทศฟิลิปปินส์ที่ไม่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ชนะประมูลในงวดนี้ รวมถึงปริมาณจำหน่ายน้ำมันอากาศยานในประเทศกัมพูชาที่ลดลง ประกอบกับยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในส่วนงานธุรกิจ Global ที่ปรับตัวสูงขึ้น ถึงแม้ว่าปริมาณขายของ Cafe Amazon ในต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น 10.0%qoq มาอยู่ที่ 7.7 ล้านแก้ว ตามการเข้าสู่ช่วง high season ของฤดูกาลท่องเที่ยวและเฉลิมฉลอง รวมถึงการเปิดสาขาใหม่อย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ชดเชยไม่หมด ส่งผลให้ EBITDA Margin ของกลุ่มธุรกิจ Global ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 0.0% จาก 4.4% ในงวดก่อนหน้า โดยในงวดนี้มีการเปิดสถานีบริการน้ำมัน และ Cafe Amazon ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีก 5 สถานี และ 34 สาขา มาอยู่ที่ 396 สถานี และ 371 ร้านค้า ตามลำดับ
อีกทั้งยังรับรู้ผลขาดทุน EBITDA จากส่วงงานอื่นๆที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 240 ล้านบาท จากขาดทุน 54 ล้านบาท ในงวด 3Q66 โดยหลักเป็นผลมาจากการรับรู้ค่าใช้จ่ายในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาแพลตฟอร์มของทางบริษัทฯ
ในขณะที่กลุ่มธุรกิจ Lifestyle (กลุ่มธุรกิจ non-oil สัดส่วน 26.8% ของ EBITDA รวมในปี 2566 ) มี EBITDA เพิ่มขึ้น 8.7%qoq มาอยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท รับแรงหนุนจากรายได้ขายและบริการโดยรวมที่ฟื้นตัว 6.6%qoq มาอยู่ที่ 5.9 พันล้านบาท จากยอดขายธุรกิจ Cafe Amazon และธุรกิจค้าปลีกอื่นๆที่ฟื้นตัวตามช่วง
ฤดูกาล โดยในงวดนี้ Cafe Amazon มีปริมาณขายเพิ่มขึ้น 3.2%qoq มาอยู่ที่ 95 ล้านแก้ว และมีการขยายสาขาเครือข่ายร้าน Cafe amazon และร้านสะดวกซื้อในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 116 และ 41 สาขา มาอยู่ที่ 4,181 และ 2,227 สาขา ตามลำดับ ขณะที่ร้านเท็กซัส ชิคเกน ยังมีสาขาเท่าเดิมที่ 100 สาขา ถึงแม้ว่าจะยังมีแรงกดดันบางส่วนจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น โดยหลักมาจากค่าจ้างบุคคลภายนอก และค่าส่งเสริมการขายก็ตาม สุทธิแล้ว EBITDA Margin ของกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 25.6% จาก 25.1% ในงวดก่อนหน้า
นอกจากนี้ ในส่วนของรายการพิเศษ Fx และตราสารอนุพันธ์ สุทธิแล้วมีการบันทึกกลับเป็นขาดทุน 624.7 ล้านบาท จากงวด 3Q66 ที่บันทึกเป็นกำไร 491.3 ล้านบาท
โดยรวมแล้วกำไรสุทธิทั้งปี 2566 อยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.0%yoy แต่ต่ำกว่าประมาณการกำไรสุทธิทั้งปีที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ 8.8%
ปรับลดประมาณการกำไรปี 2567 เป็นต้นไป … ช่วงสั้นงวด 1Q67 คาดกำไรปกติฟื้นตัว QoQ
ฝ่ายวิจัยได้มีการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป โดยปรับลดประมาณการกำไรปี 2567-2568 ลง 9.7% และ 9.9% จากเดิม มาอยู่ที่ 1.2 และ 1.3 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ เพื่อสะท้อนทิศทางการเติบโตของธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน และธุรกิจ non-oil ให้มีความรัดกุมมายิ่งขึ้น ภายใต้หลักความระมัดระวัง และสอดคล้องกับภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังอยู่ในสภาวะชะลอตัว โดยฝ่ายวิจัย
1) ปรับลดสมมติฐานปริมาณจำหน่ายน้ำมันโดยรวมปี 2567 ลง 2.1% จากเดิมมาอยู่ในระดับ 2.76 หมื่นล้านลิตร เท่ากับปี 2566 และกำหนดให้ปริมาณจำหน่ายปี 2568 เป็นต้นไปคงที่ ที่ระดับ 2.76 หมื่นล้านลิตร จากเดิมที่กำหนดให้เติบโตปีละ 2.5% มาอยู่ราว 2.89 และ 2.97 ล้านลิตร ตามลำดับ รวมถึงปรับลดปริมาณจำหน่ายน้ำมันในต่างประเทศปี 2567 ลง 1.4% จากเดิม มาอยู่ที่ 1.7 พันล้านลิตร และปรับลดสมมติฐานการเติบโตของปริมาณจำหน่ายน้ำมันในต่างประเทศระยะยาวตั้งปี 2568 เป็นต้นไปลงมาอยู่ที่ 2.0% จากเดิม 3.0% จากภาพรวมเศรษฐกิจในต่างประเทศที่ยังฟื้นตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้
2) ปรับลดจำหน่าย Cafe Amazon ปี 2567-68 ลง 5.1% และ 6.2% จากเดิม มาอยู่ที่ 376.4 ล้านแก้ว และ 401.7 ล้านแก้ว ตามลำดับ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการขยายสาขา Cafe Amazon ของ OR ที่เหลือเพียงปีละ 300 สาขาจากเดิมปีละ 400 สาขา โดยยังคงสมมติฐานราคาขายเฉลี่ย/แก้ว ตั้งแต่ปี 2567เป็นต้นไปอยู่ที่ 75 บาท ไว้ดังเดิม
3) ปรับเพิ่มสมมติฐาน SG&A/sale ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไปขึ้นมาอยู่ที่ 5.2% จากเดิม 4.9% ตามค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ OR ที่สูงขึ้น จากทั้งการขยายการติดตั้ง EV charging station, การพัฒนาแพลตฟอร์มธุรกิจ, รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งสูงกว่าในระดับที่เคยประเมินไว้
ภายใต้ประมาณการใหม่ ส่งผลให้กำไรสุทธิปี 2567-68 เติบโต 8.1%yoy และ 4.8%yoy มาอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท และ 1.3 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ
ช่วงสั้น งวด 1Q67 คาดกำไรสุทธิจะฟื้นตัว QoQ หนุนหลักจากธุรกิจ Mobility ที่คาดกำไรขั้นต้นเฉลี่ย/ลิตรจะเริ่มฟื้นตัว QoQ จากคาดการณ์ว่าจะไม่เกิด stock loss จำนวนมากดังที่เคยเกิดขึ้นในงวดนี้ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ คาดจะลดลงสู่ระดับปกติ ถึงแม้คาดว่าปริมาณขายผลิตภัณฑ์โดยรวม ทั้งในส่วนของธุรกิจ Mobility และ lifestyle จะอ่อนตัวลง QoQ หลังจากผ่านพ้นช่วง High season ของฤดูกาลที่เที่ยวในช่วงปลายปีมาแล้วก็ตาม
การประกอบธุรกิจตามหลักความยั่งยืน (ESG) ของ OR:
ด้านสิ่งแวดล้อม (ENVIRONMENT) : ลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้ 1 ใน 3 จากการดำเนินธุรกิจ โดยกำหนดนโยบายดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคุมและลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานทดแทน ส่งมอบสินค้าและบริการโดยสนับสนุนการบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบของ OR รวมถึงคู่ค้าตลอดจนถึงลูกค้าและผู้บริโภค โดยประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาะสูงสุด
ด้านสังคม (SOCIAL) : ยกระดับชีวิตและสร้างชุมชนน่าอยู่กว่า 1.5 หมื่นชุมชน โดยดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ปกป้องสิทธิแรงงาน ความปลอดภัย สุขอนามัย และสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี มอบสวัสดีการที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของพนักงานและครอบครัว ไม่เลือกปฏิบัติและให้โอกาสที่เท่าเทียมกันในการปฏิบัติงาน ส่งเสริมการจ้างแรงงาน โอกาสการจ้างแรงงานในท้องถิ่น รวมถึงผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และกลุ่มเปราะบาง อีกทั้งใช้ความเชี่ยวชาญขององค์กรเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน
ด้านเศรษฐกิจและธรรมาภิบาล (ECONOMIC& GOVERNANCE) : สร้างการเติบโตและกระจายความมั่งคั่งสู่ผู้มีส่วนได้เสียกว่า 1 ล้านราย โดยอาศัยหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีจริยธรรม ปฏิบัติตามกฏหมาย พันธสัญญา ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องของประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจและแนวปฏิบัติในระดับสากล ให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอรัปชัน รวมทั้งจัดให้มีการรับเรื่องร้องเรียนและแจ้งบาะแส เปิดเผยข้อมูลและผลการดำเนินงานอย่างโปร่งใส มุ่งเน้นการป้องกันและรักษาความปลอดภัยด้านสารสนเทศ ตอบสนองความคาดหวังและส่งมอบคุณค่าแก่ลูกค้าผ่านสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย พร้อมทั้งบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าเพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดี รวมทั้งปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและแสวงหาโอกาสให้เหมาะสมกับธุรกิจ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและสนับสนุนร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจและผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้งการบริหารจัดการและตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล
ประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญ
- ความเสี่ยงจากการพึ่งพิงกลุ่ม ปตท.ในการจัดหาผลิตภัณฑ์ การบริหาร และการให้บริการด้านองค์กร
- ธุรกิจอาศัยแบรนด์ที่มีชื่อสียง ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบ จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของ OR ได้
- บริษัทอยู่ภายใต้กฎหมาย กฎเกณฑ์ และ พรบ.การแข่งขันทางการค้า ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลต่อธุรกิจ
- ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย และจากการลงทุนใน ต่างประเทศ (COUNTRY RISK)
ที่มา: OR