บล.พาย:

STANLY: Thai Stanley Electric PCL

เน้นลดต้นทุน ชดเชยอุตสาหกรรมที่ชะลอ

จากการที่ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไม่สดใสนัก จากปัญหาเศรษฐกิจและการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงิน STANLY จึงมีการกลับมาเน้นการควบคุมต้นทุนภายในเป็นหลัก ทั้งการจัดหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ หรือการควบรวมไลน์การผลิต ซึ่งจะเริมเห็นผลชัดเจน ตั้งแต่งบประมาณปี 25 (เม.ย.24-มี.ค.25) เป็นต้นไป ขณะที่ผลประกอบการงวด FY3Q23 ออกมามีกำไรสุทธิใกล้เคียงกับที่เราคาดไว้โดยอยู่ที่ 443 ล้านบาท (+18%YoY,-11%QoQ) โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ คืออัตรากำไรขั้นต้นที่สูงถึง 19.2% ทั้งนี้เราปรับคำแนะนำเป็น “ซื้อ” หลังปรับไปใช้มูลค่าเหมาะสมปี 25 ที่ประเมินได้ที่ 237 บาท (10.5 XPER’25E) โดยมองว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และพร้อมรับงานจากค่ายรถยนต์จีนที่เข้ามาได้

FY3Q24 มีกำไรสุทธิ 443 ล้านบาท (+18%YoY, -11%QoQ)

  • STANLY มีกำไรสุทธิงวด FY3Q24 (ต.ค.-ธ.ค.23) ที่ 443 ล้านบาท (+18%YoY,-11%QoQ) ถ้าไม่รวมรายการพิเศษอย่างขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และสัญญาทางการเงินประมาณ 10 ล้านบาท จะมีกำไรปกติที่ 453 ล้านบาท ใกล้เคียงที่เราคาดไว้ โดยการลดลงจาก FY2Q24 เพราะไม่มีเงินปันผลรับเข้ามา
  • รายได้ที่ 3,607 ล้านบาท (+0.1%YoY,-4%QoQ) การเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพราะมีการรับรู้คำสั่งชื้อใหม่ที่มีมูลค่าสูงอย่าง Honda Accord เข้ามา ส่วนเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงเล็กน้อยเพราะเป็นช่วงที่มีวันหยุดค่อนข้างมาก
  • กำไรขันต้นที่ 19.2% ดีขึ้นจาก 17% ใน FY3Q23 และ 16.3% ใน FY2Q24 เป็นผลจากโมเดลใหม่มีมูลค่าสูงถึง รวมถึงผลดีจากค่าไฟที่ลดลง สำหรับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ 286 ล้านบาท (+4%YoY,+2%QoQ)
  • รายได้อื่นรวมที่ 56 ล้านบาท (+27%YoY,-68%QoQ) การลดลงแรงจากไตรมาสก่อนเพราะไม่มีเงินปันผลรับ ส่วนการเพิ่มจากปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากดอกเบี้ยรับที่เพิ่มขึ้น ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมที่ 102 ล้านบาท (-2%YoY, +17%QoQ)

คุมต้นทุนหนัก เพื่อรับกับอุตสาหกรรมที่ไม่สดใส

จากภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ดูไม่สดใสนักในปีนี้ โดยเฉพาะการที่ปัญหาหนี้เสียที่ทำให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อค่อนข้างมาก ดังนั้น STANLY เองในปี 25 (เม.ย.24-มี.ค.25) จึงหันมาเน้นการลดต้นทุนเป็นหลัก อย่างเช่นการจัดหาวัตถุดิบจากประเทศจีน หรือการใช้นโยบายสั่งซื้อสินค้าร่วมกับกลุ่ม STANLY ในการต่อรองกับทาง Supplier เพื่อชดเชยรายได้ที่อาจจะไม่เติบโตนัก แม้จะมีโมเดลใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้นเข้ามาก็ตาม โดยเราคาดว่าจากการดำเนินงานดังกล่าวจะทำให้ผลประกอบการในปี 25 กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง

ระยะยาวยังดูดี ปรับคำแนะนำเป็น “ซื้อ”

แนวโน้มในช่วง FY4Q24 เราคาดว่าผลประกอบการจะลดลงจาก FY4Q23 จากฐานที่สูงส่วนเทียบกับ FY3Q24 คาดว่าจะใกล้เคียงกัน เพราะจะเริ่มเห็นผลดีจากการควบคุมต้นทุนมากขึ้น แม้ว่าค่าไฟจะกลับมาปรับขึ้นแล้วก็ตาม ส่วนปี 25 เรามีการปรับประมาณการเล็กน้อย โดยปรับกำไรสุทธิลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1,815 ล้านบาท (+7YoY) เพื่อสะท้อนถึงรายได้ที่อาจจะไม่เติบโต สำหรับคำแนะนำการลงทุน เราปรับขึ้นเป็น “ซื้อ” เพราะมองว่าด้วยฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และความพร้อมในการเข้ามาของรถ EV จากจีน โดยเราปรับไปใช้มูลค่าเหมาะสมปี 25 แทนที่ 237 บาท (10XPER’25E)

- Advertisement -