ไทยยูเนี่ยน โกยยอดขายไตรมาสสี่ 35,529 ล้านบาท โต 4.8% จากกลุ่มธุรกิจแช่แข็งและอาหารสัตว์เลี้ยง พร้อมโชว์กระแสเงินสดแข็งแกร่ง 2,842 ล้านบาท

ไทยยูเนี่ยน โกยยอดขายไตรมาสสี่ 35,529 ล้านบาท โต 4.8% จากกลุ่มธุรกิจแช่แข็งและอาหารสัตว์เลี้ยง พร้อมโชว์กระแสเงินสดแข็งแกร่ง 2,842 ล้านบาท ส่งผลให้ทั้งปีจ่ายปันผลที่ 0.54 บาท

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2566 ด้วยยอดขาย 35,529 ล้านบาท ซึ่งเติบโตถึง 4.8 เปอร์เซ็นต์จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และมีกำไรสุทธิจากผลการดำเนินงานปกติที่ 1,243 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1 เปอร์เซ็นต์ จากไตรมาสก่อน ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นจากผลการดำเนินงานปกติแข็งแกร่งถึง 17.8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ถึง 2,842 ล้านบาท และยังมีระดับหนี้ต่ำโดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ที่ 0.78 เท่า สะท้อนถึงการเติบโตที่มั่นคงและรับมือกับปัจจัยเสี่ยงภายนอกได้อย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลครึ่งปีหลังให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ราคา 0.24 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้ปี 2566 บริษัทฯ จ่ายเงินปันรวม 0.54 บาทต่อหุ้น

ภาพรวมผลประกอบการปี 2566 มียอดขายอยู่ที่ 136,153 ล้านบาท ลดลง 12.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีอัตราการเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์เนื่องจากการขนส่งทั่วโลกที่กลับสู่ภาวะปกติทำให้ลูกค้าไม่มีความจำเป็นต้องกักตุนสินค้า ขณะที่อัตรากำไรสุทธิจากผลการดำเนินงานปกติ อยู่ที่ 4,499 ล้านบาท ลดลง 37.0 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการบันทึกรายการด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดครั้งเดียว ในไตรมาส 4 ที่มูลค่า 18,433 ล้านบาท (527 ล้านดอลลาร์) จากแผนถอนการลงทุนส่วนน้อยในเรด ล็อบสเตอร์ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นกู้อย่างเป็นเอกฉันท์เรื่องการขออนุมัติผ่อนผันหลักเกณฑ์การคำนวณอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นของไทยยูเนี่ยนในปี 2566 ตามที่บริษัทฯ เสนอขอให้ไม่นับรวมรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าตามหลักการทางบัญชี จากแผนดังกล่าว เพราะเมื่อพิจารณาตัวเลขการหักรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าตามหลักการทางบัญชีแล้วไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสด และความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทฯ ประกอบกับทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตบริษัทฯ ในระดับ A+

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 4 กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เยือกแข็ง มียอดขายอยู่ที่ 12,525 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 8.0 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 14.4 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลจากกลยุทธ์การบริหารจัดการขนาดองค์กรที่ประเทศสหรัฐฯ และการบริหารจัดการระบบสินค้าคงคลังที่ดีขึ้น ขณะที่กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง มีอัตราเติบโต 22.5 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการฟื้นตัวของคำสั่งซื้อจากกลุ่มลูกค้าหลัก และระดับสินค้าคงคลังที่กลับสู่ภาวะปกติ รวมถึงการนำกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นตลาดเฉพาะกลุ่มประเภทอาหารสัตว์เลี้ยงชนิดเปียกและขนมสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยในไตรมาส 4 ไทยยูเนี่ยนยังมีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวก มูลค่าถึง 2,842 ล้านบาทมาจากความสามารถในการทำกำไร (EBITDA) ที่แข็งแกร่ง ประกอบการมีการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ

“ปีที่ผ่านมานับเป็นปีแห่งความท้าทายจากการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ที่กดดันตลาดที่ไทยยูเนี่ยนดำเนินธุรกิจอยู่ ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปถึงค่าครองชีพและกำลังซื้อของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมธุรกิจจะยังคงอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก แต่ไทยยูเนี่ยนก็สามารถรับมือและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้ในไตรมาสสุดท้ายของปียังสามารถทำกำไรได้ดีในทุกกลุ่มธุรกิจ” นายธีรพงศ์ กล่าวว่า

สำหรับสัดส่วนยอดขายแบ่งเป็นรายกลุ่มธุรกิจ ประจำปี 2566 ประกอบด้วย กลุ่มอาหารกระป๋อง 47 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เยือกแข็ง 35 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง 11 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มสินค้ามูลค่าเพิ่มและธุรกิจอื่น ๆ 7 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อพิจารณาสัดส่วนยอดขายตามภูมิภาค แบ่งเป็น สหรัฐอเมริกาและแคนาดา 41 เปอร์เซ็นต์ ยุโรป 30 เปอร์เซ็นต์ ไทย 11 เปอร์เซ็นต์ และอื่น ๆ 18 เปอร์เซ็นต์

ไทยยูเนี่ยนยังได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่เป็นปีที่ 10 ติดต่อกันในปี 2566 และยังครองอันดับ 1 ดัชนีอาหารทะเลยั่งยืน Seafood Stewardship Index (SSI) ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ตอกย้ำความเป็นผู้นำในด้านความยั่งยืนและเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs)
นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยน ยังประกาศความสำเร็จในการจัดหาเงินทุนที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยเป็นสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan หรือ SLL) มูลค่า 11,485 ล้านบาท ถือเป็นการเริ่มระยะที่ 2 ของโครงการ Blue Finance หรือการบริหารจัดการการเงินเพื่อการทำงานด้านการอนุรักษ์ท้องทะเลของไทยยูเนี่ยน โดยมีเป้าหมายจัดหาเงินทุนที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้ได้ 75 เปอร์เซ็นต์ของการจัดหาเงินทุนระยะยาวภายในปี 2568

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งมั่นสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว จากเป้าหมายปัจจุบันที่ไทยยูเนี่ยนมุ่งสร้าง “การมีสุขภาพที่ดีและท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์ หรือ Healthy Living, Healthy Oceans” โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพผู้คน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ท้องทะเล ไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน โดยจะเดินหน้าประกาศกลยุทธ์ระดับองค์กรตัวใหม่ (Corporate Strategy 2030) ที่จะครอบคลุมถึงปี 2573 เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมทะเลระดับโลก พร้อมสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้แก่ผู้ถือหุ้น ด้วยการขยายการลงทุนที่หลากหลายในอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นมากกว่าอาหารทะเล และเป็นผู้วางรากฐานของโภชนาการแห่งอนาคต เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้คน สัตว์เลี้ยง ควบคู่กับการดูแลโลกใบนี้

“แม้ว่าปีนี้จะมีความท้าทายจากปัจจัยภายนอกอย่างต่อเนื่อง แต่เรามั่นใจว่าการวางกลยุทธ์องค์กรเพื่อมุ่งสู่ปี 2573 ที่ยังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจหลักของไทยยูเนี่ยน เช่น กลุ่มอาหารกระป๋อง, กลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เยือกแข็ง และกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตพร้อมสร้างผลกำไรและมูลค่าเพิ่ม เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกภาคส่วนได้มากยิ่งขึ้น” นายธีรพงศ์ กล่าว

- Advertisement -