JPARK กำไรปี 66 โตตามนัด 14.17% รายได้เพิ่มทุกธุรกิจ หนุนมาร์จิ้นพุ่ง พร้อมแจกปันผล 0.0375 บาท/หุ้น ขึ้น XD 22 เม.ย. 67
“เจนก้องไกล” โชว์กำไรปี 66 ที่ 62.59 ลบ. โตตามนัด 14.17% โกยรายได้ 573 ลบ. เพิ่มขึ้นทุกธุรกิจ หนุนอัตรากำไรสุทธิเพิ่มเป็น 11.60% พร้อมแจกปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น ขึ้น XD 22 เมษายน 2567
นายสันติพล เจนวัฒนไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานสำหรับปี 2566 บริษัทฯมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 62.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.77 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 14.17% เมื่อเทียบกับปี 2565ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 54.82 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทฯมีรายได้รวมสำหรับปี 2566 อยู่ที่ 573.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120.76 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 26.70% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 452.30 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทฯจะจ่ายปันผลสำหรับปี 2566 เป็นเงินสดให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.0375 บาท โดยจะกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 22 เมษายน 2567 และจ่ายปันผลในวันที่ 7 พฤษภาคม 2567
โดยกำไรสุทธิ และรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ในทุกประเภทธุรกิจหลัก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจให้บริการที่จอดรถ หรือ PS ที่มีรายได้ 354.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.09 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 27.31% จากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลงส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการที่จอดรถปรับตัวเพิ่มขึ้น และรายได้จากธุรกิจให้คำปรึกษา และรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ หรือ CIPS มีรายได้ 121.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51.46 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 73.66% จากงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสีน้ำเงินได้เริ่มทยอยรับรู้รายได้ตามอัตราส่วนของงานที่ทำเสร็จ หรือ Percentage of Completion รวมถึงรายได้จากธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ หรือ PMS มีรายได้ 82.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.18 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 2.73%
ในขณะที่อัตรากำไรสุทธิของบริษัทฯหากไม่นับรวมการเปลี่ยนแปลงอายุการใช้งานของสินทรัพย์ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ หรือ Non-movable Assets ที่ติดตั้งอยู่บนพื้นที่เช่าให้สอดคล้องกับ ระยะเวลาของสัญญาเช่า ซึ่งเป็นรายการค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว หรือ One-time Expense บริษัทฯจะมีอัตรากำไรสุทธิสำหรับปี 2566 เท่ากับ 11.60% ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ที่อยู่ที่ 9.38% ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้จากการบริการที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการประหยัดต่อขนาด หรือ Economic of scale ในการบริหารจัดการ