RT ปักธงปี 67 เติบโตแข็งแกร่ง มุ่งประมูลงานภาครัฐ-เอกชนแน่น เตรียมเพิ่มทุน RO เสริมแกร่งธุรกิจ มั่นใจรายได้พุ่ง 20%
RT เผยแผนธุรกิจปี 2567 สร้างการเติบโตก้าวกระโดด ขยายศักยภาพงานก่อสร้าง ด้วยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือเฉพาะทาง เร่งส่งมอบงานตามแผน รับรู้รายได้ต่อเนื่อง มุ่งเข้าประมูลงานโครงการเมกะโปรเจกต์ภาครัฐ งานเอกชน และ โครงการ PPP เสริม Backlog 8,520 ล้านบาท พร้อมออก RO เพิ่มทุนเสริมแกร่งธุรกิจ เดินหน้าแผนพัฒนาเทคโนโลยีลดมลพิษงานก่อสร้าง มั่นใจเป้าหมายรายได้โต 20%
นายชวลิต ถนอมถิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ RT ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิศวกรรมโยธา งานขุดเจาะอุโมงค์ และ ธรณีเทคนิคครบวงจร เปิดเผยถึง ทิศทางการดำเนินธุรกิจปี 2567 บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถสร้างการเติบโตที่โดดเด่น ทั้งรายได้และกำไร จากความพร้อมในการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานที่ดีขึ้น บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างเฉพาะทาง เครื่องจักรและอุปกรณ์ก่อสร้างที่มีมาตรฐาน ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และ งานในมือที่พร้อมรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง
“ที่ผ่านมาบริษัทสามารถพัฒนาศักยภาพในการดำเนินงาน พร้อมการบริหารต้นทุนอย่างดี เพื่อให้สามารถส่งมอบงานได้ตามแผน ซึ่งสะท้อนได้จากการรับรู้รายได้และอัตรากำไรที่อยู่ในระดับที่ดีขึ้น อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันบริษัทมีโครงการก่อสร้างในมือจำนวน 22 โครงการ ครอบคลุมทุกกลุ่มงานก่อสร้างที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ แบ่งเป็นโครงการภายในประเทศจำนวน 21 โครงการ และ โครงการต่างประเทศจำนวน 1 โครงการ ส่งผลให้บริษัทมีมูลค่างานในมือที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) จำนวน 8,520 ล้านบาท และ ทยอยรับรู้รายได้จนถึงปี 2570
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนของภาครัฐที่มีความชัดเจน ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการเข้ารับงานที่สะท้อนราคาต้นทุนใหม่ให้กับ Backlog ของบริษัทให้มีมากขึ้น” นายชวลิต กล่าว
สำหรับปี 2567 บริษัทมีแผนการเข้าประมูลและเข้ารับงานในโครงการที่หลากหลาย ประกอบไปด้วย โครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ อาทิ โครงการทางพิเศษ, โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน, โครงการอุโมงค์ผันน้ำ และ โครงการแลนด์บริดจ์ นอกจากนี้ยังมีงานภาคเอกชน ได้แก่ งาน Slope Protection, งานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินโดยวิธี HDD และ Pipe Jacking รวมไปถึงงานโครงการที่เป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) เพื่อเพิ่มงานในมือและพร้อมสร้างการรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันบริษัทให้ความสำคัญกับติดตามสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน อาทิ การผันผวนของราคาวัสดุ, แรงงานก่อสร้าง และ การบริหารสภาพคล่องทางการเงิน อีกทั้งบริษัท มีแผนจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้น (RO) ไม่เกิน 275.47 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมไม่เกิน 151.51 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และลดต้นทุนทางการเงิน รองรับการเติบโต จากเข้ารับงานโครงการก่อสร้างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นอกเหนือจากการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้มีความรวดเร็วแล้ว บริษัทยังมุ่งพัฒนา การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดมลภาวะที่จะเกิดขึ้นจากงานก่อสร้าง โดยการเปลี่ยนระบบแสงสว่างภายในอุโมงค์ จากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์เป็นหลอดไฟ LED, โครงการเปลี่ยนรถบรรทุกจากเครื่องยนต์ดีเซล ให้เป็นระบบไฟฟ้าเพื่อใช้ในงานก่อสร้างภายในอุโมงค์ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งพร้อมใช้ในพื้นที่ก่อสร้างภายในสิ้นปี และอยู่ระหว่างการศึกษาและติดตั้งระบบการแผงโซล่าเซลล์ เพื่อใช้ประโยชน์ภายในพื้นที่โครงการก่อสร้าง โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือ ปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ ก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากงานก่อสร้าง และการดำเนินงานภายในองค์กร เพื่อสอดรับกับเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ของประเทศไทย
“สำหรับผลประกอบการที่ผ่านมาของบริษัทมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยสามารถพลิกกลับมามีกำไร จากความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากแผนการดำเนินงานทั้งหมด ทำให้บริษัทมีความมั่นใจว่าในปี 2567 จะเป็นอีกปีที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีเป้าหมาย สร้างการเติบโตของรายได้ไม่ต่ำกว่า 20% ขณะที่การออกเครื่องมือทางการเงินเพื่อเพิ่มทุน จะช่วยเสริมประสิทธิภาพของบริษัท ขยายโอกาสการเข้ารับงานและต้นทุนทางการเงินลดลง รวมถึงช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้เติบโตอย่างยั่งยืน” นายชวลิต กล่าวเพิ่มเติม