KS Daily View 11.03.2024 >>> ตัวเลขจ้างงานสหรัฐดี มองลดดอกเบี้ยมิ.ย. SET กรอบสั้น 1,370-1,390 จุด / แนะนำ STA, PSL

แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศ: คาดดัชนีแกว่งตัวในกรอบ 1,370-1,390 จุด รอดูรายงานตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือน ก.พ. คาดที่ 3.1% ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่คาด Core CPI ที่ 3.7% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 3.9%YoY ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของทางเฟด

Theme การลงทุนสัปดาห์นี้: ประเมินตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบ1,370-1,390 จุด มองปัจจัยด้านมหภาคจะเข้ามากำหนดทิศทางตลาดในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือน ก.พ. ในคืนวันอังคารที่ 12 มี.ค. ซึ่งจะเป็นตัวกำหนด Fund flows ผ่าน US 10Y bond yield คือ ถ้า Bond yield เด้งขึ้นแรง หุ้นจะลง แต่หาก Bond yield ปรับตัวลดลง หุ้นจะขึ้นต่อ และจะมีเงินไหลกลับเข้าตลาด Emerging market รวมถึงตลาดหุ้นไทย สำหรับปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ สถานการณ์ของบริษัทรับเหมาในประเทศที่มีปัญหาสภาพคล่องอาจส่งผลกระทบต่อหุ้นในกลุ่มสถาบันการเงิน และความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:

  1. ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.พ. ของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งที่ 275K สูงกว่าคาดที่ 200K แม้จะเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอความร้อนแรงจากค่าจ้างรายชั่วโมงเพิ่มในอัตราชะลอตัวเป็น 4.3% YoY จากเดือนก่อนหน้าที่ 4.4% YoY รวมถึงอัตราการการว่างงานที่สูงขึ้นเป็น 3.9% จากเดือนก่อนหน้าที่ 3.7% แต่ยังต่ำกว่าจุดที่มีเสถียรภาพในระยะยาวของเฟด ทำให้คาดว่าเฟดจะยังคงมุมมองเชิงระมัดระวังในการลดอัตราดอกเบี้ย
  2. ติดตามรายงานข่าวจากกรุงเทพธุรกิจว่า ทาง ITD อยู่ระหว่างหารือกับสถาบันการเงินเพื่อหาทางออกเรื่องสภาพคล่องกระทบกับการจ่ายเงินต่อไปยังซับคอนแทรคที่บริษัทว่าจ้างเข้ามาให้ก่อสร้างโครงการต่างๆ เพราะประสบภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาเรื่องของรายจ่ายดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง โดยล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้ขอให้สถาบันการเงิน 5 รายเข้ามาช่วยเหลือพยุงฐานะการเงินของบริษัทให้สามารถผ่านวิกฤติไปได้ แต่ล่าสุดมีเพียงสถาบันการเงินแห่งเดียวเท่านั้นที่เข้ามาช่วยเหลือ ITD
  3. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทวิเคราะห์คาดการณ์รายได้ดีลเลอร์รถยนต์เผชิญแรงกดดัน หดตัว 15% YoY ในปี 2567 จากทิศทางยอดขายรถยนต์ในประเทศที่เริ่มบ่งชี้ให้เห็นว่าน่าจะหดตัวจากค่ายรถยนต์ปรับสเปก ลดราคาแข่งรถอีวี แบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อ กดยอดขายรถปี 2567 ทำให้รายได้หลักของดีลเลอร์จากการขายรถยนต์คาดลดลง แม้รายได้จากการซ่อมบำรุง (10% ของรายได้รวม) จะเพิ่มขึ้น และช่วยประคองรายได้รวมก็ตาม
  4. กกพ.เปิดรับฟังความเห็นสูตรคำนวณ ค่าเอฟทีงวด พ.ค.- ส.ค. 2567 ระหว่าง 7-22 มีนาคม 2567 คาดโอกาสเคาะตรึง ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4.18 บาท/หน่วย (เท่าเดิม) สะท้อนต้นทุน LNG ขาลง ค่าเอฟที 39.72 สตางค์/หน่วย พร้อมคืนหนี้ กฟผ. 14,000 ล้านบาท นอกจากนี้ กกพ.เตรียมปรับฐานค่าไฟใหม่จากปัจจุบัน 3.78 บาท เป็นประมาณ 4 บาท จากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้น ทั้งนี้การตรึงค่าไฟที่ 4.18 บาทต่อหน่วย เรามองจะเป็นบวกกับโรงไฟฟ้า SPP อย่าง GPSC และ BGRIM บน profit margin ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามให้ติดตามประเด็นที่ “ส.อ.ท.” จี้รัฐบาลขอค่าไฟถูกลงเป็น 4-4.10 บาท ดันเศรษฐกิจ-ลดค่าครองชีพ

Daily pick

STA  : ราคาพื้นฐาน 22.00 บาท

ราคายางแผ่นรมควันที่ซื้อขายผ่านสำนักตลาดกลางยางพาราล่าสุดพุ่งทะลุ 80 บาทต่อ กก. สูงสุดในรอบ 41 เดือน คาดแนวโน้มปรับสูงขึ้นอีกจากความต้องการใช้ยางในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของโลกที่เพิ่มมากขึ้น และราคาน้ำมันที่ยืนสูงทำให้ต้นทุนการผลิตยางสังเคราะห์จึงสูงขึ้น ช่วยเพิ่มความต้องการใช้ยางธรรมชาติ

PSL  : ราคาพื้นฐาน 9.40 บาท 

ดัชนีค่าระวาง BDI ล่าสุดปรับขึ้นกว่า 4.2% เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หนุนโดยความต้องการนำเข้าของจีนที่เร่งตัวขึ้น ทั้งนี้ Commodore Research & Consultancy รายงานว่าจีนนำเข้าสินแร่เหล็ก ถ่านหิน และถั่วเหลืองจำนวน 148.5 MMT (+10% YoY) ใน 2 เดือนแรกของปี และเป็นสถิติสูงสุดสำหรับเดือนมกราคา-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลักๆหนุนจากการนำเข้าสินแร่เหล็ก (+8%YoY) และถ่านหิน (+17% YoY) ที่สูงขึ้น ขณะที่แนวโน้มค่าระวางเรือเทกองในระยะถัดไปคาดได้แรงหนุนจากการส่งออกของบราซิลที่แข็งแกร่ง และการเติบโตของอุปทานเรือที่จำกัด

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

วันจันทร์ :ติดตามตัวเลข GDP ของญี่ปุ่นสำหรับไตรมาส 4/2566 โดยเป็นตัวเลขประกาศครั้งที่สอง หลังมีการปรับปรุงข้อมูล ตลาดคาดหดตัว -0.1%QoQ เทียบกับ -0.8% QoQ ในไตรมาส 3/2566 แต่ทรงตัวเมื่อเทียบกับการประกาศครั้งแรก

วันอังคาร : ติดตามตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Consumer Price Index – CPI) ของสหรัฐฯสำหรับเดือน ก.พ. ตลาดคาดที่ +3.1% YoY ทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ของสหรัฐฯสำหรับเดือน ก.พ. ตลาดคาดที่ +3.7% YoY ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ +3.9% YoY

วันพุธ : ติดตามตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยุโรป (Industrial Production) สำหรับเดือน ม.ค. ตลาดคาดที่ -3.0% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ +1.2% YoY

วันพฤหัสฯ : ติดตามตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ (Retail sales) สำหรับเดือน ก.พ. ตลาดคาดขยายตัว 0.8% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 0.6%YoY

วันศุกร์ : ติดตามดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ (Empire State Manufacturing Index) สำหรับเดือน มี.ค. ตลาดคาดที่ 5 จุด เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ -2.4 จุด และต่อด้วยติดตามตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้น (Prelim University of Michigan Consumer Sentiment) สำหรับเดือน มี.ค. ตลาดคาดที่ 78 จุด เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 76.9 จุด

- Advertisement -