KS Daily View 13.03.2024 >>> เงินเฟ้อสหรัฐหนืด ไม่ยอมลงต่ำกว่า 3% / แต่ตลาดคาดดอกเบี้ยลด มิ.ย. SET แกว่ง 1370-90 แนะนำ SAPPE, IIG
แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศ:
ประเมินตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบ 1,370 – 1,390 จุด สหรัฐฯรายงานตัวเลขเงินเฟ้อสูงกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อยทั้ง Headline และ Core inflation อย่างไรก็ตามตลาดยังคงมุมมองเฟดลดดอกเบี้ย มิ.ย. นี้ด้วยความน่าจะเป็น 57% ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ และคาดมีอานิสงค์เชิงบวกต่อตลาดหุ้นอื่นๆ รวมถึงตลาดหุ้นไทย แม้ US 10Y bond yield จะปรับขึ้น 5.5bps. เป็น 4.16% และค่าเงิน USD แข็งค่า มองปัจจัยด้านมหภาคจะเข้ามากำหนดทิศทางตลาดตลอดเดือน มี.ค. โดย key highlight จะอยู่ที่การประชุม BOJ และ Fed ในวันที่ 19-20 มีนาคม ซึ่งตลาดคาดว่า BOJ จะมีการปรับเปลี่ยนโยบายการเงินโดยออกจากดอกเบี้ยติดลบที่ -0.1% รวมถึงการมีการผ่อนคลายเกณฑ์ Yield Curve Control มากขึ้น หลังค่าแรงปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปีหนุนเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายของ BOJ มองเงินเยนที่แข็งค่าจะทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีโอกาสปรับฐานต่อ
ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:
1.ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ในเดือนก.พ.2567 เพิ่มขึ้น 0.4% MoM และ 3.2% YoY ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้และสูงกว่าในเดือนม.ค. ที่เพิ่มขึ้น 3.1% YoY โมเมนตัมอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในเชิง MoM มีสาเหตุมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เพิ่มขึ้นในเชิง YoY มีสาเหตุจากราคาพลังงานที่ลดลงในช่วงปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 0.4% MoM และ 3.8% YoY ในเดือน ก.พ.2567 ซึ่งน้อยกว่าที่ 3.9% ในเดือนม.ค. แต่สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 3.7% YoY สาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีโมเมนตัมดีขึ้นมากจากกลุ่มที่อยู่อาศัยและบริการด้านขนส่ง แม้อัตราเงินเฟ้อของภาคบริการโดยเฉพาะในกลุ่มที่อยู่อาศัยยังเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงในเชิง YoY คาดอัตราเงินเฟ้อจะไม่ปรับลดลงอีกเพราะแกว่งตัวอยู่ที่ราว 3% มา 9 เดือนติดต่อกันและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 2 เดือนติดต่อกัน
2.ตลาดยังคงมุมมองว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในช่วงกลางปีนี้ โดยคาดจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน มิ.ย./ก.ย./พ.ย. อย่างละ 25bps. ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายลดลงเป็น 4.50-4.75% สิ้นปี 2567 และลดอีก 100bps. เป็น 3.60% ในปี 2568
3.สำนักข่าว Reuters รายงานว่าญี่ปุ่นปรับเตรียมปรับขึ้นค่าแรงสูงสุดในรอบ 30 ปีหนุน BOJ ออกจากนโยบายดอกเบี้ยติดลบในการประชุมวันที่ 18-19 มี.ค. นี้ โดยสหภาพแรงงานในบริษัทใหญ่ๆ ได้เรียกร้องให้เพิ่มค่าแรงขึ้น5.85% ซึ่งเกินระดับ 5% เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ตามการระบุของกลุ่มสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น Rengo โดยสาเหตุหลักคือ การขาดแคลนแรงงานและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเป็นสองปัจจัยผลักดันเบื้องหลังค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น
4.ยูนิตและมูลค่าโครงการเปิดตัวใหม่ของประเทศไทยในเดือนก.พ.67 ปรับลดลงอีกจากระดับต่ำในเดือนม.ค. ซึ่งบ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่อยู่อาศัยที่ทรงตัวระดับต่ำในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เนื่องจากบ้านเดี่ยวกลุ่มไฮเอนด์คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดของยูนิตใหม่ อัตรายอดขายเดือนก.พ. จึงลดลงมาอยู่ที่ 9.9% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนธ.ค.65
หุ้นแนะนำวันนี้ Top pick:
SAPPE : ราคาพื้นฐาน 101.90 บาท
ในปี 2567 SAPPE ตั้งเป้า 1) เพิ่มยอดขาย 20-25% 2) คง GPM ไว้ที่ 44.8% 3) ฟื้นธุรกิจน้ำมะพร้าว และ 4) เพิ่ม SG&A ต่อรายได้ให้ขยายตัว 100 bps ผู้บริหารคาดว่ายอดขายไตรมาส 1/67 จะทำสถิติสูงสุดใหม่ มุมมองเชิงบวกต่อการประชุมนักวิเคราะห์ เป้า GPM สูงกว่าสมมติฐานของเราที่ 43.9% ซึ่งคิดเป็น upside risk ขณะที่ค่าใช้จ่าย SG&A ที่สูงขึ้นถูกรวมอยู่ในประมาณการแล้วปัจจัยเพิ่มตัวคูณมูลค่าหุ้น ได้แก่1) แนวโน้มไตรมาส 1/2567 ที่แข็งแกร่งขึ้นจากยอดขายที่แข็งแกร่งขึ้นและค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่ลดลง QoQ 2) ราคาเม็ดพลาสติก PET ที่ลดลง (45% ของ CoGS) 3) upside risk ต่อประมาณการของเรา โดยพิจารณาจากเป้า GPM ของ SAPPE และ 4) มูลค่าหุ้นที่ไม่แพง ซื้อขายด้วย PER ปี 2566-68 ที่ 21.4 เท่า/18.1 เท่า/16.6 เท่า
IIG : ราคาพื้นฐาน 13.86 บาท
ผู้บริหารคาดว่า IIG จะฟื้นตัวในปี 2567 โดยตั้งเป้ารายได้ 1.4 พันลบ. หรือเติบโต 48% YoY ปัจจุบัน IIG หยุดการดำเนินโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ IIG ขาดทุนในปี 2566 คาดผลประกอบการฟื้นตัวจากขาดทุน 288 ลบ. ในปี 2566 เป็นกำไร 48 ลบ. และ 104 ลบ. ในปี 2567-68 ราคาหุ้นดูไม่แพงหลังจากที่ลดลง 72% ในปี 2565 และ 22% YTD ซึ่งน่าจะสะท้อนถึงการขาดทุนมหาศาลในปี 2566 จากการคาดการณ์ของเรา ปัจจุบันหุ้นซื้อขายด้วย PER ปี 2567 ที่ 18.2 เท่า และ PER ปี 2568 ที่ 8.5 เท่า
รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ
- วันพุธติดตามตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยุโรป (Industrial Production) สำหรับเดือน ม.ค. ตลาดคาดที่ -3.0% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ +1.2% YoY
- วันพฤหัสบดี ติดตามตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ (Retail sales) สำหรับเดือน ก.พ. ตลาดคาดขยายตัว 0.8% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 0.6% YoY
- วันศุกร์ ติดตามดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ (Empire State Manufacturing Index) สำหรับเดือน มี.ค. ตลาดคาดที่ 5 จุด เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ -2.4 จุด และต่อด้วยติดตามตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้น (Prelim University of Michigan Consumer Sentiment) สำหรับเดือน มี.ค. ตลาดคาดที่ 78 จุด เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 76.9 จุด