หากย้อนกลับไปในอดีตหลายธุรกิจมักยึดติดกับรูปแบบการดำเนินงานแบบดั้งเดิม ด้วยความกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงและการสูญเสียความได้เปรียบที่มีอยู่ อย่างไรก็ตามในโลกยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกำลังเผชิญกับความท้าท้ายจากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินธุรกิจอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และเทคโนโลยีที่เข้ามาพลิกโฉมวงการ (Disruptive Technologies) ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนและความซับซ้อนของภูมิทัศน์ธุรกิจ (VUCA) องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับขีดความสามารถให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
แยก “ธุรกิจดั้งเดิม” พร้อม “สร้างขีดความสามารถใหม่” กุญแจสำคัญแบบฉบับ SCBX
อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX เผยมุมมองและประสบการณ์ในการขับเคลื่อนบริหารจัดการธุรกิจขนาดใหญ่ให้ก้าวทันกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง รวมถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่ออนาคต ในงาน Prachachat Business Forum 2024 ฝ่าพายุความเปลี่ยนแปลง ว่าควรแยกการบริหารออกเป็นสองส่วน โดยที่ส่วนแรก คือ การบริหารธุรกิจดั้งเดิม (Incumbent) ที่ควรปฏิบัติด้วยความรอบคอบ มุ่งเน้นการลงทุนอย่างมีวินัยและลดต้นทุน เพื่อรักษาเสถียรภาพของธุรกิจหลักที่ทำกำไร ให้เป็น “Cash Cow” ที่มั่นคงและแข็งแกร่ง พร้อมปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรให้พนักงานรู้สึกภาคภูมิใจในการขับเคลื่อนธุรกิจหลัก เพื่อให้องค์กรมีภูมิคุ้มกันต่อการแข่งขันและปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
“พยายามอย่าเปลี่ยนแปลงธุรกิจดั้งเดิม แต่ให้ทำธุรกิจนั้นเป็น Cash Cow ที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพสูงสุด” คุณอาทิตย์ กล่าว “จากนั้นจึงนำทรัพยากรจาก Cash Cow ไปพัฒนาธุรกิจใหม่ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาปรับโครงสร้างต้นทุนให้มีความสามารถในการแข่งขัน”
ขณะเดียวกัน จุดที่องค์กรจำเป็นต้องให้ความสำคัญ คือ การสร้างธุรกิจหรือสร้างขีดความสามารถใหม่ ซึ่งไม่ควรนำไปผนวกรวมกับธุรกิจดั้งเดิม แต่ควรถูกกำหนดให้เป็นหน่วยธุรกิจที่แยกออกมาและดำเนินการโดยใช้โมเดลการบริหารแบบ “สตาร์ทอัพ” (Startup) ที่ควรให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่อง “Asset Light” ที่ไม่ต้องลงทุนในสินทรัพย์หนักมากนัก เป็นองค์กรที่มีน้ำหนักเบา และใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการกำหนดโครงสร้างต้นทุนที่แข่งขันได้ถือเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนี้การมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน (Mission) และมีสิ่งที่องค์กรทำเพื่อผู้อื่นและสังคม (Purpose) ยังเป็นสิ่งสำคัญในการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ (Talent) ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง โดยทรัพยากรและเงินลงทุนที่นำไปใช้สำหรับธุรกิจใหม่นั้น ควรมาจากการจัดสรรทรัพยากรบนฐานของ Cash Cow อย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของธุรกิจดั้งเดิม
“เทคโนโลยี” หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน SCBX
SCBX มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้อย่างจริงจังและครอบคลุมทั้งกลุ่ม โดยตั้งเป้าหมายรายได้ 75% จะต้องมาจาก AI ภายใน 3 ปี รวมถึงการสร้าง AI ภาษาไทยชื่อ “Typhoon” ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเวอร์ชั่น 1.0 ที่คาดว่าจะเปิดตัวในช่วงกลางปี 2567 นี้ พร้อมทั้งมีการเตรียมจัดหลักสูตรการเรียนรู้ด้าน AI ให้กับพนักงานในกลุ่ม SCBX กว่า 20,000 คน
การนำ AI มาใช้อย่างแพร่หลายในองค์กร ทั้งในระบบปฏิบัติการหลังบ้าน กลางบ้าน และหน้าบ้าน ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความแตกต่างและความได้เปรียบในการแข่งขัน อย่างไรก็ตามหนึ่งในความท้าทายที่องค์กรธุรกิจทั่วไปต้องเผชิญ คือ การจัดการความกังวลของพนักงานที่คิดว่าอาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีและตกงานในที่สุด ซึ่งคุณอาทิตย์กล่าวว่า การสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ การสาธิตให้เห็นประสิทธิภาพของเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้างสู่การเรียนรู้ และให้โอกาสกับการลองผิดลองถูกนั้นมีความสำคัญ เป็นสิ่งที่องค์กรต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและสร้างกระบวนการที่ดีขึ้น
นอกจาก AI แล้ว SCBX ยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีอื่นมาใช้ อาทิ Blockchain, Cloud, และ Big Data โดยมีการจัดตั้งบริษัท DataX ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลอย่างเป็นระบบ ภายใต้กรอบของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)
“การขับเคลื่อนด้านเทคโนโลยีในภาพรวม ต้องมีการวางแผนและเตรียมการอย่างรอบคอบในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลและระบบไอที บุคลากรผู้เชี่ยวชาญ การสร้างนวัตกรรม รวมถึงการปรับวัฒนธรรมองค์กรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา” คุณอาทิตย์ กล่าวทิ้งท้าย