KS Daily View 23.04.2024 >>> มอง SET ลุ้นฟื้นตัว ตาม sentiment บวกจากต่างประเทศ คาด SET ซื้อขายในกรอบ 1,340-1,355 จุด แนะนำ OSP, SCGD

แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศ: ประเมินดัชนีมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อหนุนจาก sentiment บวกจากตลาดต่างประเทศ หลังตลาดดูลดความกังวลบนสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและอิสราเอล อย่างไรก็ดี SET index ได้ปรับฟื้นตัวขึ้นมาแล้วระดับหนึ่งวานนี้ เชื่อการฟื้นตัวต่อวันนี้อาจเป็นไปอย่างจำกัด คาด SETindex วันนี้ซื้อขายในกรอบ 1,340-1,355 จุด โดยตลาดอาจรอพิจารณาผลการประชุมครม.วันนี้ในประเด็นเรื่องโครงการเติมดิจิทัลวอลเล็ต โดยเฉพาะในส่วนของการใช้เงินจากธ.ก.ส. หรือการดำเนินโครงการผ่านวิธีทางงบประมาณตามมาตรา 28 รวมถึงตัวเลข GDP และเงินเฟ้อ Core PCE ของสหรัฐฯ ที่มีกำหนดจะรายงานในช่วงปลายสัปดาห์นี้ แนะนำทยอยลงทุนเชิงสะสมเมื่อมีการอ่อนตัวในกลุ่มที่มีปัจจัยบวกเฉพาะหรือกระแสข่าวเชิงบวกช่วยสนับสนุนเชื่อจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะตลาดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงได้เช่น theme ส่งออก OSP SAPPE, themeราคาหมู-ไก่ขึ้น CPF GFPT, theme นักท่องเที่ยวฟื้น AAV AWC

ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:

  1. ติดตามการประชุมครม.วันนี้ โดยเฉพาะในประเด็นโครงการเติมดิจิทัลวอลเล็ต หลังวานนี้สหภาพแรงงาน ธ.ก.ส. เข้าพบนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุมีความกังวลการดำเนินโครงการผ่าน ธ.ก.ส. ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมที่จะส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความพิจารณา เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย รวมถึงเตรียมส่งเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันนี้
  1. เงินบาทปรับอ่อนค่าต่อเนื่องแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือน ทะลุระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ โดยอ่อนค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค ท่ามกลางการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์หลังตลาดปรับมุมมองว่า Fed อาจยังไม่ลดดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ ค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าลงเป็นบวกกับหุ้นกลุ่มส่งออกเช่นกลุ่ม FOOD และกลุ่มELECTRONICS
  1. สหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรชลบุรีได้ประกาศกับสมาชิกในการปรับราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มขึ้นอีก 4 บาทต่อกิโลกรัมจากเดิมที่ 76 บาทต่อกก. มาอยู่ที่ 80 บาทต่อกก. ในวันที่ 23 เม.ย.2567 ขณะที่ราคาหมูเฉลี่ยในประเทศมีการปรับตัวขึ้น 16% ในสองสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 65 บาทต่อกก. มองเป็น sentiment บวกกับ BTG CPF TFG
  1. คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) คาดการณ์ว่าสงครามราคาในอุตสาหกรรม EV และ ปลั๊กอินไฮบริด มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นในปี 2024 จากภาวะรถยนต์ล้นตลาดและตุ้นทุนของราคาแบตเตอรี่ที่ปรับตัวลดลง 5%-10% ในปีนี้ โดยบีวายดีได้ปรับลดราคารถ 5 รุ่นลง 7.15%-9.7% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบกับราคาในช่วงต้นปี ขณะเดียวกัน หลี่ ออโต้ และเทสลา (Tesla) ก็มีการปรับราคาลดลงตามเช่นกัน การปรับลดลงของราคารถ EV และ ปลั๊กอินไฮบริด อาจส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อรถใหม่ สร้างผลกระทบเชิงลบต่อยอดขาย ยอดผลิต ของอุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวม ข่าวเป็นลบกับหุ้นกลุ่มAUTO และ ELECTRONICS

Daily pick

OSP: ราคาพื้นฐานที่ 26.2 บาท 

บริษัทอัพเดทข้อมูลการดำเนินการในที่ประชุมนักวิเคราะห์วานนี้ จากข้อมูลทำให้เราคาดว่าบริษัทจะสามารถรายงานผลประกอบการ Q1/24 แข็งแกร่งโดยเติบโตแรงถึง +30.9% QoQ และ +48.9% YoY แตะระดับ 749 ลบ. ซึ่งจะคิดเป็นถึง 31% ของประมาณการกำไรทั้งปีนี้ของเรา ทั้งนี้เรามองตัวเลข earningspreview Q1/24 ดูแข็งแกร่งกว่าที่ตลาดประเมินไว้ก่อนหน้านี้มาก ด้าน valuation ราคาหุ้นปรับตัวลง 8.97% YTD เทียบกับSETที่ลดลง 5.92% ทำให้ OSP ซื้อขายด้วย PER ปี 2024 ที่ 20x ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตถึง -2SD

SCGD: ราคาพื้นฐาน 10.0 บาท 

SCGD ประกาศกําไร 1Q24 ที่ 257 ลบ. โต 28% YoY และ 43% QoQ สูงกว่าประมาณการของเรา 14% จากค่าใช้จ่ายในการบริหารที่ตํ่ากว่าคาด โดยการเติบโต YoY มาจากค่าใช้จ่ายในการบริหารที่ลดลงจากการคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น ขณะที่การเติบโต QoQ มาจากอัตรากําไรที่ดีขึ้นจากราคาแก๊สธรรมชาติที่ลดลง

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

วันอังคาร: ติดตามยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค. โดยตลาดคาดที่ 670,000 ยูนิต จากเดือนก่อนหน้าที่ 662,000 ยูนิต

วันพุธ: ติดตามดัชนี Business Climate ของเยอรมันในเดือนเม.ย. จากสถาบัน Ifo โดยตลาดคาดว่าจะออกมาที่ 88.8 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่ 87.8 จุด พร้อมทั้งติดตามตัวเลขยอดขายสินค้าคงทนของสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค. โดยตลาดคาดว่าจะออกมาขยายตัวที่ 2.5% MoM จากเดือนก่อนหน้าที่ 1.4% MoM

วันพฤหัสฯ: ติดตามการรายงานตัวเลข GDP ของสหรัฐฯ ในไตรมาส 1 โดยตลาดคาดว่าจะออกมาที่ 2.5% QoQ ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 3.4% QoQ

วันศุกร์: ติดตามตัวเลขส่งออกไทยประจำเดือนมี.ค. โดยตลาดคาดหดตัวที่ 5.9% YoY จากเดือนก่อนหน้าที่ 3.6% YoY พร้อมทั้งติดตามผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น โดยตลาดคาดว่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบเดิมที่ 0 – 0.1% ต่อด้วยการรายงานดัชนี Core PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค. ซึ่งตลาดคาดว่าจะออกมาขยายตัวที่ 2.6% YoY จากเดือนก่อนหน้าที่ 2.8% YoY ซึ่งมองเป็นผลมาจากค่าเช่าที่ยังสูงและอาจส่งผลให้ตลาดคาดว่าเงินเฟ้อจะทรงตัวเหนือระดับเป้าหมายของเฟด

- Advertisement -