SUPEREIF จ่ายปันผลครั้งที่ 18 ในอัตรา 0.22007 บาทต่อหน่วย วันที่ 7 มิถุนายน 2567 นี้
นายพรชลิต พลอยกระจ่าง กรรมการผู้จัดการ Head of Real Estate & Infrastructure Investment บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ BBLAM เปิดเผยว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี (SUPEREIF) จะจ่ายเงินปันผลครั้งที่ 18 จากผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 หรือระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ในอัตราหน่วยลงทุนละ 0.22007 บาท โดยกำหนดวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยลงทุน เพื่อกำหนดสิทธิรับเงินปันผล ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนในวันที่ 7 มิถุนายน 2567
เมื่อนับรวมตั้งแต่จัดตั้งกองทุน จนถึงการประกาศจ่ายเงินครั้งล่าสุด SUPEREIF จ่ายเงินปันผลรวม 18 ครั้ง คิดเป็นเงิน 3.32072 บาทต่อหน่วย และจ่ายเงินลดทุนไป 4 ครั้ง คิดเป็นเงิน 0.501 บาทต่อหน่วย รวมเป็นเงินปันผลและเงินลดทุนที่จ่ายออกไปทั้งสิ้น 3.82172 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ ในการพิจารณาจ่ายเงินปันผล กองทุนฯ ต้องกันสำรองเงินไว้บางส่วนจากรายได้จากการลงทุนสุทธิ เพื่อให้มีสภาพคล่องคงเหลือเพียงพอสำหรับการจ่ายชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยที่กำลังจะถึงกำหนดชำระ ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการดำเนินงานตามปกติของกองทุนในอนาคตอันใกล้ก่อนที่จะได้รับรายได้สุทธิอีกครั้ง
สรุปผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 2567 พบว่ามีรายได้รวมเท่ากับ 215.0 ล้านบาท ลดลง 4.4% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 5.6% จากไตรมาสก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้จากเงินลงทุนในสัญญาโอนสิทธิรายได้สุทธิลดลง 4.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็น 213.9 ล้านบาท แต่เพิ่มขึ้น 13.3% จากไตรมาสก่อน
ในไตรมาสนี้ รายได้ของโครงการ เท่ากับ 272.3 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการขายไฟฟ้าก่อนหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เท่ากับ 273.0 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รายได้จากการขายไฟฟ้าในไตรมาสนี้ลดลง 2.9% จากจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ขายได้ลดลง 2.9% จากผลกระทบของความชำรุดเสียหายของแผงพลังงานแสงอาทิตย์ประเภท Thin Film บางส่วน และค่าเฉลี่ยของผลรวมของรังสีแสงอาทิตย์ที่ได้รับบนแผงโซล่าเซลล์ที่ลดลง รวมถึงระยะเวลาการหยุดผลิตไฟฟ้าจากทั้งปัจจัยภายใน (ความเสียหายของอุปกรณ์ต่างๆ ในโครงการ) และปัจจัยภายนอก (การสั่งปรับลดกำลังการผลิตไฟฟ้า หรือให้หยุดผลิตไฟฟ้าจาก กฟภ. เช่น การซ่อมบำรุงสายส่งที่ขาดบริเวณนอกโครงการ) ที่สูงกว่าในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน รายได้จากการขายไฟฟ้าในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น 11.1% จากจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ขายได้เพิ่มขึ้น 2.9% อันเป็นผลจากลักษณะของฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป และอัตรารับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 8.0% อันเนื่องมาจากโครงการโรงไฟฟ้าหลายโครงการเริ่มมีจำนวนหน่วยไฟฟ้าสะสมที่ขายได้เกิน Capacity Factor ในช่วงเดือนพฤศจิกายน และเดือนธันวาคม ซึ่งอัตรารับซื้อไฟฟ้าสำหรับจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่เกิน Capacity Factor จะตํ่ากว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าสำหรับจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ไม่เกิน Capacity Factor ทั้งนี้ รายได้จากการขายไฟฟ้าในไตรมาสนี้ มาจากการผลิตไฟฟ้าขายได้ 45.1 ล้านหน่วย
กองทุนรวม SUPEREIF ลงทุนในสิทธิในรายได้สุทธิจากการดำเนินโครงการกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินขนาดเล็กมากของบริษัท 17 อัญญวีร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ บริษัท เฮลท์ แพลนเน็ท เมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 19 โครงการ ตั้งอยู่ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี สระบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ปราจีนบุรี สระแก้ว พิจิตร และเพชรบูรณ์ โดยมีปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุดที่เสนอขายตามที่ระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง (แล้วแต่กรณี) รวม 118 เมกะวัตต์
ขณะที่ ระยะเวลาโอนสิทธิรายได้สุทธิ เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2562 จนถึงวันสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแต่ละโครงการ ซึ่งระยะเวลาซื้อขายไฟฟ้าภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 21-22 ปี นับจากวันที่ 14 สิงหาคม 2562 โดยวันสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าโครงการสุดท้ายจะสิ้นสุดในวันที่ 26 ธันวาคม 2584
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต