บมจ.เคมีแมน (CMAN) โชว์ผลงานไตรมาส 1/67 มีรายได้รวม 1,044 ล้านบาท กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น 173 ล้านบาท ผลจากปริมาณส่งออกโต ต้นทุนลด บริษัทลูกใน ตปท. ทำกำไร และเงินบาทอ่อนตัว ฟากประธาน “ม.ล. จันทรจุฑา จันทรทัต” แย้มไตรมาส 2/67 แนวโน้มตลาดเติบโตดี เชื่อมั่นว่าธุรกิจจะเป็นไปในทิศทางบวกอย่างต่อเนื่อง
หม่อมหลวงจันทรจุฑา จันทรทัต ประธานกรรมการ บริษัท เคมีแมน จำกัด (มหาชน) (CMAN) ผู้ผลิตปูนไลม์ระดับ Top 10 ของโลก ภายใต้แบรนด์ ‘CHEMEMAN’ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2567 บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการ จำนวน 1,044ล้านบาท ลดลง 2% แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท จำนวน 173 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
“ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ บริษัทมีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณขายในประเทศลดลงจากความต้องการปูนไลม์ของผู้ผลิตน้ำตาลที่ปรับตัวลงเนื่องจากปริมาณหีบอ้อยลดลงจากปัญหาภัยแล้งในปีก่อน แต่จากการที่บริษัทมีเครือข่ายธุรกิจแข็งแรงทำให้ส่งออกเพิ่มขึ้นได้ โดยปริมาณส่งออกที่เพิ่มขึ้นนี้สามารถชดเชยกับปริมาณขายประเทศที่ลดลงได้ ขณะเดียวกันบริษัทมีต้นทุนขายลดลงเนื่องจากค่าพลังงานและต้นทุนการผลิตต่ำลง ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนลงทำให้การรับรู้รายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตรากำไรขึ้นต้นในไตรมาส 1/2567 เท่ากับ 38% เพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน” ม.ล. จันทรจุฑา กล่าว
บริษัทมีต้นทุนทางการเงินลดลง 14% เนื่องจากภาระหนี้สินลดลงจากการชำระคืนเงินกู้ระยะยาวตามกำหนดอย่างต่อเนื่อง และการแปลงเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมาเป็นเงินบาทซึ่งปัจจุบันมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า นอกจากนี้ บริษัทย่อยในต่างประเทศทั้ง 2 แห่ง มีผลประกอบการที่ดีตามเป้าหมาย โดยเฉพาะที่เวียดนามสามารถกลับมาทำกำไรได้ เนื่องจากการส่งมอบออเดอร์เดิมที่ถูกเลื่อนมาจากไตรมาสก่อน และมีออเดอร์ใหม่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าสัญญาระยะกลาง ด้วยปัจจัยบวกดังกล่าวส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น จำนวน 173 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และหากพิจารณาเฉพาะผลการดำเนินงานที่แท้จริงโดยไม่รวมรายการสำคัญที่ไม่ใช่เงินสด บริษัทมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นที่ปรับปรุงแล้ว เท่ากับ 147 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 105% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
สำหรับแนวโน้มไตรมาส 2/2567 บริษัทมีแผนหยุดเตาเผาปูนไลม์จำนวน 2 เตา ตามแผนซ่อมบำรุงประจำปี ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตลดลง ขณะที่ด้านการขายยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยตลาดในประเทศยังเติบโตตามเศรษฐกิจ และตลาดต่างประเทศที่เป็นเป้าหมายยังเติบโตสูง สำหรับบริษัทย่อยในเวียดนามและออสเตรเลียมีออเดอร์ส่วนใหญ่จากสัญญาระยะกลาง และระยะยาวรองรับไว้แล้ว
ขณะที่บริษัทร่วมทุน 2 แห่งในอินเดียยังเดินหน้าผลิตอย่างสม่ำเสมอ และมีแนวโน้มผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตปูนไลม์ที่ร่วมมือกับ Khimsar Mine Corporation (KMC) เจ้าของเหมืองหินปูนรายใหญ่ในเมืองคิมซ่า รัฐราชสถาน จะเริ่มก่อสร้างโรงงานแห่งแรก มีกำลังการผลิตปูนไลม์ 100,000 ตัน ภายในไตรมาส 3 ปี 2567 และคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2568
“ผลประกอบการที่แข็งแกร่งในไตรมาสนี้สะท้อนให้เห็นถึงจุดแข็งระยะยาวในโมเดลธุรกิจของบริษัท และผลสำเร็จของความพยายามปรับปรุงส่วนสำคัญที่อยู่ใน Business Value Chain ของบริษัทตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา กล่าวคือ สามารถส่งออกได้มากขึ้น ควบคุมต้นทุนพลังงานและต้นทุนการผลิตได้ดี การลดต้นทุนทางการเงินและภาษี ทั้งนี้ หากบริษัทสามารถดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ได้ เชื่อมั่นว่าธุรกิจจะเป็นไปในทิศทางบวกอย่างต่อเนื่อง” ม.ล.จันทรจุฑา กล่าวเพิ่มเติม