KS Daily View 20.05.2024 >>> SET อาจเผชิญแรงกดดัน จากรายงาน GDP ไทยอ่อนแอ คาด SET ซื้อขายในกรอบ 1,375-1,390 จุด แนะนำ PTTGC, CPF

Theme การลงทุนในสัปดาห์นี้:

ประเมินตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวขึ้นต่อในสัปดาห์นี้โดยคาดดัชนี SET index จะซื้อขายในกรอบ 1,375-1,400 จุด มองภาพใหญ่ยังคงเป็นประเด็นเรื่องตลาดปรับคาดการณ์กลับมาเชื่อ Fed จะลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้ราว 2 ครั้ง หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนล่าสุดออกมาชะลอตัวลง ส่งผลให้ bond yield ปรับตัวลดลงและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯพลิกอ่อนค่า ซึ่งเป็นบวกต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยง อีกทั้งทางด้านจีนประกาศออกพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเพื่อระดมเงินใช้สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคอสังหาฯ ทั้งการลดเงินดาวน์และการเข้าซื้อบ้านค้างสต็อกที่ยังขายไม่ออก อย่างไรก็ดี สัปดาห์นี้มีประเด็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามคือการกำหนดอัตราดอกเบี้ย Loan Prime Rate ของ PBOC และการแถลงตัวเลข GDP ไทยสำหรับไตรมาสที่ 1 / 2567 ในวันจันทร์ซึ่งมีแนวโน้มออกมาขยายตัวในระดับต่ำและการเปิดเผยบันทึกการประชุม FOMC ของ Fed ในวันพฤหัสฯ พอร์ตการลงทุนรายสัปดาห์แนะนำ DOHOME SCGP PTTGC CPF BGRIM

แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศวันนี้:

ประเมินดัชนีวันนี้อาจได้รับแรงกดดันจากรายงานตัวเลข GDP ไทยสำหรับไตรมาส 1/2567 ที่จะประกาศออกมาในช่วงเช้าซึ่งคาดว่าจะออกมาอ่อนแอ ทั้งนี้เรามองหลังจบช่วงฤดูกาลการประกาศผลประกอบการ ประเด็นหลักที่ตลาดหันกลับมาสนใจจะเป็นในภาพใหญ่โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ รวมถึงนโยบายการเงินและการคลังทั้งในและต่างประเทศ

ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:

  1. สภาพัฒน์ฯ มีกำหนดรายงานตัวเลข GDP ไทยสำหรับไตรมาส 1/2567 ในช่วงเช้าวันนี้ โดยตลาดคาดว่าจะออกมาอ่อนแอต่ำกว่าศักยภาพและชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแออาจกดดัน sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นไทยในวันนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศ
  1. ประธานาธิบดีอิหร่าน Raisi ประสบอุบัติเหตุทางเฮลิคอปเตอร์ระหว่างการเดินทางกลับจากงานพิธีเปิดเขื่อนที่ชายแดนอิหร่าน-อาเซอร์ไบจาน ทั้งนี้ Raisi มีความสำคัญเนื่องจากสื่อต่างประเทศมองว่าเป็นบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดต่อจาก Khamenei
  1. อิซาเบล ชนาเบล สมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยว่า ECB อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.นี้แต่ยังมุมมองระมัดระวังต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากความผันผวนของเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน
  1. ตลท. ประกาศเตรียมใช้มาตรการ Circuit breaker หรือ Dynamic price bank (DPB) ในช่วงไตรมาส 2/2567 ซึ่งจะดูแลให้ราคาหุ้นรายตัวผันผวนได้ไม่เกิน +/-10% จากราคาซื้อขายล่าสุด หากราคาเคลื่อนไหวเกินกรอบที่กำหนดจะหยุดการซื้อขายจากนั้นค่อยเข้าสู่ช่วง pre-open เป็นเวลา 2 นาที เพื่อให้นักลงทุนได้เวลาจัดการคำสั่งซื้อขาย และมาตรการ Auto halt คาดว่าจะนำมาใช้ในช่วงไตรมาส 4/2567 โดยเงื่อนไขการใช้มาตรการดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อจำนวนรวมของหุ้นในฝั่งซื้อหรือฝั่งขาย ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง มากกว่า 15% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียน ระบบจะหยุดการซื้อเฉพาะหุ้นนั้นเป็นเวลา 60 นาที และจะไม่ยกเลิกคำสั่งซื้อขาย ผู้ลงทุนสามารถแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งซื้อขายแต่ไม่สามารถส่งคำสั่งซื้อขายใหม่ได้ โดยจะไม่มีการ Auto Halt มากกว่า 1 ครั้ง/วัน
  1. ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคำร้อง 40 สว. ที่ยื่นให้ศาลวินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ของนายพิชิต ชื่นบาน หลังมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) โดยจะมีการบรรจุเข้าวาระการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค.นี้
  1. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการะทรวงการคลัง เผยสัปดาห์นี้ทางคณะอนุกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต จะมีการนัดหารือธนาคารพาณิชย์ และ สถานบันการเงินของรัฐ เกี่ยวกับระบบควบคุมแบบเปิด (Open Loop Control System) ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

Daily pick

PTTGC: ราคาพื้นฐานที่ 42.5 บาท

นอกจากบริษัทจะรายงานกำไรสำหรับไตรมาส 1/67 ออกมาดีกว่าที่เราและตลาดคาดแล้ว แนวโน้มกำไรไตรมาส 2/67 ของบริษัทคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นอีกจากการรับรู้กำไรพิเศษจากการซื้อคืนหุ้นกู้และการขายเงินลงทุนใน PTTGC digital รวมมูลค่าประมาณ 3 พันลบ. ทำให้ภาพคาดการณ์ผลประกอบการทั้งปี 2567 ที่แม้มองเติบโตแรงราว 540% จะมีอัพไซท์ขึ้นไปอีกจากรายการพิเศษดังกล่าว นอกจากนี้มอง PTTGC เป็นหุ้นที่เข้ากับกระแส China play ที่คาดว่าจะได้ sentiment บวกจากมาตรการกระตุ้นและภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

CPF: ราคาพื้นฐาน 25.0 บาท

บริษัทรายงานผลประกอบการสำหรับไตรมาส 1/67 พลิกกำไรหลังขาดทุนในไตรมาสก่อนหน้าและกำไรที่ออกมาถือว่าดีกว่าที่เราคาด อีกทั้งหากมองไปข้างหน้าในช่วงไตรมาส 2/67 เราคาดกำไรจะปรับดีขึ้นต่อจากราคาสินค้าเกษตรในประเทศที่เพิ่มขึ้นและผลประโยชน์จากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลง เรามอง CPF จะได้ sentiment บวกต่อเนื่องจากกระแสการปรับตัวเลขคาดการณ์กำไรของบริษัทในตลาดหลังงบออกมาพลิกกำไรได้อย่างแข็งแกร่ง

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

วันจันทร์ ติดตาม Loan prime rate ของธนาคารกลางจีนเดือน พ.ค. ระยะเวลา 1 ปีคาดการณ์ไว้ที่ 3.45% ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า และ Loan prime rate อายุ 5 ปีคาดการณ์ไว้ที่ 3.95% ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ต่อด้วยติดตามรายงานตัวเลขอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของไทย (Thailand GDP Growth) ใน 1Q24 โดยตลาดคาดการณ์ไว้ที่ +0.70% YoY เที่ยบกับเดือนก่อนหน้าที่ +1.7% YoY

วันอังคาร ติดตาม การให้สัมภาษณ์ของทางประธาน ECB Christine Lagarde ต่อด้วยแถลงการณ์ของรมว. คลัง สหรัฐฯ Janet Yellen

วันพุธ ติดตาม รายงานบันทึกการประชุม FOMC ของ Fed ต่อด้วยตัวเลขยอดขายบ้านมือสอง (Existing home sale) เดือนเม.ย. โดยตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 4.16 ล้านหลังปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 4.19 ล้านหลัง และรายงานตัวเลขส่งออก (Export) ของญี่ปุ่น สำหรับเดือนเม.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ +11.0% YoY เที่ยบกับเดือนก่อนหน้าที่ +7.3% YoY

วันพฤหัสฯ ติดตาม รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐ (S&P Global US Manufacturing PMI Flash) เดือน พ.ค. โดยตลาดคาดการณ์ที่ 50.20 จุดเทียบกับเดือนก่อนหน้ารายงานที่  50.0 จุด ต่อด้วยจำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.22 แสนตำแหน่งและ ตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ (New home sale) เดือน เม.ย. โดดตลาดคาดที่ 6.80 แสนหลังปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 6.93 แสนหลัง

วันศุกร์ ติดตาม คำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ (Durable goods orders) เดือน เม.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ -0.60% MoM ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ +2.60% MoM  ต่อด้วยตัวเลขยอดขายรถใหม่ของประเทศไทย (New car sales) เดือน เม.ย. ปิดท้ายด้วยตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่น (Japan Inflation) โดยตลาดคาดการณ์ที่ 2.40% YoY เดือนก่อนหน้ารายงานที่ 2.70% YoY

- Advertisement -