บล.พาย:

TCAP: Thanachart Capital PCL

เม็ดเงินงบประมาณเร่งการเติบโตปี 2024

เราคงคำแนะนำ “ถือ” เพื่อรับเงินปันผลที่คาดว่า TCAP ให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงที่ 6.8%-7.4% ในปี 2024-25 และประเมินมูลค่าพื้นฐานที่ 51.00 บาท เรามีมุมมองเป็นกลางหลังการประชุมนักวิเคราะห์ และคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2024/25 จะเติบโตชะลอ ตัวที่ 6.2%/7.8% ในปี 2024 TCAP มองว่ายังคงเน้นการเติบโตอย่างระมัดระวัง ดูแลคุณภาพสินเชื่อ เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า โดยบริษัทมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจจะได้แรงหนุนจากเม็ดเงินการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2024-25 ด้านผลการดำเนินงานใน 1Q24 TCAP มีผลกำไรสุทธิแข็งแกร่งที่ 1.76 พันล้านบาท (+11.6% YoY, +22.8% QoQ) NPL ratio ปรับเพิ่มเป็น 4.4% ไม่ใช่เพราะหนี้เสียเพิ่ม แต่เพราะฐานสินเชื่อลดลง และ Coverage ratio ลดลงที่ 98.7%

การประชุมนักวิเคราะห์

  • TCAP ยังคงกังวลต่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า เน้นดูแลคุณภาพ สินเชื่อของบริษัทในเครือมากกว่าการเร่งเติบโต  และมีมุมมองบวกต่อการเบิกจ่ายงบประมาณการประจำปี 2024-25 ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจดีขึ้น นอกจากนี้ TCAP มีสภาพคล่องส่วนเกินที่จะลงทุนเพิ่มในบริษัทจดทะเบียนที่มีพื้นฐานดี ซึ่งอาจรวมถึงการลงทุนเพิ่มใน บมจ. ราชธานีลิสชิง (THANI) ที่ปัจจุบันถือหุ้นอยู่ 60.88% แต่จะไม่มีแผนในการซื้อหุ้นคืน TTB เพิ่ม เพราะเต็มเพดาน การลงทุนแล้วและการบริหารสภาพคล่องยังเน้นการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ
  • TCAP คงเป้าหมายการขยายสินเชื่อ SME ของ T Plus เพิ่มขึ้น 2 พันล้านบาท เป็นราว 8 พันล้านบาท สิ้นปี 2024 (1 Q24: 6.3 พันล้านบาท) โดยคาดสินเชื่อจะเร่งตัวขึ้นใน 2H24 จากการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐ และคงเป้ายอดรับประกันภัยรวมของ Thanachart Insurance เพิ่มขึ้น 12.5 พันล้านบาท แม้ว่ายอดรับประกันภัยยังต่ำกว่าเป้าทำได้เพียง 2.85 พันล้านบาท ใน 1Q24
  • กรณีของ THANI อาจปรับลดเป้าหมายการขยายสินเชื่อใหม่ปี 2024 ต่ำกว่า 4.1 พ้นล้านบาท หลังจากสินเชื่อใน 1Q24 หดตัวการที่เศรษฐกิจยังชะลอตัวทำให้ THANI เน้นกลยุทธ์ตั้งรับ ดูแล คุณภาพสินเชื่อเป็นหลัก เพื่อลดผลกระทบจากการขาดทุนการขายรถยึดและตั้งสำรองหนี้ฯ อย่างไรก็ดี การขยายสินเชื่อของ THANI อาจฟื้นตัวได้จากนโยบายของรัฐใน 2H24 โดยเฉพาะกระตุ้นกลุ่ม รับเหมาก่อสร้าง และนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต

คาดการเติบโตของกำไรจะชะลอตัวในปี 2024-25

  • เราคาดกำไรสุทธิปี 2024-25 จะเติบโตชะลอตัวลงที่ 6.8%/7.8% ใน ปี 2024-25 (2023: +26.5%) หนุนจาก (1) ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมสูงขึ้น โดยเฉพาะจาก TTB และ MBK (2) รายได้รับประกันภัยรวมเพิ่มขึ้น และ (3) สำรองหนี้ฯ ลดลง จาก THANI
  • TCAP มีสภาพคล่องสูง คาดว่า Payout ratio ของ TCAP สูงที่ 50% และคาดว่าจะเงินปันผลที่ 3.34/3.60 บาท/หุ้นในปี 2024-25

แนะนำ “ถือ” มูลค่าพื้นฐาน 51.00 บาท

มูลค่าพื้นฐานที่ 51.00 บาท คำนวณด้วยวิธี GGM (ROE 10%, TG2%) อิง 0.7x PBV’24E (-0.5SD ของค่าเฉลี่ย 10 ปี) เทียบเท่า 7.6x PE’24E

สรุปผลการดำเนินงานใน 1Q24

  • กำไรสุทธิงวด 1Q24 ออกมาที่ 1.76 พันล้านบาท (+11.6% YoY, +22.8% QoQ) สูงกว่าที่คาด 10% เนื่องจากสำรองหนี้ฯ ต่ำกว่าคาด แม้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับลดลง กำไรสุทธิปรับสูงขึ้น YoY และ QoQ เนื่องจาก (1) รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสูงขึ้น โดยเฉพาะจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมสูงขึ้น (2) ผลกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) เพิ่มขึ้น และ (3) สำรองหนี้ฯ ปรับลดลง
  • NIM ลดลงทั้ง YoY และ QoQ ที่ราว 3.5% เพราะอัตราผลตอบแทนสินเชื่อลดลงเป็นหลัก ขณะที่ต้นทุนการเงินทรงตัว QoQ ด้าน Cost to income ratio (CIR) ลดลง QoQ ที่ 27.6% เพราะรายได้จากการดำเนินงานสูงขึ้น และค่าใช้จ่ายการดำเนินงานทรงตัว
  • สินเชื่อปรับลดลงต่อเนื่อง 3% QoQ (-1.5%YoY) จากการหดตัวของสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อ SME
  • คุณภาพสินเชื่อทรงตัวหนี้เสียลดลงเล็กน้อย แต่เพราะฐานสินเชื่อลดลง ทำให้ NPL ratio ปรับเพิ่มเล็กน้อยเป็น 4.4% ขณะที่ Stage 2 ratio เพิ่มเป็น 10.4% และ Coverage ratio ลดลงที่ 98.7%
- Advertisement -