BBGI ได้สิทธิส่งเสริมการลงทุนจาก BOI โครงการก่อสร้างโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง (CDMO) โดยบริษัทร่วมทุน BBFB ได้รับสิทธิประโยชน์ในระดับ A1+ ยกเว้นภาษีCapital Gains Tax 10 ปี ซึ่งเป็นระดับที่ได้รับการสนับสนุนสูงที่สุดของกิจการเทคโนโลยีชีวภาพ ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างตามแผน คาดเฟสแรกแล้วเสร็จสิ้นปีนี้
นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI ผู้นำในอุตสาหกรรมพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง (HVP) เปิดเผยว่า บริษัทได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในโครงการก่อสร้างโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงเชิงพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CDMO) ภายใต้บริษัทร่วมทุน บริษัท บีบีจีไอ เฟิร์มบ็อกซ์ ไบโอ จำกัด (BBFB) ซึ่ง BBGI ได้จัดตั้งร่วมกับบริษัท Fermbox Bio ผู้นำด้านการวิจัยและผลิตผลิตภัณฑ์ชีววิทยาสังเคราะห์ด้วยกระบวนการหมักแม่นยำขั้นสูงจากประเทศอินเดีย โดยบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 75 ใน BBFB
โดย บริษัท บีบีจีไอ เฟิร์มบ็อกซ์ ไบโอ จำกัด (BBFB) ได้รับการสนับสนุนและสิทธิประโยชน์จาก BOI ในการรับการส่งเสริมประเภท 1.6 กิจการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ได้รับสิทธิประโยชน์ในระดับ A1+ ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี 10 ปี โดยไม่กำหนดวงเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะได้รับการยกเว้น และนับเป็นการได้รับสิทธิสูงสุดของกิจการเทคโนโลยีชีวภาพ ที่ BOI กำหนด
อย่างไรก็ดี BOI ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของความยั่งยืนที่ BBGI มุ่งเน้นในการวิจัย และพัฒนา โดยมีเป้าหมายยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศไปสู่อุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรมหรือ Industry 4.0
ผ่านเทคโนโลยีชีวภาพ อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรภายในประเทศต่อไป
โดยโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพ (CDMO) ใช้เทคโนโลยีการหมักแบบแม่นยำ ด้วยถังผลิตผลิตภัณฑ์ขนาดใหญ่ โดยระยะแรกจะผลิตเอนไซม์ และขยายการผลิตไปยังผลิตภัณฑ์ด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (Synbio) อื่นๆ ที่ล้ำสมัยที่สุด สำหรับโครงการระยะที่ 1 ด้วยกำลังการผลิตในการหมักรวมประมาณ 200,000 ลิตร เพื่อใช้ในการผลิตเอนไซม์ที่สามารถนำไปใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยมีกำลังการผลิต 2,000 ตันต่อปี โดยเอนไซม์ที่ผลิตในระยะนี้
จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมพลังงานเป็นหลัก
ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้ และพร้อมดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 และในระยะที่ 2 และ 3 จะขยายกำลังการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยี Synbio อื่น ๆ ต่อไป เพื่อส่งออกไปจำหน่ายภายในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายเพิ่มขนาดถังผลิตไปถึงระดับ 1 ล้านลิตร ผลิตด้วยอุปกรณ์ขั้นสูงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ประมาณมูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 3,000 ล้านบาท
อีกทั้ง โครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดฉะเชิงเทรา และอยู่ในกลุ่มกิจการเป้าหมายที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศในทุกภาคส่วน มุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ