จากมติบอร์ด “เซนต์เมด” เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 นั้น บอร์ดอนุมัติให้บริษัทฯ เข้าเสนอโครงการจัดตั้งศูนย์ฉายแสงรักษามะเร็งด้วยเครื่อง CT/Linac ที่รวมเครื่องทำ CT และเครื่องฉายแสงรักษามะเร็งด้วย Linac อยู่ในเครื่องเดียวกัน โดยร่วมลงทุนกับรพ.รัฐ รูปแบบ PPP หรือ Revenue Sharing มูลค่าการลงทุน 600 ล้านบาท โดยหากได้รับคัดเลือก เงินลงทุนทั้ง 3 โครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารต่างๆ จำนวนหนึ่ง และเงินทุนของบริษัทฯ อีกส่วนหนึ่ง และจะเริ่มกระบวนการสร้างใช้เวลาประมาณ 6 -7 เดือน ติดตั้งและ Run ระบบ 2-3 เดือน คาดเริ่มรับรู้รายได้ปลายปี 2568 และรับรู้รายได้เต็มในปี 2569
ดร.วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD เปิดเผยที่มาของโครงการจัดตั้งศูนย์ฉายแสงรักษามะเร็งด้วยเครื่อง CT/Linac ว่า “จากงานวิจัยพบว่า ในอนาคต คน 5 คน จะตรวจพบเป็นมะเร็ง 1 คน ด้วยเทคโนโลยีในอนาคตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้การตรวจพบมะเร็งเร็วขึ้น หากตรวจพบระยะ 1-2 และทำการฉายแสงด้วย CT/Linac 95% จะมีโอกาสหาย”
ดร.วิโรจน์ กล่าวถึงการจัดตั้งบริษัทลูก “บริษัท เอสเอ็มดีเอกซ์ จำกัด” หรือ SMDX โดย SMD ถือหุ้น 100% โดยเฟสแรก แยกกลุ่มการช่วยหายใจและเวชศาสตร์การนอนหลับ (Respiration) จาก SMD มาอยู่ใน SMDX (Sleep, Sex, Stress) และปีหน้าจะเริ่มเฟสสอง คือ ทำเกี่ยวกับ Syndrome Slim Skin โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ดำเนินการในรูปแบบ Medical Services, Revenue Sharing, Selling นอกจากนี้ยังได้จัดตั้ง บริษัท เอสเอ็มดีไอ จำกัด หรือ SMDI (Imaging, AI) เพื่อนำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับด้านรังสีวิทยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์อื่น ๆ ที่ใกล้เคียง (Selling/Rental/Leasing) โดยราคาเครื่องเริ่มประมาณ 20 ล้านบาท ถึง 800 ล้านบาท แต่คาดว่าปีนี้รับรู้รายได้ไม่เกิน 200 ล้านบาท และประมาณการ Backlog ของ SMDI ในปีหน้าอาจถึง 700-800 ล้านบาท”
ดร.วิโรจน์ กล่าวปิดท้ายถึงการปรับกลยุทธ์ธุรกิจครั้งใหญ่ว่า ”ธุรกิจของ SMD ก่อนมีโควิดและขณะโควิดระบาดหนัก เป็นบริษัทจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซื้อมาจำหน่ายไป โดยนำเข้าจากต่างประเทศมาทั้งหมด มีความเชี่ยวชาญวงการอีอาร์ ไอซียู หัวใจ หายใจ ห้องผ่าตัด นอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ มียอดขาย 2,000 ล้านบาท กำไร 300 ล้าน/ปี การแข่งขันในธุรกิจเทรดดิ้งค่อนข้างสูง การเติบโตอย่างยั่งยืนทำได้ยาก ทางบริษัทจึงปรับนโยบายเป็นมุ่งเน้นหารายได้จากธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบให้เช่าเครื่องมือแพทย์ (Rental) เช่าซื้อเครื่องมือแพทย์ (Hire Purchase) และ/หรือ เก็บส่วนแบ่งรายได้จากคู่ค้าแทนการขายขาด (Revenue Sharing) โดยร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์สามารถเข้าถึงเครื่องมือทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงขึ้น อีกทั้งยังมุ่งเน้นสรรหา Partner ทางธุรกิจ และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจโดยการขยายธุรกิจเครื่องมือแพทย์เฉพาะทางด้าน (Wellness) และธุรกิจใหม่ เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านรังสีวิทยาและผลิตภัณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้อง”