บล.พาย

TTB: TMBThanachart PCL

เงินปันผลสูง และผลกระทบจาก EA จำกัด

เราคงคำแนะนำ “ซื้อ”แต่ปรับลดมูลค่าพื้นฐานเหลือ 1.95 บาท เนื่องจากได้ปรับสำรองหนี้ฯ เพิ่มสะท้อนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเปาะบางและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับลดชั้นสินเชื่อของ EA ลงในอนาคต เราชอบที่ TTB มึงบดุลแข็งแกร่ง เพราะสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อได้ดี และเตรียมพร้อมกับความไม่แน่นอนด้วยการตั้งสำรองหนี้ฯ สูง แต่เพราะ TTB มีผลประโยชน์ทางภาษีคงเหลือ 12.7 พันล้านบาท สิ้น 2Q24 เราคาดว่ากำไรสุทธิปี 2024 จะเติบโต 10.3% YoY และมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูง 7.2% ในปี 2024 นอกจากนี้สำหรับใน 2Q24 กำไรสุทธิอยู่ที่ 5.4 พันล้านบาท (+17.3% YoY, +0.4% QoQ) คุณภาพสินเชื่อทรงตัว โดยมี NPL ratio ที่ 2.6% และ Coverage ratio สูงที่ 151.6%

การประชุมนักวิเคราะห์

  • การเติบโตยังเน้นควบคุมคุณภาพสินเชื่อเป็นหลัก และขยายสินเชื่อที่อยู่ใน Ecosystem เช่น Cash your Car (CYC) และ Cash your Home (CYH) อย่างไรก็ดี สินเชื่อ SME และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ปรับลดลง ทำให้สินเชื่อรวมลดลง 2.4% YTD ใน 1H24 และมีแนวโน้มที่สินเชื่อจะพลาดเป้าหมายทรงตัว YoY ในปี 2024
  • ต้นทุนการเงินทรงตัวมากขึ้นใน 2H24 แต่รายได้ค่าธรรมเนียมยังท้าทายจากการคุมเข้มการเติบโตสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อ
  • ธนาคารปล่อยสินเชื่อประเภท Project finance ให้บริษัทที่เกี่ยวข้อง กับ บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ราว 450 ล้านนาท และยังไม่ได้มีการตั้งสำรองหนี้ฯ เพราะลูกหนี้ยังชำระหนี้เป็นปกติ กรณีเลวร้ายที่สุดหากต้องปรับลดชั้นเป็นหนี้เสีย TTB มีสำรองหนี้ฯ ส่วนเกินเพียงพอจะไม่ส่งผลอย่างมีนัยต่อผลการดำเนินงานในอนาคต ทั้งนี้ธนาคารได้กันสำรองหนี้ฯ พิเศษรวม 1.7 พันล้านบาทใน 1H24
  • TTB มีแผนการบริหารเงินกองทุนที่มีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการเงินไปพร้อมกัน ธนาคารมีแผนจะไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิเพิ่มใน 2H หลังจากได้ไถ่ถอนไปบางส่วนใน 2Q ทั้งนี้ จากนโยบายการเติบโต ที่ระมัดระวังทำให้มีระดับเงินกองทุนส่วนเกิน ธนาคารอาจพิจารณาเพิ่มอัตราการจ่ายเงินปันผลสูงขึ้นจาก 55% ในปี 2023

ปรับลดคาดการณกำไรลงสะท้อนภาระสำรองหนี้สูงขึ้น

  • แม้การคุมเข้มเติบโตสินเชื่อช่วยในการควบคุมคุณภาพสินเชื่อได้ แต่จะกดดันให้รายได้ดอกเบี้ย และรายได้ค่าธรรมเนียมลดลง โดยเราคาดว่าในปี 2024 สินเชื่อจะลดลง 4.3% และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 8% เทียบกับเป้าหมายของ TTB ที่คาดจะเติบโตได้ในปี 2024
  • ด้วยปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่เปาะบาง และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกรณีของ EA เราปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิลงราว 3-4% ในปี 2024-26 ด้วยการปรับสมมติฐานสำรองหนี้ฯ เพิ่มขึ้น 5-6% โดยคาดว่ากำไรสุทธิเติบโต 10.3%/5.2%/5.7% YoY ในปี 2024-26 และคาดว่าอัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงที่ 7.2-8.0% ในปี 2024-26

คงคำแนะนำ “ซื้อ” แต่ปรับลดมูลค่าพื้นฐานเหลือ 1.95 บาท

แนะนำ “ซื้อ”แต่ปรับลดมูลค่าพื้นฐานเหลือ 1.95 บาท (เดิม 1.98 บาท) สะท้อนการปรับลดคาดการณ์ความสามารถการทำกำไรลดลง มูลค่าพื้นฐานที่ 1.95 บาท คำนวณด้วยวิธี GGM (ROE 8.8%, TG 2%) อิงจาก 0.8x PBV’24E หรือ -0.5SD ต่อค่าเฉลี่ย 10 ปี

สรุปผลการดำเนินงานใน 2Q24

  • กำไรสุทธิออกมาตามคาดที่ 5.4 พันล้านบาท (+17.3% YoY, +0.4% QoQ) กำไรสุทธิขยายตัว YoY เนื่องจากแม้ว่ารายได้จากการดำเนินงานลดลง แต่เพราะมีผลประโยชน์ทางภาษี โดย TTB บันทึกผลประโยชน์ทางภาษี 474 ล้านบาท เทียบกับที่มีภาษีจ่ายราว 1.1 พันลบ. ใน 2Q23 แต่หากเทียบกับใน 1Q24 กำไรสุทธิทรงตัว QoQ เนื่องจากแม้มีรายได้จากการดำเนินงานที่ลดลง แต่การควบคุม ค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพลดทอนผลกระทบที่เกิดขึ้น
  • กำไรสุทธิใน 1H24 อยู่ที่ 10.7 พันลบ. (+20.6% YoY) เนื่องจากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานลดลง และได้รับผลประโยชน์ทางภาษี
  • สินเชื่อลดลง 1.4% QoQ (-4.9% YoY) จากการลดลงของสินเชื่อ SME และสินเชื่อบริษัทขนาดใหญ่ ส่งผลให้สินเชื่อใน 1H24 ลดลง 2.4% YTD
  • NIM ทรงตัว QoQ ที่ 3.3% (+8 bps YoY) โดย Cost to income ratio (CIR) ลดลงทั้ง YoY และ QoQ ที่ 41.5% เพราะค่าใช้จ่ายการดำเนินงานลดลง
  • คุณภาพสินเชื่อทรงตัว โดย NPL ratio ทรงตัวที่ 2.6% และอัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้ฯ ต่อหนี้เสีย (Coverage ratio) อยู่ที่ 151.6%
- Advertisement -