บล.พาย:
AOT: Airport of Thailand PCL.
FY3Q24 กำไรสุทธิ 4,563 ล้านบาท
เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” แต่ปรับมูลค่าเหมาะสมอีกครั้งเหลือ 64 บาท (40XPER’25E) โดยรวมผลกระทบจากการขอคืนพื้นที่และการยกเลิก Duty Free ขาเข้าของ King Power ทำให้มีกำไรสุทธิปี 25 อยู่ที่ 22,780 ล้านบาท (+17%YoY) โดยการเติบโตด้งกล่าวได้รับผลดีจากจำนวนผู้โดยสารที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาถึงระดับ 139 ล้านคน จากระดับ 120 ล้านคนในปี 24 ขณะที่ผลประกอบการงวด FY3Q24 มีกำไรสุทธิ 4,563 ล้านบาท (+45%YoY) เพิ่มตามจำนวนผู้โดยสารที่มี 28.9 ล้านคน (+16%YoY) ส่วนลดลง 21%QoQ เป็นไปตามฤดูกาล สำหรับแนวโน้ม FY4Q24 เราคาดว่ารายได้จะไม่ดีนักเมื่อเทียบกับ FY3Q24 เพราะจะมีผลกระทบจากการขอคืนพื้นที่แล้ว (บางส่วนเริ่ม 1 ก.ค.)
FY 3Q24 มีกำไรสุทธิ 4,563 ล้านบาท (+45%YoY,-21%QoQ)
- AOT มีกำไรสุทธิ FY3Q24 4,563 ล้านบาท (+45%YoY,-21%QoQ) ถ้าไม่รวมรายการพิเศษที่เป็นยอดค่าใช้จ่ายสุทธิ 52 ล้านบาท จะมีกำไรปกติที่ระดับ 4,614 ล้านบาทใกล้เคียงกับที่เราคาดไว้ โดยเป็นไปตามจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 16%YoY และลดลง 11%QoQ มาอยู่ที่ 28.9 ล้านคน
- รายได้ที่ 16,405 ล้านบาท (+26%YoY, -10%QoQ) แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจการบิน 7,831 ล้านบาท (+29%YoY, -6%QoQ) รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบินอยู่ที่ 8,574 ล้านบาท (+24%YoY, -13%QoQ)
- ต้นทุนหลักรวมอยู่ที่ 9,252 ล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่ +24%YoY เพิ่มขึ้นในส่วนของค่าใช้จ่ายพนักงาน (+27%YoY) ค่าซ่อมและบำรุงรักษา (+38%YoY) และค่าเสื่อมราคา (+32%YoY) เพิ่มขึ้นหลังเปิดโครงการ SAT-1 รวมแล้ว AOT มีกำไรจากการดำเนินงาน 7,153 ล้านบาท (+30%YoY, -20%QoQ)
- รวมแล้ว FY9M24 AOT มีกำไรสุทธิ 14,898 ล้านบาท (+175%YoY)
ผู้โดยสารปีนี้ไม่ต่ำกว่า 120 ล้านคน ปีหน้าคาด 140 ล้านคน
จำนวนผู้โดยสารในปี 24 ของ AOT คาดว่าจะไม่ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 120 ล้านคน หลังจากในช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ (ต.ค.23-ก.ค.24) มีจำนวนกว่า 100.4 ล้านคน ขณะที่ปี 25 ทางผู้บริหารคาดว่าจะกลับไปใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดที่ระดับ 140 ล้านคน โดยมีแรงหนุนจากผู้โดยสารระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตเร็วกว่าเส้นทางในประเทศ
แผนพัฒนาสนามบินใหม่เร็วที่สุด คือโครงการ East Expansion คาดว่าจะเริ่มประมูลได้ภายในปีนี้ ตามมาด้วยสนามบินเชียงใหม่เฟส 1 และดอนเมืองเฟส 3 เริ่มประมูลช่วง 2Q25 ส่วนการโอนสนามบินยังอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตสนามบินสาธารณะ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงปลายปีนี้ Runway 3 จะเริ่มทดลองใช้ในวันที่ 15 ก.ย. ก่อนจะเปิดอย่างเป็นทางการ 1 พ.ย. ซึ่งจะรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น อีก 20-30 เที่ยวบิน/ชม.จากปัจจุบันที่มี 64 เที่ยวบิน/ชม.
การขอเก็บ PSC สำหรับผู้โดยสาร Transit Transfer คาดได้ผลการศึกษาเดือน พ.ย. นี้ ส่วนผู้โดยสารขาออกคาดได้ข้อสรุปกลางปี 25
ยังคงแนะนำ “ซื้อ” เพราะเป็นผู้ได้รับผลดีจากการท่องเที่ยว
เรายังคงแนะนำ “ซื้อ” โดยประเมินมูลค่าพื้นฐานได้ใหม่ที่ 64 บาท (40XPER’24E) มีปัจจัยบวกที่ AOT จะได้รับผลดีจากการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเรามีการปรับประมาณการปี 25 ลงจากเดิม 5% มาอยู่ที่ 22,780 ล้านบาท (+17%YoY) โดยรวมผลกระทบจากการยกเลิก Duty Free ขาเข้า เพิ่มเติมจากที่เคยนับเฉพาะการขอคืนพื้นที่ Duty Free ที่เคยประเมินไว้ในบทวิเคราะห์ฉบับวันที่ 2 ก.ค. อย่างไรก็ตามเราปรับจำนวนผู้โดยสารขึ้นเป็น 139 ล้านคนจากเดิม ที่ใช้สมมติฐาน 135 ล้านคน
รายได้ 16,405 ล้านบาท (+26%YoY,-10%QoQ)
- รายได้ดังกล่าวสามารถแบ่งเป็น
- รายได้จากธุรกิจการบิน (Aero) อยู่ที่ 7,831 ล้านบาท (+29%YoY,-6%QoQ) ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากค่าบริการผู้โดยสารขาออก 6,242 ล้านบาท (+34%YoY,-7%QนQ) ซึ่งไตรมาสนี้มีการเปลี่ยนการรับรู้รายได้ค่าบริการอย่างเช่น เครื่องเช็คอินอัตโนมัติ หรือการโหลดกระเป๋าด้วยตัวเองเป็นต้น ที่เดิมรับรู้ผ่านรายได้ค่าบริการมาเป็นรายได้ค่าบริการผู้โดยสารขาออก (ทำให้ค่าบริการผู้โดยสารขาออกเพิ่มเป็น 130 บาท/คน เส้นทางในประเทศ และ 730 บาท/คน สำหรับเส้นทางระหว่างประเทศ) รายได้ส่วนอื่นได้แก่รายได้ค่าบริการสนามบิน 1,395 ล้านบาท (+13%YoY,-6%QoQ) และรายได้จากค่าเครื่องอำนวยความสะดวก (+21%YoY.-0.2%QoQ) มาอยู่ที่ 194 ล้านบาท
- ด้านรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบิน (Non-Aero) อยู่ที่ 8,574 ล้านบาท (+24%YoY,-13%QoQ) ส่วนใหญ่เป็นรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์จำนวน 5,797 ล้านบาท (+39%YoY, -9%QoQ) ขณะที่รายได้ค่าบริการลดลง 0.7%YoY, 25%QoQ เหลือ 2,215 ล้านบาท เป็นผลกระทบจากการปรับรูปแบบการรับรู้รายได้ตามที่กล่าวไปข้างต้น ส่วนรายได้ค่าเช่าสำนักงาน 512 ล้านบาท (+12%YoY,+3%QoQ)