บล.พาย:

FINANCE: แนวโน้มกำไรใน 2H24 เติบโตต่อเนื่อง (NEUTRAL)

TOP PICK MTC, SAWAD

กำไรสุทธิรวมใน 2Q24 ของกลุ่มไมโครไฟแนนซ์อยู่ที่ 5.6 พันลบ. (+10.8% YoY, +1.2% QoQ) และกำไรใน 1H24 เติบโต 10% YOY แต่เพราะคุณภาพสินเชื่อที่อ่อนแอลง เป็นปัจจัยกดดันราคาหุ้นของทั้ง 4 บริษัทปรับลดลง 2%-37% YTD ทั้งนี้ จากมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นใน 2H24 จะกระตุ้นการขยายสินเชื่อใหม่ และการที่อัตราดอกเบี้ยมีโอกาสปรับลดลงช่วยคลายกังวลต่อต้นทุนการเงิน ทำให้ NIM มีเสถียรภาพมากขึ้น เราคาดว่ากำไรรวมใน 2H24 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 8%YoY และ 4% HoH และจะส่งผลให้กำไรรวมในปี 2024 ขยายตัวดีขึ้นที่ 8.8% (2023: +3.5%) และเติบโตต่อเนื่อง 10.6% ในปี 2025 และเรามองว่ากำไรของบริษัททั้ง 4 แห่งจะเติบโตในปี 2024-25 ด้านการลงทุน คงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” เลือก MTC SAWAD เป็น TOP PICK

กำไรสุทธิรวมใน 2Q24 เติบโต 10.8% YoY และ 1.2% QoQ

  • กลุ่มไมโครไฟแนนซ์ 4 แห่ง (KTC, MTC, SAWAD, TIDLOR) มีกำไรสุทธิรวมที่ 5.6 พันล้านบาท (+10.8% YoY, +1.2% QoQ) หนุนจาก (1) รายได้ดอกเบี้ยสุทธิล้อกับการขยายสินเชื่อ (2) ส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) และ (3) รายได้ค่าธรรมเนียมจากค่าคอมมิชชั่นการเป็นนายหน้าขายประกัน ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อย QoQ จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิขยายตัว และค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ลดลง
  • KTC MTC และ SAWAD รายงานกำไรเติบโตทั้ง YoY และ QoQ ขณะที่ TIDLOR มีกำไรเติบโต YoY แต่ลดลงเล็กน้อย QoQ โดย MTC โดดเด่นเหนือคู่แข่งจากที่มีอัตราเติบโตกำไรสูง และคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้น สินเชื่อรวมขยายตัวสูงขึ้น ขณะที่คุณภาพสินเชื่อยังคงเปราะบาง
  • สินเชื่อรวมขยายตัวสูงขึ้น 2.3% QoQ ใน 2Q24 เทียบกับที่โตเพียง 0.2% ใน 1Q บริษัททั้ง 4 แห่งมีสินเชื่อขยายตัว โดย MTC ขยายตัวโดดเด่นที่สุด 4.8% QoQ ส่งผลให้สินเชื่อรวมใน 1H24 ขยายตัว 2.6% YTD
  • หนี้เสียรวมปรับสูงขึ้น 4.4% QoQ ใน 2Q24 (1Q24: +0.4% QoQ) ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจาก TIDLOR และ SAWAD มีเพียง MTC ที่หนี้เสียลดลง ด้าน NPL ratio เฉลี่ยของกลุ่มฯ เพิ่มเล็กน้อยที่ 2.6% จาก 2.5% ใน 1Q โดย MTC มี NPL ratio ลดลงเหลือ 2.9% ส่วน KTC ทรงตัวที่ 2% ขณะที่ NPL ratio ของ SAWAD และ TIDLOR สูงขึ้น

คาดกำไรใน 2H24 เติบโตต่อเนื่อง YoY และ HoH หนุนให้กำไรในปี 2024 ฟื้นตัว 8.8% ในปี 2024

  • แม้เผชิญต่อคุณภาพสินเชื่ออ่อนแอลง แต่กำไรรวมใน 1H24 เพิ่มขึ้น 10% YoY ที่ 11.2 พันลบ. เพราะผลบวกจากการขยายสินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียมเติบโต ทั้งนี้ เรามองว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจใน 2H24 จะทำให้ความต้องการสินเชื่อใหม่ขยายตัว ขณะที่ NIM มีแนวโน้มทรงตัวมากขึ้น เราคาดว่ากำไรรวมใน 2H24 จะปรับตัวสูงขึ้นทั้ง 8% YoY และ 4% HoH ที่ราว 11.7 พันลบ.
  • เราคาดว่ากำไรสุทธิรวมปี 2024 จะเพิ่มขึ้น 8.8% YoY เป็น 22.8 พันล้านบาทเนื่องจาก (1) รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้นล้อกับการขยายสินเชื่อ (2) รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากค่าคอมมิชชันในธุรกิจนายหน้าธุรกิจประกันจาก TIDLOR และหนี้สูญรับคืนจาก KTC (3) Credit cost ลดลง โดยบริษัททั้ง 4 แห่งจะรายงานกำไรเติบโตในปี 2024 และคาดกำไรสุทธิของ MTC จะกลับมาเติบโตและขยายตัวโดดเด่นที่ 17.4% ในปี 2024 เทียบกับ KTC (+3.4%) SAWAD (+5.5%) TIDLOR (+12.2%)

คงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” เลือก MTC SAWAD เป็นหุ้นเด่น

  • เราคงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” เพราะแม้มีมุมมองบวกต่อการเติบโตกำไรของกลุ่มไมโครไฟแนนซ์จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2024-26 และอัตราดอกเบี้ยมีโอกาสปรับลดลงใน 2H24-2025 แต่เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเปราะบางกดดันคุณภาพสินเชื่ออ่อนแอลง และความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้ขาดความเชื่อมั่นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจชัดเจน ราคาหุ้นของบริษัททั้ง 4 แห่ง ปรับลดลงราว 2%-37% YTD แม้กำไรจะเติบโตดีขึ้นก็ตาม ด้าน Valuation กลุ่มฯ ซื้อขายที่เฉลี่ย 12.6x PE’24E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี (2019-23) ที่ 20.7x
  • เราชอบ MTC (“ซื้อ” มูลค่าพื้นฐาน 48.00 บาท) เพราะกำไรสุทธิฟื้นตัวโดดเด่นในปี 2024 และควบคุมคุณภาพสินเชื่อได้ดีที่สุด ด้าน SAWAD (“ซื้อ” มูลค่าพื้นฐาน 37.00 บาท) แนะนำ “ซื้อ” เพราะมองว่าราคาหุ้นปรับลดลงค่อนข้างมาก และคาดกำไรใน 2H24 จะเติบโตทั้ง YoY และ HoH

กำไรสุทธิรวมใน 2Q24 เติบโต 10.8% YoY และ 1.2% QoQ

  • กำไรสุทธิรวมของ 4 บริษัทออกมาที่ 5.6 พันล้านบาท (+10.8%YoY, +1.2%QoQ) ใน 2Q24 การเติบโต YoY หนุนจากทั้งการขยายตัวของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิล้อกับการขยายสินเชื่อ และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เช่น ค่าคอมมิชชั่นการเป็นนายหน้าขายประกันจาก TIDLOR และหนี้สูญรับคืนจาก KTC ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อย QoQ เพราะแม้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิขยายตัว แต่รายได้ค่าธรรมเนียมลดลง และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) สูงขึ้นล้อกับหนี้เสีย
  • แม้ ECL จะปรับสูงขึ้น กำไรรวมใน 1H24 อยู่ที่ 11.2 พันลบ. เพิ่มขึ้น 10% YoY หนุนจากการขยายตัวของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย

MTC โดดเด่นทั้งการเติบโตของกำไร และควบคุมคุณภาพสินเชื่อใน 2Q24

  • KTC มีกำไรสุทธิสูงที่สุดในกลุ่ม 4 บริษัทที่ 1.83 พันลบ. (+1.1% YoY, +1.3% QoQ) แม้สำรองหนี้ฯ เพิ่มขึ้น กำไรสุทธิเติบโตเล็กน้อย YoY และ QoQ จาก (1) ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ขยายตัว และ (2) รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสูงขึ้นจากหนี้สูญได้รับคืนและรายได้อื่นๆ
  • MTC มีกำไรสุทธิที่ 1.44 พันลบ. (+29.8% YoY, +2.8% QoQ) โดดเด่นด้านการเติบโต กำไรสุทธิเติบโต YoY และ QoQ หนุนจาก (1) รายได้ดอกเบี้ยสุทธิขยายตัวล้อกับการขยายสินเชื่อ (2) สำรองหนี้ฯ ลดลง และ (3) Cost to income ratio ลดลงจากการควบคุมค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ
  • SAWAD มีกำไรสุทธิที่ 1.27 พันลบ. (+10.4% YoY, +0.3% QoQ) กำไรสุทธิเติบโต YoY เนื่องจาก (1) รายได้ดอกเบี้ยสุทธิขยายตัวล้อกับการขยายสินเชื่อ และ NIM เพิ่มขึ้น และ (2) สำรองหนี้ฯ ลดลง ขณะที่กำไรเพิ่มขึ้นเล็กน้อย QoQ เพราะแม้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายการดำเนินงานลดลง แต่การเติบโตถูกลดทอนด้วยสำรองหนี้ฯ ที่เพิ่มขึ้น และรายได้ค่าธรรมเนียมลดลง
  • TIDLOR มีกำไรสุทธิที่ 1.1 พันลบ. (+17.7% YoY, -1.1% QoQ) กำไรสุทธิเติบโต YoY เนื่องจาก (1) รายได้ดอกเบี้ยสุทธิขยายตัวล้อกับสินเชื่อ และ NIM สูงขึ้น และ (2) รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากธุรกิจนายหน้าประกันภัย แต่กำไรลดลงเล็กน้อย QoQ เนื่องจากสำรองหนี้สูงขึ้น และรายได้ค่าธรรมเนียมลดลง

สินเชื่อใน 2Q24 ขยายตัวดีขึ้น และ NIM มีเสถียรภาพมากขึ้น

  • สินเชื่อรวมขยายตัว 2.3% QoQ ใน 2Q24 จากที่เติบโตเพียง 0.2% ใน 1Q ส่วนหนึ่งเพราะการชำระคืนสินเชื่อลดลง โดยเฉพาะกรณี KTC โดย MTC (+4.8% QoQ) มีสินเชื่อขยายตัวสูงสุดใน 2Q24 KTC (+0.4% QoQ) TIDLOR (+2.9% QoQ) แต่กรณีของ SAWAD สินเชื่อทรงตัว QoQ เพราะการลดลงในสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์
  • สินเชื่อใน 1H24 ขยายตัว 2.6% YTD โดย MTC โดดเด่นที่สุดที่สินเชื่อโต 7.9% SAWAD (+1.5% YTD) และ TIDLOR (+5.6% YTD) มีเพียง KTC ที่สินเชื่อหดตัว 5.8% YTD จากปัจจัยฤดูกาลที่สินเชื่อหดตัวสูงใน 1Q จากการชำระคืนเงินกู้
  • MTC เปิดสาขาใหม่เพิ่มมากที่สุด 192 แห่ง ใน 2Q24 เป็น 7,980 แห่ง ด้าน SAWAD และ TIDLOR เปิดสาขาใหม่น้อยกว่ามาก ส่วน KTC ที่จะโตสินเชื่อผ่านพี่เบิ้มรถแลกเงิน เปิดสาขาใหม่เพื่อสร้างการรับรู้ แต่เป็นจำนวนที่น้อยมากเทียบกับคู่แข่ง โดย TIDLOR ที่ใช้เทคโนโลยีช่วย และมีบัตรเงินกู้ชนิดหมุนเวียน หรือ “บัตรติดล้อ ติดตัวไว้ ใช้ฉุกเฉิน” เป็นจุดเด่นทำให้มีสินเชื่อต่อสาขาสูงสุดราว 60 ล้านบาท/แห่ง ที่น่าสนใจทั้ง MTC SAWAD มีแนวโน้มการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในบริหาร ลดต้นทุนการดำเนินงาน และช่วยด้านติดตามหนี้เพื่อควบคุมหนี้เสียในอนาคต ซึ่งเรามองว่าการเปิดสาขาใหม่ยังจำเป็น แต่แนวโน้มการเปิดสาขาใหม่จะลดลง
  • ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของ KTC SAWAD TIDLOR มีเสถียรภาพมากขึ้นใน 2Q24 หลังจากที่อัตราผลตอบแทนสินเชื่อเพิ่มขึ้นลดทอนผลกระทบจากต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น ยกเว้นเพียง MTC ที่ NIM ปรับลดลงต่อเนื่อง โดย KTC มี NIM สูงสุดที่ 19.3% เนื่องจากสินเชื่อส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกันที่มีผลตอบแทนสูง เทียบกับ MTC SAWAD TIDLOR ที่พอร์ตสินเชื่อหลักเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน นอกจากนี้ KTC ควบคุมต้นทุนการเงินได้ดีเทียบกับคู่แข่ง

คุณภาพสินเชื่อยังเปาะบางกดดันการฟื้นตัวของกำไร

  • ในภาพรวมคุณภาพสินเชื่อของกลุ่มไมโครไฟแนนส์อ่อนแอลง เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวเปาะบาง และหนี้ครัวเรือนสูง บริษัทระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่ และเพิ่ม Loan to value เพื่อลดความเสี่ยงหนี้เสีย และการขาดทุนรถยึดที่กระทบต่อภาระสำรองหนี้ฯ สูงทำให้ยังเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของกำไร
  • หนี้เสียรวมปรับสูงขึ้น 4.4% QoQ ใน 2Q24 (1Q24: +0.4% QoQ) ที่ 11.8 พันลบ. ส่วนใหญ่จาก TIDLOR และ SAWAD มีเพียง MTC ที่หนี้เสียลดลง ทำให้ NPL ratio ของ MTC ลดลงที่ 2.9% (1Q24: 3%) ส่วน NPL ratio ของ KTC ทรงตัวที่ 2% ด้าน SAWAD เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 3.3% และ TIDLOR เพิ่มมากที่สุดเป็น 1.9% (1Q24: 1.6%) แต่ยังเป็นระดับต่ำที่สุดในกลุ่มฯ Underperforming loans รวมเพิ่มขึ้น 3.8% QoQ (1Q24: +0.4% QoQ) โดย KTC ลดลง 7.3% QoQ เทียบกับ MTC (+0.2%QoQ) SAWAD (+16.4% QoQ) และ TIDLOR (+8% QoQ)
  • การบริหารคุณภาพสินเชื่อที่ดีกว่าคู่แข่ง KTC มีระดับสำรองหนี้ฯ ต่อหนี้เสีย (Coverage ratio) สูงขึ้นเป็น 363.3% ด้าน MTC เพิ่มเป็น 125% และ SAWAD เพิ่มเป็น 66% แต่ TIDLOR มี Coverage ratio ลดลงที่ 227.3%
  • บริษัททั้ง 4 แห่งมีฐานะการเงินแข็งแกร่งสามารถขายหุ้นกู้ใหม่ได้ตามแผน ทำให้สภาพคล่องเพียงพอรับการขยายธุรกิจ และไม่มีปัญหาในการชำระคืนหุ้นกู้ โดย KTC มีหนี้สินที่ต่อเงินทุนต้ำสุดราว 2 เท่า เทียบกับ SAWAD TIDLOR ที่ 2.4-2.5 เท่า และ MTC ที่ 3.7 เท่า

อัตราดอกเบี้ยมีโอกาสปรับลดลงใน 2H24

  • แรงกดดันต่อต้นทุนการเงินลดลง และคาดอัตราดอกเบี้ยมีโอกาสปรับลดลงในช่วงปลายปี 2024 เราคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.50% ในการประชุมวันที่ 21 ส.ค.นี้ หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่าอัตราดอกเบี้ยระดับปัจจุบันสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปี 2024 ขยายตัว 2.6% YoY และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับควบคุมได้ดีขึ้นต่ำกว่า 1% ในเดือน มิ.ย.-ก.ค.
  • ความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวหลังจากอัตราการว่างงานสหรัฐฯ ในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้นกว่าคาดเป็น 4.3% และแนวโน้มเงินเฟ้อที่ชะลอตัว แม้จะยังสูงกว่าเป้าหมายระยะยาวที่ 2% ทำให้มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางของสหรัฐจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. และคาดว่าจะปรับลด 50-75 bps ในปี 2024 อย่างไรก็ดี เราคาดว่า กนง. อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0-1 ครั้ง ที่ 2.25-2.50% สิ้นปี 2024 เนื่องจาก (1) เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเปาะบาง (2) อัตราเงินเฟ้อควบคุมได้ และ (3) ภาคเอกชนผ่อนคลายจากต้นทุนการเงินลดลง และ (4) ค่าเงินบาทอยู่ระดับเหมาะสมเทียบกับคู่ค้าหนุนภาคส่งออกและการท่องเที่ยวไทย หลังจากธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่อาจจะเร่งการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ เช่น นโยบาย digital wallet และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจเป็นปัจจัยทำให้ กนง. ชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นต้นปี 2025 ก็ได้
  • แม้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับลดลงได้ใน 2H24 บริษัทในกลุ่มไมโครไฟแนนซ์ จะยังไม่ได้รับผลประโยชน์ในทันที เพราะผลจาก Lagging effect จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ที่มีต้นทุนการเงินสูงขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่าส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของบริษัทจะมีเสถีรยภาพมากขึ้นใน 2H24 และส่งผลเชิงบวกต่อ Sentiment การลงทุนในราคาหุ้นกลุ่ม Microfinance
  • เรามองว่า NIM ของ KTC MTC TIDLOR จะปรับลดลงในปี 2024 ซึ่งจะมีเพียง TIDLOR ที่ NIM ปรับสูงขึ้น เพราะการปรับเพิ่ม อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นมาช่วยชดเชยต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น และต้นทุนการเงินที่ควบคุมได้มีประสิทธิภาพ

ความสามารถการทำกำไรปรับดีขึ้นในปี 2024

คาดกำไรสุทธิรวมในปี 2024 เติบโตดีขึ้น 8.8% YoY ภายใต้ความกังวลต่อคุณภาพสินเชื่อยังอ่อนแอ

  • เราคาดว่ากำไรสุทธิรวมปี 2024 จะเพิ่มขึ้น 8.8% YoY เป็น 22.8 พันล้านบาท เนื่องจาก (1) รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้นล้อกับการขยายสินเชื่อ (2) รายได้ที่มใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากค่าคอมมิชชั่น ในธุรกิจนายหน้าธุรกิจประกันจาก TIDLOR และหนี้สูญรับคืนจาก KTC (3) Credit cost ลดลงเฉลี่ยที่ 348 bps เทียบกับ 379 bps ในปี 2023 โดยสำรองหนี้ฯ รวมเพิ่มขึ้นชะลอตัวที่ 8% YoY ในปี 2024 จากที่สูงถึง 65.5%ในปี 2023
  • เราคาดว่าบริษัททั้ง 4 แห่งจะรายงานกำไรเติบโตในปี 2024 โดยคาด กำไรสุทธิของ MTC จะกลับมาเติบโตและขยายตัวโดดเด่นที่ 17.4% ในปี 2024 เทียบกับ KTC (+3.4%) SAWAD (+5.5%) TIDLOR (+12.2%)
  • เรามองว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจใน 2H24 และปัจจัยฤดูกาลที่ปกติจะเร่งตัวขึ้นในช่วง 4Q จะทำให้ความต้องการสินเชื่อใหม่ขยายตัว ขณะที่ NIM มีแนวโน้มทรงตัวมากขึ้น เราคาดว่ากำไรรวมใน 2H24 จะปรับตัวสูงขึ้นทั้ง 8% YoY และ 4% HoH ที่ราว 11.7 พันลบ. โดยคาดว่า KTC MTC SAWAD จะรายงานกำไรเติบโต YoY และ HoH ใน 2H24 ขณะที่คาดกำไรของ TIDLOR จะเพิ่มขึ้น YoY แต่ลดลง HoH
  • เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเปาะบางและไม่ทั่วถึง กอปรกับหนี้ครัวเรือนทรงตัวระดับสูงเป็นแรงกดดันต่อการขยายสินเชื่อใหม่ โดยคาดสินเชื่อรวมจะเติบโตชะลอลงที่ 12% ในปี 2024 จากเพิ่มขึ้น 24.3% ในปี 2023 เพราะบริษัทเข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อใหม่โดยมองว่า MTC จะขยายสินเชื่อในปี 2024 สูงสุด 18.7% เติบโตใกล้เคียงปี 2023 ขณะที่สินเชื่อของ KTC (+5.1%) SAWAD (+11.1%) TIDLOR (+11.1%) จะเติบโตชะลอตัวในปี 2024
  • คุณภาพสินเชื่ออ่อนแอลงต่อเนื่อง แม้หนี้เสียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่ 17% ในปี 2024 ลดลงจากที่เพิ่มขึ้นสูง 41% ในปี 2023 เนื่องจากความระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อใหม่ และการลด Loan to value เพื่อจำกัดความเสี่ยงหนี้เสีย และภาระสำรองหนี้ฯ โดยเราคาดว่า KTC จะควบคุมหนี้เสียได้ดีที่สุด และคาด NPL ratio จะลดลงที่ 2.1% สิ้นปี 2024 (2023: 2.2%) ด้าน MTC มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราที่ต่ำกว่าการเติบโตสินเชื่อทำให้ NPL ratio ลดลงที่ 2.8% สินปี 2024 (2023: 3.1%) ส่วน SAWAD TIDLOR เรามองว่าหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นสูงราว 30% ในปี 2024 ทำให้ NPL ratio ของ SAWAD จะปรับขึ้นเป็น 3.5% สิ้นปี 2024 (2023: 3.1%) และ TIDLOR เพิ่มเป็น 2% (2023: 1.4%)
- Advertisement -