บล.พาย: 

BANKING: ความเชื่อมั่นมาพร้อมกับเศรษฐกิจฟื้นตัว (NEUTRAL)

TOP PICK: KBANK, KTB

ความเชื่อมั่นในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ มาพร้อมความคาดหวังในการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์เป็นปัจจัย หนุนราคาหุ้นธนาคารฟื้นตัวชัดเจนในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี SETBANK ลดลงเพียง 0.2% YTD ทำให้มีโอกาสที่ SETBANK จะปรับสูงขึ้นได้ในปี 2024 หลังจากลดลงในปี 2022-23 อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอ่อนแอ และคุณภาพสินเชื่อเปราะบางยังเป็นอุปสรรคต่อความสามารถการเติบโตของกำไร ธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้า SME และรายย่อย ที่มีความเปราะบางทางการเงิน เราคาดว่ากำไรสุทธิรวมจะขยายตัว 3%/5.6% ในปี 2024-25 ชะลอตัวจาก 18.9% ในปี 2023 และ ROE ทรงตัวที่ 8.8-8.9% ในปี 2023-25 อย่างไรก็ดี แม้กำไรมีแนวโน้มเติบโตไม่มาก จุดเด่นของกลุ่มธนาคาร คือ อัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูง 5.5%/5.8% ในปี 2024-25 และ Valuation ที่ยังไม่แพง กลุ่มธนาคารซื้อขายที่ 0.6x PBV’24E และ 0.5x PBV’25E ด้านการลงทุน เราคงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” เลือก KBANK KTB เป็นหุ้นเด่น และแนะนำ “ซื้อ” BBL CREDIT และ TTB

มาตรการ “กู้ร่วม” ซื้อรถยนต์ส่งผลกระทบจำกัด แต่เป็นเศรษฐกิจฟื้นตัวจะหนุนสินเชื่อฟื้นตัวใน 2H24

  • แม้มีมุมมองบวกต่อมาตรการผ่อนคลายเกณฑ์ “การขอกู้ร่วม” ให้รวมรายได้คนในครอบครัวซื้อรถยนต์ได้ เพราะจะช่วยกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อใหม่ในอนาคต แต่ผลกระทบเชิงบวกยังคงจำกัดในปี 2024 โดยเราเชื่อว่าผลบวกจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นจากการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นปกติ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหลักหนุนการฟื้นตัวของสินเชื่อใน 2H24 หลังจากที่สินเชื่อรวมใน 1H24 ทำได้แค่ทรงตัวจากสิ้นปี 2023
  • เราคาดสินเชื่อรวมจะกลับมาขยายตัวใน 2H24 ส่งผลให้สินเชื่อเติบโตสูงขึ้นเป็น 1.9% ในปี 2024 จากเพียง 0.1% ในปี 2023 และคาดสินเชื่อจะขยายตัวสูงขึ้นเป็น 2.8% ในปี 2025 สนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ คุณภาพสินเชื่อที่เปาะบางยังคงเป็นความท้าทายต่อการเติบโตในอนาคต
  • แม้ในภาพรวม หนี้เสียของกลุ่มธนาคารปรับเพิ่มขึ้นเพียง 2.7% YTD ที่ 4.6 แสนลบ. (+3.6% YoY) แต่หากวิเคราะห์ลึกลงไปพบว่าคุณภาพสินเชื่อของบริษัทขนาดใหญ่ยังคงแข็งแกร่ง แต่กลุ่มที่น่ากังวล คือ คุณภาพสินเชื่อ SME และสินเชื่อรายย่อยที่หนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ฐานะทางการเงินที่เปราะบางจากเศรษฐกิจฟื้นตัวอ่อนแอ และไม่ครอบคลุมแบบ K-Shaped recovery ทำให้กลุ่ม SME และรายย่อยยังต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากทั้งภาครัฐและสถาบันการเงิน ขณะที่แนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว คือ เศรษฐกิจไทยเติบโตแข็งแกร่ง ปรับปรุงคุณภาพสินเชื่อให้ดีขึ้น และลูกหนี้มีความรู้ทางการเงินมากขึ้น
  • เราคาดว่า NPL ratio ในปี 2024 ของกลุ่มธนาคารจะปรับขึ้นเป็น 3.9%/4.0% ในปี 2024-25 จาก 3.6% ในปี 2023 อย่างไรก็ดีธนาคารดำเนินนโยบายรัดกุมด้วยการตั้งสำรองหนี้ฯ สูงต่อเนื่องทำให้ระดับ Coverage ratio สูงที่ 174%/176% ในปี 2024-25 ครอบคลุมความไม่แน่นอนในอนาคต

คาดกำไรสุทธิรวมเติบโตชะลอตัว 3% ในปี 2024 ถูกชดเชยด้วยอัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูง 5.5%

  • เราคาดกำไรสุทธิรวมเติบโตต่อเนื่อง แต่ในอัตราชะลอตัวที่ 3.0%/5.6% ในปี 2024-25 (2023: +18.9%) หนุนจากรายได้ดอกเบี้ย สุทธิขยายตัวล้อกับสินเชื่อ และสำรองหนี้ฯ ลดลง โดยคาด ROE ของกลุ่มธนาคารทรงตัวจากปี 2023 ที่ 8.8% ในปี 2024-25
  • ใน 2H24 คาดผลกำไรรวมของกลุ่มธนาคารจะทรงตัว YoY ที่ราว 1 แสนลบ. แต่กำไรมีแนวโน้มปรับลดลงราว 13% HoH ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 4Q ที่ปกติจะมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูงสุดของปี
  • ด้วยความสามารถการทำกำไรเพิ่มขึ้น และเงินกองทุนแข็งแกร่ง ธนาคารไทยมีศักยภาพในการจ่ายเงินปันผลระดับสูงต่อเนื่อง เราคาดอัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงขึ้นที่ 5.5-5.8% ในปี 2024-25 โดยคาด SCB ให้ผลตอบแทนสูงสุด 8.8-9.2% ในปี 2024-25

คงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” KBANK และ KTB เป็นหุ้นเด่น

คงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” เพราะแม้อัตราการเติบโตของกำไรจะชะลอตัวลงในปี 2024-25 และมีความท้าทายจากคุณภาพสินเชื่อที่เปาะบาง แต่เรามองว่าพื้นฐานของธนาคารยังแข็งแกร่ง อัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูง และ Valuation ไม่แพง กลุ่มธนาคารซื้อขายที่ 0.6x PBV’24E หรือ -1.0SD ของค่าเฉลี่ย 10 ปี และธนาคารส่วนใหญ่ซื้อขายที่ระดับ P/BV ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี

สินเชื่อสุทธิรวมเดือน ก.ค. อ่อนแอต่อเนื่อง 0.5% MoM หดตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

  • ธนาคาร 10 แห่งรายงานสินเชื่อสุทธิรวมในเดือน ก.ค. ลดลง 0.5% MoM เป็นการลดลงต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน ทำให้สินเชื่อในงวด 7M24 ลดลง 0.9% YTD (ม.ค.-ก.ค. 2024) เทียบกับลดลง 0.7% ในช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (ม.ค.-ก.ค. 2023) โดยพบว่ามีเพียง 2 เดือนที่สินเชื่อขยายตัว คือ เดือน ก.พ. และ มี.ค. 2024 เท่านั้น สะท้อนความต้องการสินเชื่อที่อ่อนแอ และธนาคารยังคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อใหม่
  • ในรอบ 7 เดือน พบว่า KTB SCB (ธนาคารภายใต้การดูแลของเรา) และ CIMBT LHFG มีสินเชื่อเติบโต ขณะที่ BBL KBANK KKP TISCO TTB รายงานสินเชื่อหดตัวใน 7M24 ทั้งนี้ สินเชื่อของธนาคารไม่รวมเครือข่ายสินเชื่อในต่างประเทศ
  • เงินฝากรวมในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 0.3% MoM และเติบโต 0.8% YTD ใน 7M24 ทำให้สัดส่วนสินเชื่อสุทธิต่อเงินฝากเฉลี่ยลดลงที่ 87.1% ในเดือน ก.ค. จาก 88.2% ในเดือน ธ.ค. 2023 สะท้อนถึงสภาพคล่องส่วนเกินที่มีค่อนข้างสูงในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย

สินเชื่อรวม 10 ปีล่าสุดโตเพียงครึ่งหนึ่งของช่วง 10 ปีก่อนหน้า เพราะเศรษฐกิจไทยติดหล่มเติบโตต่ำ

  • สินเชื่อรวมในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย (ไม่รวมรายการระหว่างธนาคารตลาดเงินสุทธิ) มีมูลค่ารวม 15.4 ล้านล้านบาท (ล้านลบ.) ในปี 2023 คิดเป็นราว 86% ของเศรษฐกิจไทยมีมูลค่ารวม 17.9 ล้านลบ. หากรวมรายการระหว่างธนาคารตลาดเงินสุทธิ ทั้งนี้สินเชื่อรวมจะมีมูลค่าสูงกว่าเศรษฐกิจไทยราว 3.5% ที่ 18.5 ล้านลบ. ในปี 2023 จากการศึกษาของเรา สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 3.7% CAGR (2014-2023) สูงกว่าเศรษฐกิจไทย (ณ ราคาตลาด) ที่โต 3.4% ในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับในช่วง 10 ปีก่อนหน้า (2004-2013) สินเชื่อรวมขยายตัวถึง 8.5% CAGR เทียบกับเศรษฐกิจไทยขยายตัว 7.4% สะท้อนให้เห็นว่าทั้งสินเชื่อรวม และเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีล่าสุด (2014-2023) เติบโตต่ำกว่าในช่วง 10 ปีก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ
  • ในปี 2014-2023 สินเชื่อบริษัทขนาดใหญ่ (Corporate) เติบโตสูงสุด 6.8% CAGR เทียบกับสินเชื่อรายย่อย (Consumer) โต 5.4% ขณะที่สินเชื่อผู้ประกอบการรายเล็กและกลาง (SME) ลดลง 2.2%
  • สินเชื่อรายย่อยประเภทที่อยู่อาศัยเติบโตสูงสุด 6.2% CAGR เทียบกับสินเชื่อส่วนบุคคลโต 4% ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อ บัตรเครดิตเติบโตใกล้เคียงกันราว 2.9% และ 2.7% ตามลำดับ

คาดสินเชื่อในปี 2024 เติบโตสูงขึ้นเป็น 1.9% YoY ล้อกับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเร่งตัวขึ้นใน 4Q24

  • สินเชื่อรวมของกลุ่มธนาคารภายใต้การดูของเราในครึ่งปีแรกทรงตัว YTD ใน 1H24 ที่ 12.3 ล้านลบ. และใกล้เคียงกับสิ้น 2Q23 โดยสินเชื่อของ CREDIT ขยายตัวโดดเด่นที่สุด 5.3% YTD จากสินเชื่อ SME ขณะที่ BBL เติบโตโดดเด่นที่สุดในธนาคารขนาดใหญ่ที่ 1.8% YTD จากสินเชื่อบริษัทขนาดใหญ่ และสินเชื่อในต่างประเทศ นอกจากนี้ สินเชื่อของ SCB (+0.5% YTD) แต่สินเชื่อของ KKP, KTB, TCAP และ TTB หดตัว ขณะที่สินเชื่อของ KBANK ทรงตัว YTD
  • เรามีมุมมองบวกต่อสินเชื่อที่จะขยายตัวสูงขึ้น หลังจากการได้รัฐบาลชุดใหม่ทำให้มีความชัดเจนที่จะผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การแจกเงินผ่านโครงการดิจิตอล วอลเล็ต กระตุ้นการท่องเที่ยว และการลงทุนของรัฐผ่านงบประมาณปี 2024 (พ.ศ. 2567) และ 2025 (พ.ศ. 2567) ในภาพรวม เราคาดสินเชื่อรวมใน 2H24 จะเติบโตชัดเจนเทียบกับใน 1H24 โดยเฉพาะการเร่ง ตัวขึ้นของสินเชื่อในช่วง 4Q ล้อกับเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มจะเติบโตสูงในไตรมาสุดท้ายของปี และคาดสินเชื่อรวมในปี 2025 จะเติบโตสูงขึ้นเป็น 2.8% YoY
  • เราคาดว่าธนาคารส่วนใหญ่จะรายงานสินเชื่อเติบโตในปี 2024 นำโดย CREDIT ธนาคารขนาดเล็กที่ฐานสินเชื่อยังต่ำ ขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่อย่าง BBL KBANK KTB SCB จะมีสินเชื่อเติบโต และคาดสินเชื่อของ TISCO จะเติบโตได้เล็กน้อย แต่สินเชื่อของ KKP TCAP และ TTB จะหดตัวในปี 2024 เพราะความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

ธปท. ผ่อนคลายเกณฑ์ “กู้ร่วม” ซื้อรถยนต์ช่วยกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าภายในเดือนธันวาคม 2567 จะแก้ประกาศผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ในส่วนของสินเชื่อรถยนต์ในเรื่องของ “การขอกู้ร่วม” ให้รวมรายได้คนในครอบครัวซื้อรถยนต์ได้ เพื่อลดปัญหาคนค้ำประกัน-รายได้ไม่พอชื่อภายหลังจากมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น (Hearing) ร่วมกับสมาคมธุรกจเช่าซื้อ ผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และเจ้าหนี้เช่าซื้อ ทาง ธปท. มองว่าธนาคาร หรือผู้ประกอบเช่าซื้ออาจจะมีการปรับเพิ่มเครดิตรับความเสี่ยงลูกค้ามากขึ้น
  • เรามีมุมมองเป็นบวกต่อการผ่อนคลายเกณฑ์ “การขอกู้ร่วม” ที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นยอดการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อใหม่ในอนาคตเพราะจะทำให้ธนาคารสามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้น หลังจากที่ในช่วง 1H24 ธนาคารชะลอการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เพราะ (1) กังวลต่อเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า (2) กำลังซื้อรถยนต์อ่อนแอลง เพราะหนี้ครัวเรือนสูง (3) คุณภาพสินเชื่ออ่อนแอ หนี้เสียสูงขึ้น ทำให้ธนาคาระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อใหม่ และ (4) การขาดทุนสูงจากการขายรถยนต์ที่ยึดมา เพราะราคารถยนต์ใช้แล้วยังขาดเสถียรภาพ ส่วนหนึ่งเกิดจากอุปทานรถยนต์ในลานประมูลปริมาณสูง และการแข่งขันจากรถยนต์ไฟฟ้า (EV Car) อย่างไรก็ดี เรามองว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปอย่างชัดเจนว่ามาตรการใหม่ของ ธปท. จะช่วยกระตุ้นยอดสินเชื่อเช่าซื้อใหม่ และยอดขายรถยนต์ได้มากเพียงใด เพราะปัจจัยหลักยังขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแข็งแกร่งมากพอจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อรถยนต์ และสถาบันการเงินลดความกังวลต่อหนี้เสีย ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่กำลังจะเป็นขาลงจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งช่วยลดภาระผู้บริโภคได้

สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หดตัวในรอบ 1H24 ธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อล้วนรายงานสินเชื่อหดตัวใน 1H24

  • ใน 2Q24 BAY มีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สูงสุดราว 415 พันลบ. (20.8% ของสินเชื่อรวม) รองลงมาคือ TTB ที่ 402 พันลบ. (31% ของสินเชื่อรวม) KKP ที่ 176 พันลบ. (45% ของสินเชื่อรวม) SCB ที่ 165 พันลบ. (6.8% ของสินเชื่อรวม) KBANK ที่ 149 พันลบ. (6% ของสินเชื่อรวม) และ TISCO ที่ 103 พันลบ. (44% ของสินเชื่อรวม) ตามลำดับ ทั้งนี้ แม้ว่า KKP TISCO จะมีมูลค่าพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อเป็นรอง BAY และ TTB ค่อนข้างมาก แต่หากเทียบสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ต่อสินเชื่อรวม พบว่า KKP มีสัดส่วนสูงสุดที่ 45% ใกล้เคียงกับ TISCO ที่ 44% หากมาตรการนี้ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นการขยายสินเชื่อ KKP และ TISCO มีแนวโน้มที่การขยายตัวของสินเชื่อจะสูงกว่าธนาคารแห่งอื่น เพราะธนาคารขนาดใหญ่ เช่น BAY KBANK SCB TTB ต้องพึ่งพาการขยายตัวของสินเชื่อบริษัทขนาดใหญ่ และสินเชื่อ SME
  • ใน 1H24 ธนาคารทั้ง 6 แห่งรายงานสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ลดลง โดย KKP สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หดตัวมากที่สุด 5.7% YTD เทียบกับ SCB (-4.3% YTD) TISCO (-3.6% YTD) BAY (-3.4% YTD) KBANK (-2.6% YTD) TTB (-2.4% YTD)

ยอดขายรถยนต์เพิ่ม หนุนสินเชื่อดีลเลอร์รถยนต์ และเป็นบวกต่อรายได้ค่าธรรมเนียมจากประกันภัยเพิ่มขึ้น

  • ยอดขายรถยนต์ใหม่ในช่วง 7M24 (ม.ค.-ก.ค. 2024) ลดลง 24% YoY เหลือ 3.54 แสนคัน เทียบกับ 5.06 แสนคัน ในช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน เนื่องจาก (1) กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวเปราะบาง (2) สถาบันการเงินเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อ เพราะกังวลปัญหาหนี้เสีย และ (3) มาตรการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Lending) ทำให้สถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังการให้สินเชื่อมากขึ้น กรณีการแข่งขันสูงขึ้นจากรถยนต์ไฟฟ้าของจีน เรามองว่าเป็นผลดีต่อผู้บริโภค เพราะมีทางเลือกมากขึ้น และกลยุทธ์ด้านราคาทำให้ผู้บริโภคซื้อรถยนต์ในราคาลดลง อย่างไรก็ดี กลยุทธ์การแข่งขันด้านราคากลับส่งผลให้ราคารถยนต์ใหม่ และรถยนต์ใช้แล้วผันผวน ส่งผลให้สถาบันการเงินลดความเสี่ยงการขายขาดทุนรถยึดด้วยการลด Loan to value อาจเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ เพราะผู้บริโภคต้องมีเงินสดเพื่อวางเงินดาวน์สูงขึ้น
  • การผ่อนคลายเกณฑ์ “กู้ร่วม” ทำให้ผู้ซื้อรถยนต์มีโอกาสได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นจะส่งผลบวกต่อรายได้ค่าธรรมเนียมจากประกันภัยเพิ่มขึ้นตามมา นอกจากนี้ สินเชื่อปล่อยให้ดีลเลอร์รถยนต์ (Floor plan financing) เพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน

คาดยอดขายรถยนต์ใหม่ในปี 2024 ปรับลดลง 20-25% YoY ฉุดสินเชื่อเช่าซื้อในปี 2024 ปรับลดลง

  • ยอดขายรถยนต์ใหม่ในเดือน ม.ค. – ก.ค. 2024 ลดลง 23.7% เหลือ 3.54 แสนคัน แต่พบว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (สัดส่วน 17%ของยอดขายรวม) กลับเติบโตได้ 21.5% YoY นำโดยค่ายรถยนต์บีวายดี จากประเทศจีน หากพิจารณาจากยอดขายรถยนต์ที่ลดลงเดือนละกว่า 20% YoY มาตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ค. ดังนั้น มีแนวโน้มยอดขายรถยนต์รวมในปี 2024 จะอยู่ที่ราว 5.8-6.2 แสนค้นปรับลดลงราว 20-25% YoY ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ขึ้นกับกลยุทธ์การตลาดของผู้ผลิตรถยนต์และดีลเลอร์ ในงาน Motor Expo (เดือน พ.ย.-ธ.ค. 2024) เป็นรายการใหญ่ส่งท้ายปีว่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายได้มากน้อยแค่ไหน กรณีของมาตรการใหม่ของ ธปท.
    “กู้ร่วม” ซื้อรถยนต์ เรามองว่าอาจจะส่งผลจำกัดในช่วงที่เหลือของปี 2024 แต่น่าจะมีผลเชิงบวกมากขึ้นในปี 2025
  • สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์คงค้างในระบบธนาคารพาณิชย์มีระดับสูงสุดที่ 1.185 ล้านลบ. ในปี 2022 และปรับลดลงเล็กน้อย 0.4% YoY ในปี 2023 ซึ่งใน 2024 มีสินเชื่อเช่าซื้อคงค้างที่ 1.12 ล้านลบ. (-6.2% YoY) และปรับลดลง QoQ 4 ไตรมาส ติดต่อกัน ท่ามกลางเศรษฐกิจฟื้นตัวเปราะบาง ความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อใหม่ และยอดขายรถยนต์ลดลงเป็นความท้าทายที่สินเชื่อเช่าซื้อจะสามารถกลับมาเติบโตได้ในปี 2024 เราคาดว่าสินเชื่อเช่าซื้ออาจจะปรับลดลง 3-5% YoY ในปี 2024 ทั้งนี้ขึ้นกับการ ฟื้นตัวเศรษฐกิจในช่วง 2H24 และยอดขายรถยนต์ในช่วงที่เหลือของปี

หนี้ครัวเรือนทรงตัวสูงเป็นข้อจำกัดในการฟื้นตัวของธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์

  • ย้อนอดีตไปเมื่อ 20 ปีก่อน หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ระดับต่ำไม่เกิน 4 ล้านลบ. สัดส่วนต่ำกว่า 50% ของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2006 แต่หลังจากนั้นด้วยความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้สะดวกมากขึ้น กอปรกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในอดีตทำให้หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด การเพิ่มขึ้นเห็นชัดเจนในช่วงปี 2007 -2013 ซึ่งเป็นช่วงปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐ (2007-2010) และหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ของไทยในปี 2011 ทำให้รัฐบาลในอดีตนำนโยบายรถยนต์คันแรก (2011-13) มากระตุ้นเศรษฐกิจจนส่งผลให้หนี้ครัวเรือนต่อเศรษฐกิจไทยสูงกว่า 80% เป็นครั้งแรก ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากยอดขายรถยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 1.43 ล้านคัน (+80.7%) ในปี 2012 และ 1.33 ล้านคัน (-7.3% Yoy) ในปี 2013 และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ปรับเพิ่มขึ้นถึง 34% ในปี 2012 หลังจากนั้นทั้งยอดขายรถยนต์ใหม่ และอัตราการเติบโตสินเชื่อเช่าซื้อชะลอตัวจนถึง ปัจจุบันเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจวิกฤตโควิด 19 และคุณภาพสินเชื่ออ่อนแอลง
  • แม้หนี้ครัวเรือนคงค้างจะปรับสูงขึ้นต่อเนื่องเป็น 16.37 ล้านล้านบาท ใน 1Q24 แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อเศรษฐกิจไทยปรับลดลง ที่ 90.8% ใน 1Q24 จากระดับสูง 94.7% ในปี 2020 เพราะเศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวดีขึ้นในปี 2021-1Q24 ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนต่อเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นสูงกว่า 10% จาก 84.1% ในปี 2019 เป็น 94.7% เพราะฐานที่เป็นเศรษฐกิจหดตัวเป็นสำคัญ
  • เป้าหมายของ ธปท. ลดระดับหนี้ครัวเรือนต่อเศรษฐกิจเหลือ 80% ค่อนข้างท้าทายภายุใต้แรงกดดันจาก (1) ความต้องการสินเชื่อเพื่อเป็นสภาพคล่องและซื้อสินทรัพย์ และ (2) เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเปาะบาง ในระยะสั้นผู้เกี่ยวข้องทั้ง ภาครัฐบาล ธปท. สถาบันการเงิน และลูกหนี้ ต้องประคับประครองไม่ให้เกิดวิกฤตการเงินในภาคครัวเรือน ขณะที่ทางออกในระยะยาว คือ เศรษฐกิจไทยเติบโตแข็งแกร่งและสม่ำเสมอ การแก้ไขหนี้เสียและปรับปรุงคุณภาพสินเชื่อให้ดีขึ้น และลูกหนี้ควรมีความรู้ทางการเงินดีขึ้น

คุณภาพสินเชื่อกลุ่มรายย่อยยังน่าเป็นห่วง หากไร้มาตรการช่วยเหลือและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในระยะยาว

  • ใน 2Q24 สินเชื่อรายย่อยในระบบธนาคารพาณิชย์มีมูลค่าราว 5.4 ล้านลบ. คิดเป็น 35% ของสินเชื่อรวม (ไม่รวมรายการระหว่างธนาคารตลาดเงินสุทธิ) แบ่งเป็น (1) สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 2.7 ล้านลบ. (50% ของสินเชื่อรายย่อยทั้งหมด, 17.5% ของสินเชื่อรวม) (2) สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 1.1 ล้านลบ. (20.7% ของสินเชื่อรายย่อยทั้งหมด, 7.5% ของสินเชื่อรวม) (3) สินเชื่อบัตรเครดิตราว 2.2 แสนลบ. (4% ของสินเชื่อรายย่อยทั้งหมด, 1.4% ของสินเชื่อรวม) (3) สินเชื่อส่วนบุคคล 1.8 แสนลบ.
    (3.4% ของสินเชื่อรายย่อยทั้งหมด, 1.2% ของสินเชื่อรวม) และ (5) สินเชื่อรายย่อยอื่นรวม 1.2 ล้านลบ. (22.2% ของสินเชื่อราย ย่อยทั้งหมด, 7.8% ของสินเชื่อรวม)
  • ด้านคุณภาพสินเชื่อ หนี้เสียของสินเชื่อรายย่อยอยู่ที่ราว 1.7 แสนลบ. (+8.6% YTD จากสิ้นปี 2023) คิดเป็น 33.5% ของหนี้เสียรวมในระบบธนาคารพาณิชย์ที่ 5.1 แสนลบ. โดยเป็นหนี้เสียจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสูงที่สุดราว 1 แสนลบ. (+11.4% YTD) คิดเป็น 59% ของหนี้เสียรายย่อยทั้งหมด ขณะที่หนี้เสียของสินเชื้อเช่าซื้อเพิ่มเล็กน้อยเป็น 2.5 หมื่นลบ. (+0.8 % YTD) คิดเป็น 14.8% ของหนี้เสียรายย่อยทั้งหมด แต่หากดูจากข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่สิ้นปี 2020 เราพบว่าหนี้เสียจากสินเชื่อเช่าซื้อเพิ่มขึ้นสูงถึง 49 %ในช่วง 2024-4020 เพิ่มขึ้นสูงใกล้เคียงกับหนี้เสียของบัตรเครดิตในช่วงเวลาเดี่ยวกัน
  • สินเชื่อที่อยู่อาศัย และเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์รวมกันที่ 3.8 ล้านลบ. คิดเป็น 1 ใน 4 ของสินเชื่อรวม และสูงถึง 70% ของสินเชื่อรายย่อยในระบบธนาคาร ท่ามกลางแรงกดดันจากยอดขายรถยนต์และบ้านพักอาศัยที่อ่อนแอ สะท้อนว่าหากปัญหาหนี้เสียของสินเชื่อทั้ง 2 ประเภทที่ถือเป็นสินทรัพย์ระยะยาวไม่ได้รับการแก้ไขที่เหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ เรามองว่าจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของสินเชื่อบุคคลในระยะยาว และอาจเป็นชนวนระเบิดเวลาทำให้เกิดวิกฤตการเงินของบุคคลได้ในอนาคต

คุณภาพสินเชื่ออ่อนแอลงกดดันธนาคารตั้งสำรองหนี้ฯ เพิ่มขึ้น

  • ผลกระทบจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่ครอบคลุม และไม่ทั่วถึงแบบ K-Shape recovery ทำให้ลูกค้ากลุ่มเปาะบางประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง และความสามารถในการชำระหนี้ตามปกติ นอกจากนี้ บริษัทขนาดใหญ่อย่าง บมจ. พลังงานบริสุทธิ (EA) ประสบปัญหาทางการเงินในการชำระหนี้ตามกำหนดให้กับสถาบันการเงิน ทำให้ธนาคารเจ้าหนี้อย่าง SCB ได้ปรับลดสถานะสินเชื่อเป็น Underperforming loans และได้กันสำรองหนี้ฯ พิเศษรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต
  • ใน 2Q24 หนี้เสียรวมของกลุ่มธนาคารภายใต้การดูแลของเราปรับสูงขึ้น 2.7% YTD ที่ 4.6 แสนลบ. (+3.6% YoY) พบว่า KKP มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นมากที่สุด 21.8% YTD จากหนี้เสียสินเชื่อรายย่อย และ SME เป็นหลัก นอกจากนี้ BBL CREDIT TISCO มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น YTD ขณะที่กลุ่มธนาคารที่หนี้เสียปรับลดลง YTD ประกอบด้วย KBANK KTB SCB TCAP และ TTB
  • ธนาคารเข้มงวดการตั้งสำรองหนีฯ เพิ่มรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อ่อนแอ และความไม่แน่นอนในอนาคตลง ทำให้ Coverage ratio เฉลี่ยของกลุ่มธนาคารทรงตัวระดับสูงที่ 180% ลดลงเล็กน้อยเทียบกับ 184.5% สิ้นปี 2023
  • ด้านระดับเงินทุนขั้นที่ 1 เฉลี่ยของกลุ่มธนาคารไทยแข็งแกร่งที่ 16.2% ใน 2Q24 สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 8.5-9.5% สะท้อนความแข็งแกร่ง ธนาคารไทยจะยังสามารถจ่ายเงินปันผลในระดับสูงต่อเนื่องในปี 2024

อัตราดอกเบี้ยมีโอกาสปรับลดลงใน 2H24

แรงกดดันต่อต้นทุนการเงินลดลง และคาดอัตราดอกเบี้ยมีโอกาสปรับลดลงในช่วงปลายปี 2024

  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.50% ในการประชุมวันที่ 21 ส.ค. กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวตามที่ประเมินไว้ จากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่การส่งออกโดยรวมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2024 แต่ต้อง ติดตามการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ
  • มีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวหลังจากอัตราการว่างงานสหรัฐในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 4.3 % และแนวโน้มเงินเฟ้อที่ชะลอตัวแม้จะยังสูงกว่าเป้าหมายระยะยาวที่ 2% ก็ตาม การคาดการณ์ว่าธนาคารกลางของสหรัฐจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. และคาดว่าจะปรับลด 2-3 ครั้ง ราว 50-75 bps ในปี 2024 อย่างไรก็ดี เราคาดว่า กนง. อาจจะปรับลด อัตราดอกเบี้ยลง 0-1 ครั้ง ที่ 2.25-2.50% สิ้นปี 2024 เนื่องจาก (1) เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเปาะบาง (2) อัตราเงินเฟือควบคุมได้ และ (3) ภาคเอกชนผ่อนคลายจากต้นทุนการเงินลดลง และ (4) ค่าเงินบาทควรอยู่ระดับเหมาะสมเทียบกับคู่ค้าเพื่อหนุนภาคส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย หลังจากธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกมีแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่อาจเร่งการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ เช่น นโยบาย digital wallet และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจเป็นปัจจัยทำให้ กนง. ชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือเลื่อนการปรับลดไปเป็นช่วงต้นปี 2025 ก็ได้
  • อีกแนวทางหนึ่งในการช่วยแบ่งเบาภาระของลูกหนี้ได้ทันที คือ การที่ ธปท. ปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF fee) จากธนาคารพาณิชย์ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 0.23% ต่อปี เหมือนเช่นที่ ธปท. เคยประกาศใช้ชั่วคราวในปี 2020 -22 ในกรณีนี้ เรามองว่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยทั้งทางบวก หรือลบต่อผลการดำเนินงานของธนาคาร แต่จะเป็นบวกต่อลูกหนี้ของธนาคาร แต่แนวทางนี้ทำให้ภาระหนี้การจ่ายคืนเงินต้นของกองทุนฯ จะยึดออกไป และมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นตามมา
  • แม้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับลดลงได้ในการประชุมที่เหลือของปีในเดือน ต.ค. และเดือน ธ.ค. 2024 เรามองว่าผลกระทบต่อกลุ่มธนาคารในปี 2024 ค่อนข้างจำกัด แต่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) มากกว่าในปี 2025 ซึ่งเราคาดว่า NIM เฉลี่ยของธนาคารมีแนวโน้มทรงตัวที่ราว 3.45-3.50% ในปี 2024 และมีแนวโม้ปรับลดลง 5-10 bps ที่ 3.40-3.45% ในปี 2025 ทั้งนี้ การปรับลดลงของ NIM จะมากหรือน้อยยังขึ้นกับการขยายตัวของสินเชื่อ และคุณภาพสินเชื่อในอนาคต ดังนั้น เรามองว่าผลกระทบจากโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่มีต่อหุ้นธนาคารเป็นในผลลบในเชิง Sentiment มากกว่าต่อปัจจัยพื้นฐาน ในปี 2024
  • ในทางกลับกัน NIM ของกลุ่มไมโครไฟแนนซ์ อาจยังไม่ได้รับผลเชิงบวกจากทิศทางดอกเบี้ยลดลงในปี 2024 ในทันที เพราะผลกระทบจาก Lagging effect การออกหุ้นกู้ชุดใหม่ที่มีต้นทุนการเงินสูงขึ้น หากแต่กลุ่มไมโครไฟแนนซ์ (KTC, MTC, SAWAD, TIDLOR อยู่ภายใต้การดูแลของเรา) อาจได้รับผลบวกในเชิง Sentiment ต่อราคาหุ้น

แนวโน้มกำไรสุทธิปี 2024-25

คาดกำไรสุทธิรวมเติบโต 3.0-5.7% ในปี 2024-25

  • ผลกระทบจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเปาะบางและคุณภาพสินเชื่ออ่อนแอลง หลังการรายงานผลการดำเนินงานงวด 2024 และการเข้าร่วมประชุมนักวิเคราะห์ ในภาพรวมเราปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิรวมของกลุ่มธนาคารลง 3.5%/3.7% ในปี 2024-25 โดยเราคงประมาณการของ KBANK KTB ตามเดิม แต่ปรับลดประมาณการณ์กำไรสุทธิของ BBL KKP SCB TISCO และ TTB ลง ทั้งนี้ ผลจากการปรับลดประมาณการณ์ลง เราคาดว่ากำไรสุทธิรวมจะยังเติบโตต่อเนื่อง แต่ในอัตราลดลงเหลือ 3.0%/5.6% ในปี 2024-25 จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 7-8% โดยการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการคาดการณ์ว่าธนาคารจะกันสำรองหนี้ฯ สูงขึ้น ล้อกับคุณภาพสินเชื่ออ่อนแอลง นอกจากนี้ คาด ROE ของกลุ่มฯ จะค่อนข้างทรงตัวที่ 8.8% ในปี 2024-25 เทียบกับ 8.9% ในปี 2023
  • ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้กำไรสุทธิรวมเติบโตในปี 2024-25 มาจาก (1) สำรองหนี้ฯ ลดลง 7%/4% ในปี 2024-25 บนสมมติฐาน Credit cost เฉลี่ยที่ 150/140 bps เทียบกับ 162 bps ในปี 2023 และ (2) รายได้ดอกเบี้ยสุทธิขยายตัวต่อเนื่องล้อกับสินเชื่อขยายตัว
  • เราคาดว่าสินเชื่อรวมจะเติบโตสูงขึ้นเป็น 1.9% ในปี 2024 จาก 0.1% ในปี 2023 แต่จะเป็นปีที่สองติดต่อกันที่สินเชื่อเติบโตต่ำกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย และคาดสินเชื่อจะขยายตัวเป็น 2.8% ในปี 2025 เพราะการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นปกติ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลภายหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในเดือน ก.ย. 2024
  • ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) แนวโน้มทำได้ดีกว่าคาดเดิม โดยคาด NIM จะทรงตัว YoY ที่ 3.45% ในปี 2024 จากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มทรงตัวตลอดปี 2024 หรือหากจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศอาจเหลือเพียง 1 ครั้งในช่วงปลายปี จากเดิมที่คาดว่าจะปรับลดลง 1-2 ครั้ง แต่เราคาด NIM จะปรับลดลงราว 5-10 bps ในปี 2025 เหลือ 3.40-3.45% เพราะคาดว่าวัฏจักรดอกเบี้ยในประเทศจะปรับเป็นขาลง ตามธนาคารกลางของสหรัฐที่เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือน ก.ย. นี้ เราคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงปลายปี 2024 และในปี 2025 แต่การลดอัตราดอกเบี้ยของไทยจะปรับลดน้อยกว่าเทียบกับในสหรัฐ เนื่องจากธนาคารของสหรัฐเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตั้งแต่ใน 1Q22 จากระดับ 0.00-0.25% เป็น 5.25-5.50% ในปัจจุบัน เทียบกับประเทศไทยที่เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายช้ากว่าใน 3022 จาก 0.50%เป็น 2.50% ในปัจจุบัน
  • อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการเติบโตของกลุ่มธนาคารที่อาจสูงกว่า หรือต่ำกว่าการคาดการณ์ของเรา เนื่องจาก (1) การเติบโตเศรษฐกิจไทย (2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (3) ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยและต่างประเทศ (4) การกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และ (5) ความขัดแย้งทางการเมืองทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เป็นต้น
- Advertisement -