ไทยพาณิชย์พร้อมเปิดจองซื้อกองทุน VAYU1 วันที่ 16 – 20 กันยายนนี้ มั่นใจเม็ดเงินลงทุนช่วยสร้างเสถียรภาพตลาดหุ้นไทยให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
ไทยพาณิชย์ ในฐานะหนึ่งในตัวแทนการจำหน่ายหน่วยลงทุนกองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง ประเภท ก.พร้อมเดินหน้าเปิดให้ประชาชนทั่วไปและนักลงทุนรายย่อย สามารถจองซื้อหน่วยลงทุนได้ระหว่างวันที่ 16 – 20 กันยายน 2567 ผ่านสาขาและแอปพลิเคชัน SCB Easy เงินลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท ระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้น 10 ปี วงเงินระดมทุนประมาณ 100,000 – 150,000 ล้านบาท มั่นใจเม็ดเงินลงทุนจะช่วยกระตุ้นให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาแข็งแกร่ง และมีเสถียรภาพอีกครั้ง ด้วยเงินลงทุนที่หมุนเวียนในตลาดระยะยาว กองทุนมีนโยบายจ่ายเงินปันผลอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง กำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำไว้ที่ 3% ต่อปี และสูงสุดไม่เกิน 9% ต่อปี ทั้งนี้ กองทุนรวม ไม่มีผู้ค้ำประกันเงินลงทุนและไม่คุ้มครองเงินต้น แต่จะมีกลไกการบริหารความเสี่ยง เพื่อคุ้มครองผลตอบแทนและเงินลงทุนให้ได้ตามที่คาดหวัง เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการออมเงินไว้ใช้ในอนาคต และโอกาสรับผลตอบแทนสม่ำเสมอตลอดอายุของโครงการ
นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลังเตรียมเปิดเสนอขายหน่วยลงทุนกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง (VAYU1) ประเภท ก. ให้แก่ ผู้ลงทุนทั่วไป โดยประชาชนและนักลงทุนรายย่อย สามารถจองซื้อหน่วยลงทุนผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ระหว่างวันที่ 16 – 20 กันยายน 2567 จองซื้อขั้นต่ำ 10,000 บาท และเพิ่มทีละ 1,000 บาท มูลค่าที่ตราไว้หน่วยลงทุนละ 10 บาท ระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้น 10 ปี วงเงินระดมทุนประมาณ 100,000 -150,000 ล้านบาท โดยกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ประเภท ก. มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นทางเลือกในการออมให้กับประชาชน และโอกาสรับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอตลอดระยะเวลาเวลาลงทุน 10 ปี คาดว่าเม็ดเงินลงทุนในกองทุนนี้จะสามารถช่วยกระตุ้นให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนไทยและต่างประเทศ กลับเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง โดยธนาคารไทยพาณิชย์เป็นหนึ่งในตัวแทนการจำหน่ายหน่วยลงทุนกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ประเภท ก. นักลงทุนที่สนใจสามารถจองซื้อผ่านช่องทางสาขาของธนาคารทั่วประเทศ และแอปพลิเคชัน SCB EASY ทั้งนี้ หน่วยลงทุนจะจัดสรรด้วยวิธี Small Lot First หรือผู้จองซื้อที่จำนวนขั้นต่ำได้รับการจัดสรรก่อน
กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ประเภท ก.มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งแบบเชิงรุก (Active Investment) และเชิงรับ (Passive Investment) โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) หลักทรัพย์สภาพคล่อง เช่น ตราสารภาครัฐ ตราสารหนี้ระยะสั้น ตราสารการเงิน หรือตราสารเท่าเทียมเงินฝากที่เสนอขายทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนเงินฝาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสภาพคล่องของกองทุน 2) หลักทรัพย์ที่จะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีความยั่งยืนในกระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงและปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ได้แก่ (ก) ตราสารทุนที่มีรายชื่ออยู่ใน SET100 โดยอาจพิจารณาจากหลักทรัพย์ที่ได้รับคะแนน “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” สูงสุด 3 อันดับแรก เช่นที่ระดับ A ขึ้นไป (ข) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ตราสารทุนที่มีรายชื่ออยู่ใน SET100 อื่น ที่มีอัตราผลตอบแทนสูงหรือมีแนวโน้มการเติบโตสูง ทั้งนี้ ต้องเป็นหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และ (ค) ตราสารทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอก SET100 ที่ผลประกอบการมีแนวโน้มที่ดี โดยอาจพิจารณาจากหลักทรัพย์ที่ได้รับคะแนน “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” สูงสุดสอง อันดับแรก เช่น ที่ระดับ AA ขึ้นไป เป็นต้น รวมถึงหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ ตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ โดยจะบริหารในเชิงรุกเพื่อมุ่งสร้างผลตอบแทนที่ดี และมั่นคงตามกรอบการลงทุนของคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานกองทุนรวมวายุภักษ์ เพื่อให้กองทุนได้รับผลตอบแทนที่ดี และมั่นคงในระยะยาว 3) ลงทุนในหลักทรัพย์อื่น เช่น ประเภท Unlisted Securities ตราสารหนี้ Non-Investment Grade และ /หรือ Unrated Securities ได้ไม่เกิน 10% ของNAV รวมถึงอาจลงทุนในทองคำ น้ำมันดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ และหน่วยลงทุนใน Private Equity ทั้งนี้ กองทุนรวมอาจลงทุนในกองทนุรวมอื่นซึ่งอยู่ภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการเดียวกันได้ในสัดส่วนไม่เกิน 10%ของNAV นอกจากนี้ กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน โดยกองทุนกลยุทธ์การลงทุน มุ่งหวังให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด ( Active Management) ทั้งนี้ กองทุนรวม ไม่มีผู้ค้ำประกันเงินลงทุนและไม่คุ้มครองเงินต้น แต่จะมีกลไกการบริหารความเสี่ยง เพื่อคุ้มครองผลตอบแทนและเงินลงทุนให้ได้ตามที่คาดหวัง
กองทุนมีนโยบายจ่ายเงินปันผลอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เฉพาะกรณีที่กองทุนรวมมีกำไรของกองทุนรวม และ/หรือสำรองเงินปันผลตามอัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนรวม แต่ไม่น้อยกว่าอัตราขั้นต่ำที่กำหนดไว้ร้อยละ3ต่อปี และไม่เกินอัตราขั้นสูงที่กำหนดไว้ร้อยละ 9 ต่อปี ซึ่งกำหนดเป็นอัตราคงที่ ตลอด 10 ปี โดยมีรูปแบบการจ่ายเงินปันผลดังนี้ 1) ในกรณีที่อัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนรวมน้อยกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ บริษัทจัดการจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภทก. ในอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ 2) ในกรณีที่อัตราผลตอแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนรวมมากกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ แต่น้อยกว่าหรือเท่ากับอัตราผลตอบแทนขั้นสูง บริษัทจัดการจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ในอัตราที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนรวม 3) ในกรณีที่อัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนรวมมากกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นสูง บริษัทจัดการจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภทก. ในอัตราผลตอบแทนขั้นสูง
ทั้งนี้ กองทุนรวมไม่มีผู้รับประกันหรือค้ำประกันเงินลงทุน หากมูลค่าทรัพย์สินที่กองทุนรวมเข้าไปลงทุนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลงอย่างรุนแรง อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อมูลค่าทรัพยฺสินสุทธิของกองทุยรวม จนทำให้กลไกในการคุ้มครองเงินลงทุนไม่เพียงพอที่จะรองรับผลประทบเชิงลบดังกล่าว และทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. อาจไม่ได้รับเงินต้นคืนบางส่วนหรือทั้งหมด นอกจากนี้ กองทุนรวมไม่มีผู้รับประกันหรือค้ำประกันผลตอบแทน โดยในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ที่ส่งผลทำให้กำไรของกองทุนรวม และสำรองเงินปันผลของกองทุนรวมลดลงจนๆม่เพียงพอที่จะจ่ายเงินปันผล ในอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ผู้ถือหน่วยลงทุนอาจได้รับเงินปันผลจริงในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำร้อยละ 3 ต่อปี หรือ อาจไม่ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเลย ในกรณีที่กำไรของกองทุนรวม และสำรองเงินปันผลของกองทุนรวมหมดไป อย่างไรก็ดี ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 กองทุนรวมมีกำไรสะสม เท่ากับ 142,738.74 ล้านบาท
นายศรชัย กล่าวต่อไปว่า กองทุนรวมวายุภักษ์จะสามารถช่วยสนับสนุนตลาดหุ้นไทยได้อีกทางหนึ่ง จากเม็ดเงินลงทุนใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยกองทุนนี้มีกำหนดระยะเวลากองทุนที่ 10 ปี วงเงินรวมราว 100,000 -150,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพและความเชื่อมั่นให้กับตลาดได้ เนื่องจากเป็นเม็ดเงินลงทุนใหม่ เน้นการถือลงทุนในระยะยาว และมีเกณฑ์ในการคัดเลือกหุ้นที่มีปันผลที่สูง เพื่อที่จะสร้างกระแสเงินสดให้กับกองทุน รวมถึงคัดเลือกลงทุนในหุ้นที่มี คะแนนด้าน ESG Rating ในระดับสูง ด้วยปัจจัยดังกล่าว จึงมองว่าจากมูลค่าพื้นฐานของหุ้นที่ยังไม่สูงมากและการคาดการณ์กำไรในปี 2025 ที่ยังคงเติบโตอยู่ จะพอมีช่องว่างให้เป็นแรงหนุนให้เกิดความเชื่อมั่นในให้กับนักลงทุนให้มีความสนใจการลงทุนในหุ้นไทยเพิ่มมากกว่าเดิม กองทุนนี้ตอบโจทย์ สำหรับนักลงทุนที่ถือลงทุนในระยะยาว และเป็นกองทุนที่มีกลไกคุ้มครองเงินลงทุน ทำให้ผู้ลงทุนไม่ได้รับผลกระทบแม้ภาวะการลงทุนมีความผันผวนก็ตามหากถือกองทุนจนครบกำหนดเวลา
คำเตือน
- การลงทุนในกองทุนรวมไม่ใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงจากการลงทุน ผู้ลงทุนจึงอาจไม่ได้รับเงินลงทุนคืนเต็มจำนวน ดังนั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวน รวมทั้งความเสี่ยงจากการลงทุนอย่างละเอียดรอบคอบก่อนลงทุน และเมื่อมีข้อสงสัย ควรสอบถามผู้ลงทุนกับผู้ลงทุนให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน โดยควรลงทุนเมื่อเห็นว่าการลงทุนในกองทุนรวมนี้ เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของตน และผู้ลงทุนยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนดังกล่าวได้
- การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และ ความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
- การคํานวณอัตราผลตอบแทนของหน่วยลงทุนประเภท ก. บริษัทจัดการจะคํานวณอัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนรวมเพื่อจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยมีสูตรคำนวณคือ อัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริง (ร้อยละต่อปี) = [((NAV รวมสิ้นปี)/(NAV รวมต้นปี))-1]×100
โดยบริษัทจัดการจะจ่ายเงินปันผลในแต่ละปีให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จากกำไรสุทธิ และ/หรือกำไรสะสม และ/หรือกำไรจากการลงทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกรวมกันว่า “กำไรของกองทุนรวม”) และ/หรือสำรองเงินปันผล ตามอัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนรวม แต่ไม่น้อยกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ และไม่เกินกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นสูงที่กำหนดไว้ โดยสามารถศึกษารายละเอียดได้ตามหนังสือชี้ชวน