ล้มเลื่อนโหวตแผนฟื้นฟูกิจการ ACAP รายย่อยขอความโปร่งใสและเป็นธรรม 

เจ้าหนี้เลื่อนโหวตแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP หลังถกเครียดกว่า 3 ชั่วโมง รายย่อยขอความเป็นธรรม เร่งจ่ายคืนหนี้ นัดพิจารณาอีกครั้ง 27 พ.ย. 67 นี้ วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการดำเนินการให้ถูกต้อง โปร่งใส ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เตือนนักลงทุนพิจารณาแผนอย่างระมัดระวัง จี้บริษัทชี้แจงรายละเอียดเพิ่ม พร้อมขอให้หน่วยงานที่กำกับดูแลและมีส่วนร่วมในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ลงทุนรายย่อย 

วันที่ 18 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี ได้นัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ ACAP ฟื้นฟูกิจการ โดยมี ACAP เป็นผู้ทำแผน ส่อถึงความฉ้อฉล ไม่โปร่งใส โดยมีเจ้าหนี้ที่เป็นนักลงทุนรายย่อยผู้ถือหุ้นกู้ ACAPกว่า 100 รายเข้าร่วมประชุม ที่ห้องประชุม 9 ชั้น 8 อาคาร 3 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (สำนักงานแจ้งวัฒนะ)

นายนครินทร์ วงแหวน ทนายความผู้รับมอบอํานาจจากผู้ถือหุ้นกู้ ACAP กล่าวว่า ผลการประชุม วันนี้ ที่ประชุมได้เลื่อนโหวตแผนฟื้นฟูกิจการ ACAP ออกไปเป็นวันที่ 27 พ.ย. 2567 ซึ่งถือเป็นความสำเร็จก้าวแรกที่บริษัทยอมรับฟังเสียงจากนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากแผนฟื้นฟูกิจการที่ผู้ทำแผนเสนอยังมีความไม่ชัดเจน และไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะสร้างความมั่นใจให้เจ้าหนี้ โดยเฉพาะเจ้าหนี้รายย่อย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก

“วันนี้ถือเป็นก้าวแรก ที่บริษัทและเจ้าหนี้ยอมรับฟังนักลงทุนรายย่อย และเลื่อนแผนฟื้นฟูกิจการออกไป จากการที่ผู้ลงทุนผู้ถือหุ้นกู้รายย่อยไปร้องที่ผู้บัญชาการสอบสวนกลางให้สอบสวนหาข้อเท็จจริงในความฉ้อฉลของผู้บริหารในอดีตและปัจจุบัน ไม่โปร่งใส เอื้อพวกพ้อง แต่เราอยากได้ความจริงใจมากกว่านี้ และความตั้งใจของผู้ทำแผนและที่ปรึกษา ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินการภายใต้หลักธรรมาภิบาล ที่ควรดำเนินการอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรมในการจ่ายคืนหนี้ให้กับนักลงทุนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อยากได้ความเห็นใจ โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยที่ตั้งใจซื้อหุ้นกู้ของบริษัทตั้งแต่แรก เพราะเชื่อมั่นกับหุ้นตัวนี้ แต่สิ่งที่เราได้ยินจากอดีตผู้บริหาร ACAP (นางสาวณิชารดี สุขเจริญไกรศรี) คือการลงทุนมีความเสี่ยง ได้ยินคำนี้แล้วรู้สึกสะเทือนใจ และฝากให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลนักลงทุนรายย่อยให้ได้รับความเป็นธรรม” นายนครินทร์กล่าว

สำหรับการประชุมพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ ACAP เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2567 ที่ประชุมยังไม่ได้มีการโหวตรับแผนของผู้ทำแผน แต่มีการนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 27 พ.ย. 2567 ขณะเดียวกันได้มีการเสนอให้ปรับปรุงแผนเพื่อให้ความเป็นธรรมกับนักลงทุนรายย่อยมากขึ้น ซึ่งเป็นเจ้าหนี้หุ้นกู้ โดยมียอดหนี้เงินต้นคงค้างจำนวน 2,037,648,002.04 บาท หนี้ดอกเบี้ยคงค้างจำนวน 1,116,226,293.85 บาท และหนี้ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จำนวน 839,788.74 บาท รวมกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งในแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้บริษัทชำระหนี้เงินต้นให้กับเจ้าหนี้ ภายในระยะเวลา 8 ปี

ทั้งนี้ แผนฟื้นฟูกิจการ ACAP ได้มีความเห็นจากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ควรใช้ข้อมูลงบการเงินในการพิจารณาอย่างระมัดระวัง เนื่องจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตไม่รับรองความถูกต้องของรายละเอียดที่ปรากฎในงบการเงิน ทั้งเรื่องเงินให้กู้ยืมแก่บริษัทอื่นที่ผิดนัดชำระหนี้ที่มีสิทธิการเช่าเป็นหลักประกัน ซึ่งสิทธิการเช่าอยู่ในพื้นที่ที่มีข้อพิพาท และยังไม่ได้รับข้อมูลการประเมินมูลค่า รวมทั้งบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าทรัพย์สินหมุนเวียน มีปัญหาสภาพคล่องและการผิดนัดชำระหนี้ เป็นจำนวนเงินกว่า 4,344,497,161.83 บาท

นอกจากนี้ ในแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทจะปรับโครงสร้างทุน โดยในระหว่างระยะเวลาดำเนินการตามแผน ผู้บริหารแผนจะดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท จำนวนเงิน 300 ล้านบาท ในปีพ.ศ.2570 โดยเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัท ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมและ/หรือนักลงทุนรายใหม่ คือ บริษัท Echelon Capital Holdings Limited จากประเทศสิงค์โปร์ ซึ่งมีข้อมูลว่าทางบริษัทได้ มีการทำสัญญาเก็บรักษาความลับไว้กับทางบริษัท Echelon Capital Holdings Limited เกี่ยวกับสัญญาการร่วมทุน ดังกล่าว ส่งผลให้ไม่สามารถทราบถึงรายละเอียดของสัญญาร่วมทุนดังกล่าวได้ และจากการสืบค้นข้อมูลพบว่าไม่ปรากฏข้อมูลบริษัทในฐานข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ส่งผลต่อความน่าเชื่อถืออีกด้วย

ความฉ้อฉลและไม่โปร่งใสของ ACAP, โอเค แคช และแคปปิตอล โอเค ตั้งแต่เรื่องการบริหารในอดีตจนถึงปัจจุบัน ในการประเมินทรัพย์สิน การปล่อยกู้ จนกระทั่งผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตไม่รับรองงบ พร้อมกับมีการโอนทรัพย์สินไปยังพวกพ้องและบริษัทในเครือก่อนหุ้นกู้จะหมดอายุบางส่วน จนมาถึงปัจจุบันแผนฟื้นฟูกิจการที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางก็มีการโอนทรัพย์สินออกไปจากบริษัทให้กับพวกพ้องตามที่เป็นข่าว ดังนั้นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและดูแลประชาชนผู้เสียหาย จึงจำเป็นต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้ทำแผนฟื้นฟูให้โปร่งใส รอบคอบเพื่อประโยชน์โดยรวม มิใช่ของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น

- Advertisement -