ทรู คอร์ปอเรชั่น ปิดดีลเงินกู้ความยั่งยืนเป็นครั้งแรก มูลค่า 141.3 พันล้านเยน ได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามจากธนาคารต่างประเทศชั้นนำ
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี ชั้นนำอันดับ 1 ของไทย และอันดับ 1 ของโลกด้านความยั่งยืน ด้วยคะแนน DJSI 2023 สูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ประสบความสำเร็จในการปิดดีลเงินกู้ที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน(Sustainability-Linked Syndicated Loan) เป็นครั้งแรก มูลค่ารวม 141.3 พันล้านเยน (ประมาณ 33 พันล้านบาท) เพื่อนำเงินที่ได้ไปชำระคืนหนี้เดิม (Refinancing) และถือเป็นบริษัทแรกของไทยในกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม-เทคโนโลยี ที่ได้รับสินเชื่อความยั่งยืนดังกล่าว
การปิดดีลเงินกู้ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนครั้งแรกของทรู คอร์ปอเรชั่นนี้ เป็นการเข้าสู่ตลาดเงินเยนของญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก และเป็นสินเชื่อความยั่งยืนสกุลเงินเยนที่บริษัทไทยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารญี่ปุ่นและธนาคารต่างประเทศชั้นนำมากที่สุด บริษัทฯ จึงตัดสินใจขยายวงกู้เพิ่มขึ้นจากเริ่มแรก 109.9 พันล้านเยน เป็น 141.3 พันล้านเยน เพื่อนำเงินที่ได้ไปชำระคืนหนี้เดิม
ทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีรายแรกของไทยที่ได้รับวงเงินกู้ซึ่งเชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Syndicated Loan) และถือเป็นก้าวสำคัญในการมุ่งสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัท อีกทั้งวงเงินกู้ที่ได้รับนี้ยังมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับเป้าหมายการบริหารทางการเงินและการลดต้นทุนของบริษัท สำหรับเกณฑ์การวัดผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ (1) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1 และ Scope 2 และ (2) การเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในสถานีฐาน ตอกย้ำความมุ่งมั่นของทรู คอร์ปอเรชั่นในการมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ใน Scope 1 และ Scope 2 ภายในปี 2573 และมุ่งสู่เป้าหมาย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ตามแนวทาง Science-Based Target Initiative (SBTi)
วงเงินกู้ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของทรู คอร์ปอเรชั่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด รวมถึงเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยในปี 2566 ทรู คอร์ปอเรชั่นได้รับคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก จากทั้งหมด 166 บริษัทในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมสำหรับการประเมินความยั่งยืนขององค์กรโดย S&P Global เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน วงเงินกู้สกุลเงินเยนเชื่อมความยั่งยืนนี้เป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นระยะยาวในการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและการนำเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ มาใช้เพื่อลดการใช้พลังงานของบริษัท
นางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัท มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ธนาคารชั้นนำทั้งของญี่ปุ่นและต่างประเทศให้การสนับสนุนอย่างดียิ่งสำหรับวงเงินกู้สกุลเงินเยนที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนในครั้งนี้ และถือเป็นอีกก้าวสำคัญของทรู คอร์ปอเรชั่น ในการขยายฐานการระดมเงินไปยังตลาดต่างประเทศที่มีสภาพคล่องสูงและอัตราดอกเบี้ยเหมาะสม ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารการเงิน ลดความเสี่ยงตลอดจนเพิ่มความคล่องตัวทางการเงิน อีกทั้งยังสอดคล้องและส่งเสริมเป้าหมายของทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี ชั้นนำอันดับ 1 ของไทย และอันดับ 1 ของโลกด้านความยั่งยืน
ทรู คอร์ปอเรชั่นมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนผ่านการยกระดับประสบการณ์ลูกค้า การเติบโต และผลประโยชน์จากการควบรวม ทั้งนี้ เรามั่นใจว่าปี 2567 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่การเติบโตที่มีกำไร ในขณะที่ปี 2568 จะเป็นปีแห่งการทำกำไรอย่างยั่งยืนและการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า อุตสาหกรรม ตลาด และประเทศไทยโดยรวม การเติบโตอย่างยั่งยืนนี้มาจากผลประโยชน์จากการควบรวม การมีวินัยทางการเงิน การควบคุมต้นทุน การใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับบริการให้ลูกค้าพึงพอใจสูงสุด และการให้ความสำคัญสูงสุดกับคุณภาพเครือข่าย”
วงเงินกู้ที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของทรู คอร์ปอเรชั่นนี้ เป็นการร่วมปล่อยกู้จากกลุ่มธนาคารชั้นนำ โดยมี Bank of China (Hong Kong) Limited, BNP Paribas (ดำเนินการผ่านสาขาสิงคโปร์), DBS Bank Ltd, Mizuho Bank, Ltd., Natixisสาขาสิงคโปร์, Oversea-Chinese Banking Corporation Limited, Standard Chartered Bank (Singapore) Limited และ Sumitomo Mitsui Banking Corporation เป็นผู้จัดการสินเชื่อร่วม (Mandated Lead Arrangers and Bookrunners) Mizuho Bank, Ltd. ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานการจัดอันดับเครดิตกับบริษัทจัดอันดับเครดิต JCR ของญี่ปุ่น และ Sumitomo Mitsui Banking Corporation ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานด้านความยั่งยืน