สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการและ
ร่างประกาศเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล
(กองทุน) ที่มีการลงทุน
ในสินทรัพย์ดิจิทัล
(DA)* เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการให้บริการการลงทุนในต่างประเทศแก่ผู้ลงทุนรายใหญ่ผ่าน บล. และ บลจ. และเพื่อประโยชน์ด้านการจัดสรรสินทรัพย์ (asset allocation) ผ่านผู้เชี่ยวชาญ

ภายหลังจาก crypto ETF ได้รับอนุมัติการจัดตั้งและมีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ผู้ลงทุนไทย
จำนวนหนึ่งให้ความสนใจในการลงทุนดังกล่าว ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) สามารถให้บริการผู้ลงทุนรายใหญ่**
ลงทุนในผลิตภัณฑ์ต่างประเทศได้ โดยไม่จำกัดสัดส่วนการลงทุน ในขณะที่เกณฑ์การลงทุนของกองทุนปัจจุบันยังมิได้กำหนดเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล สำนักงาน ก.ล.ต. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในการประชุมเดือนธันวาคม 2566 และเดือนมีนาคม 2567 และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนในการประชุมเดือนเมษายน 2567 จึงเห็นควรปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับกองทุนที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

โดยมีมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสม ดังนี้

  1. เพิ่มให้ investment token เป็นทรัพย์สินที่กองทุนสามารถลงทุนได้ โดยมีอัตราส่วนการลงทุนเช่นเดียวกับ transferable securities เช่น หุ้น และหุ้นกู้ เป็นต้น เนื่องจากมีลักษณะและความเสี่ยงคล้ายกัน
  2. เพิ่มความยืดหยุ่นให้กองทุนสามารถลงทุนในคริปโทแอสเซ็ท (crypto asset) ได้ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับประเภทผู้ลงทุน โดยกองทุนสำหรับผู้ลงทุนรายใหญ่*** สามารถลงทุนใน crypto ETF ได้ โดย
    ไม่จำกัดสัดส่วนการลงทุน เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในการแข่งขันระหว่าง บล. และบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) และกรณีกองทุนดังกล่าวลงทุนใน crypto asset โดยตรงหรือโดยอ้อมผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า จำกัดไม่เกินร้อยละ 20 ของ NAV ในขณะที่กองทุนสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย**** สามารถมี total crypto asset exposure ผ่าน ETF หรือกองทุนรวมต่างประเทศ ไม่เกินร้อยละ 5 ของ NAV เพื่อประโยชน์ด้านการจัดสรรสินทรัพย์ (asset allocation) ผ่านผู้เชี่ยวชาญ โดยต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) เป็นกองทุนที่จัดตั้งภายหลังวันที่ประกาศใหม่มีผลใช้บังคับ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อผู้ลงทุน
ในกองทุนที่อาจไม่ประสงค์ที่จะมีความเสี่ยงในทรัพย์สินดังกล่าว

(2) มีกลยุทธ์ active management และเป็นกองทุนรวมผสมที่มีนโยบายการลงทุนหลักเพื่อ asset allocation กองทุนรวมตราสารทุน หรือกองทุนรวมทรัพย์สินทางเลือก ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกองทุนสิทธิประโยชน์ทางภาษี

(3) เปิดเผยข้อมูลและคำเตือนให้ผู้ลงทุนทราบถึง crypto asset exposure อย่างชัดเจน

  1. ปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการจัดตั้งและจัดการสำหรับกองทุนที่ลงทุนใน DA เช่น
    การเก็บรักษาทรัพย์สิน การคำนวณมูลค่าDA การเปิดเผยข้อมูล การโฆษณาที่เหมาะสม และการปรับปรุงsuitability test ให้ครอบคลุมการลงทุนใน crypto asset เป็นต้น

ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็น เรื่อง หลักการและร่างประกาศเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=1020 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทางอีเมล thanunya@sec.or.thchavisa@sec.or.th หรือ pattarav@sec.or.th จนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567

อ่านเอกสารเพิ่มเติม

1. สรุปข้อมูลสำหรับงาน Media Briefing เดือนตุลาคม 2567

สรุปข้อมูลสำหรับงาน Media Briefing เดือนตุลาคม 2567

2. สถิติ “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน”

สถิติสายด่วนแจ้งหลอกลงทุน ณ 8 ต.ค. 67

หมายเหตุ :

* สินทรัพย์ดิจิทัล (DA) หมายถึง (1) investment token และ (2) crypto asset ได้แก่ (2.1) cryptocurrency ประเภทที่มีกลไกการคงมูลค่า (stablecoin) เช่น Central Bank Digital Currency (CBDC) ที่ออกโดยธนาคารกลาง เป็นต้น และ cryptocurrency ประเภทที่ไม่มีกลไกการคงมูลค่า (blank coin) เช่น Bitcoin และ (2.2) utility token ที่ไม่ใช่อุปโภคบริโภค มีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการเงิน การลงทุน และการเก็งกำไรคล้ายกับผลิตภัณฑ์ในตลาดเงินตลาดทุน (financial product) เช่น native token และ governance token เป็นต้น

** ผู้ลงทุนรายใหญ่ หมายถึง (1) ผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional Investors: II) และ (2) Qualified Investor (QI) ซึ่งเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่มีสินทรัพย์ประเภทเงินลงทุนในตราสาร อนุพันธ์ และเงินฝากรวมกันไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท

*** กองทุนสำหรับผู้ลงทุนรายใหญ่ หมายถึง (1) กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (UI fund) ซึ่งเป็นกองทุนที่เสนอขายผู้ลงทุน II และผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra-High Net Worth Investors: UHNW) ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ลงทุนในหลักทรัพย์ อนุพันธ์ และเงินฝาก รวมกันไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาท (หรือไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท กรณีบุคคลธรรมดา) และมีความรู้หรือประสบการณ์ เช่น ได้รับ CFA เป็นต้น และ (2) กองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย (PF for non-retail) ซึ่งเป็นกองทุนที่บริหารจัดการลงทุนใน DA ให้แก่ผู้ลงทุน II และ UHNW

**** กองทุนสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย หมายถึง (1) กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (retail-MF) (2)กองทุนรวมสำหรับ Accredited Investors (AI fund) ซึ่งเป็นกองทุนที่เสนอขายผู้ลงทุน II และผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth Investors: HNW) ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ลงทุนในหลักทรัพย์ อนุพันธ์ และเงินฝาก รวมกันไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท (หรือไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาท กรณีบุคคลธรรมดา) และมีความรู้หรือประสบการณ์ เช่น ได้รับ CFA เป็นต้น (3) กองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนทั่วไป (PF for retail) ซึ่งเป็นกองทุนที่บริหารจัดการลงทุนใน DA ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป เช่น ผู้ลงทุน HNW และผู้ลงทุนทั่วไป (retail investor) เป็นต้น

- Advertisement -