TK ปิดบัญชีกิจการไมโครไฟแนนซ์ในเมียนมาแล้ว จากปัญหาความไม่สงบ เผยเป็นตลาดที่มีผู้บริโภคผ่อนชำระหนี้ 100% เมื่อสถานการณ์ปกติ
บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย เผยหลังจากหยุดให้บริการไมโครไฟแนนซ์ในเมียนมา จากสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ล่าสุด TK ได้ดำเนินการปิดกิจการและคืนใบอนุญาตของ บริษัท มิงกะละบา ฐิติกร ไมโครไฟแนนซ์ จำกัด เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 เหลือเพียงกระบวนการนำเงินของบริษัทฯ ออกจากเมียนมาทันทีที่ได้รับพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการจากธนาคารกลางเมียนมา หรือ Central Bank of Myanmar (CBM) ชี้ธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในเมียนมายังคงเป็นโอกาส ทั้งจากความต้องการแหล่งเงินทุนของผู้บริโภค และตลาดที่สามารถเก็บหนี้ในสถานการณ์ประเทศปกติได้สูงถึง 100% ย้ำ TK ยังคงเดินหน้ากลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศ ควบคู่กับการหาโอกาสสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ นอกจากธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในประเทศ
นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ตัดสินใจปิดกิจการในเมียนมา เนื่องมาจากปัจจัยที่เหนือการควบคุมและไม่สามารถคาดการณ์สถานการณ์ความสงบได้ ซึ่งปัจจุบัน TK ได้ปิดกิจการและคืนใบอนุญาตเป็นที่เรียบร้อย โดยยังคงเหลือแต่ขั้นตอนของการนำเงินจากการดำเนินธุรกิจในเมียนมากลับมาไทย ซึ่งยังต้องรอการพิจารณาอนุมัติจากธนาคารกลางเมียนมา หรือ Central Bank of Myanmar (CBM) เท่านั้น
ทั้งนี้ TK ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจในเมียนมาเมื่อไตรมาส 2 ปี 2560 หลังได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินกิจการไมโครไฟแนนซ์ในประเทศสหภาพเมียนมา ภายใต้ชื่อ บริษัท มิงกะละบา ฐิติกร ไมโครไฟแนนซ์ จำกัด (Mingalaba Thitikorn Microfinance Company Limited) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ TK โดย TK ถือหุ้น 99% ด้วยทุนจดทะเบียน 1,520 ล้านจ้าด หรือประมาณ 33 ล้านบาท และเริ่มเปิดให้บริการไมโครไฟแนนซ์กับลูกค้าเมียนมาในเดือนกันยายนปี2560 กับ 3 สาขาในมณฑลพะโค (Bago Region) หรือหงสาวดี และได้เปิดสำนักงานใหญ่ที่เมืองพะโค ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงย่างกุ้งประมาณ 60 กิโลเมตร ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เปิดให้บริการทางการเงินกับลูกค้าชาวเมียนมาสาขาแรกที่เมืองมอนโย (Monyo) และได้ขยายบริการเพิ่มอีก 2 สาขาที่เมืองปาเดา (Padaung) และเมืองเตกอง (Thegon) ในปี 2563
ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ของบริษัทฯ เมื่อเดือนเมษายน 2563 มีมติอนุมัติการเข้าซื้อกิจการ เอ็มเอฟไอแอล (Myanmar Finance International Limited) หรือ MFIL ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยในเมียนมา ในราคาไม่เกิน 21,000 ล้านจ๊าด หรือไม่เกิน 450ล้านบาท เพื่อขยายกิจการแบบก้าวกระโดด โดยจะทำให้บริษัทฯ มีสาขาเพิ่มในเมียนมาทันที 13 สาขา พร้อมกับฐานลูกค้าประมาณ 70,000 ราย แต่เนื่องจากเกิดเหตุความไม่สงบในเมียนมา ส่งผลให้ดีลดังกล่าวต้องหยุดชงักและยกเลิกการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว รวมถึงการหยุดการดำเนินธุรกิจตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 และปิดกิจการและคืนใบอนุญาตเมื่อเดือนมิถุนายน 2567
นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ ได้ให้บริการไมโครไฟแนนซ์ 2 รูปแบบ คือ เงินกู้แบบกลุ่มหรือ Group Loan เน้นให้เงินกู้กับกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ โดยสมาชิกในกลุ่มจะมีการค้ำประกันซึ่งกันและกัน และเงินกู้แบบรายบุคคลหรือ Individual Loan ให้เงินกู้กับสมาชิกเดิมที่เคยกู้แบบกลุ่มมาก่อน และมีประวัติการผ่อนชำระที่ดี มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินกู้ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากลูกค้าเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ และค้าขาย
“ตลอดการดำเนินกิจการให้บริการไมโครไฟแนนซ์ในเมียนมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงเดือนมิถุนายน 2567 บริษัทฯ ได้เปิดสำนักงานบริการลูกค้าใน 3 เมืองคือที่ เมืองมอนโย (Monyo) เมืองปาเดา (Padaung) และเมืองเตกอง (Thegon) โดยสามารถเก็บเงินค่างวดได้ครบถ้วนทั้งหมด ในช่วงกันยายน 2562 ถึง กันยายน 2565 บริษัทฯ สามารถเรียกเก็บค่างวดได้ครบ 100% เกือบทุกเดือน เว้นแต่ช่วงที่รัฐบาลประกาศห้ามเก็บเงินในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นับว่าเป็นตลาดที่มีโอกาสสำหรับบริการดังกล่าว เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการแหล่งเงินทุน ในขณะที่ลูกค้าของบริษัทสามารถจ่ายหนี้ได้ครบและไม่มีNPL” นายประพลกล่าว
อย่างไรก็ตาม TK ยังเดินหน้ามองหาโอกาสเพื่อความเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ รวมไปถึงการสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ที่ต่อยอดความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการดำเนินงาน ทั้งสินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ “TK ME” บริการทางเลือกใหม่ให้ใช้รถจักรยานยนต์แบบจ่ายรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน รวมถึงเพิ่มบริการสำหรับสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ในอนาคต นอกจากธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก
ปัจจุบัน TK มีสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวม 79 สาขา โดยมีสาขาบริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในประเทศจำนวน 63 สาขา สำหรับในต่างประเทศ หลังจากปิดกิจการในเมียนมา TK ยังคงมีกิจการใน 2 ประเทศ คือ กัมพูชา และ สปป. ลาว รวมจำนวน 16 สาขา กล่าวคือ ในกัมพูชา จำนวน 12 สาขา และใน สปป.ลาว จำนวน 4 สาขา