‘บมจ.เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์’ หรือ PCE โชว์ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2567 ทำรายได้จากการขายและบริการรวม 8,858.1 ล้านบาท เติบโต 79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิทำได้ 188.5 ล้านบาท พุ่งแรง 5,696.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผล 9 เดือนแรกของปี 2567 ทำรายได้จากการขายและบริการแล้ว 21,747.9 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 400.5 ล้านบาท ไตรมาส 4 รับปัจจัยบวกราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PCE ผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจรที่มีความพร้อมการจัดการระบบซัพพลายเชน เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3/2567 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 8,858.1 ล้านบาท เติบโต 79% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่มีรายได้ 4,949.4 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 188.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,696.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่มีกำไรสุทธิ 3.3 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มาจากในช่วงไตรมาสดังกล่าว บริษัทฯ ได้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ น้ำมันเมล็ดในปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBDPKO) นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์หลัก เช่น น้ำมันปาล์มดิบกึ่งบริสุทธิ์ (RBDPO) น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) และน้ำมันเมล็ดในปาล์ม (CPKO) ยังมีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ภาพรวมผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 21,747.9 ล้านบาท เติบโต 16.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้ 18,696 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 400.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86.7% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 214.5 ล้านบาท จากปัจจัยการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ดังกล่าว ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทฯ มีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าที่เป็น Strategic Parther ตลอดจนความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากตลาดต่างประเทศ ประกอบกับบริษัทฯ มีลูกค้าใหม่ที่ทำสัญญาระยะยาวกับบริษัทฯ ทั้งนี้รายได้หลักของบริษัทฯ มาจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มถึง 98.8% และมีสัดส่วนการจำหน่ายในประเทศ 62.8% และต่างประเทศ 37.2%

นายประกิต กล่าวถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2567 ว่า จากปัจจัยความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในประเทศที่ยังคงเติบโต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล ที่คาดว่าในปี 2567 การบริโภคน้ำมันปาล์มในประเทศ และความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) จะเติบโตเฉลี่ย 6-7% ประกอบกับความต้องการน้ำมันปาล์มดิบที่เพิ่มสูงขึ้นของตลาดโลกตั้งแต่ไตรมาส 3 ต่อเนื่องมายังไตรมาส 4 และคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจนถึงปี 2568 ขณะที่ผู้นำตลาดน้ำมันปาล์มดิบรายใหญ่ของโลกคิดเป็น 59% อย่างประเทศอินโดนีเซีย ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2567 กลับมีปริมาณน้ำมันปาล์มดิบคงคลังลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 13.61% จากปัญหาสภาพอากาศที่ร้อนจัดส่งผลกระทบต่อผลผลิตปาล์มน้ำมัน และยังมีความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในอุตสาหกรรมไบโอดีเซลภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีการใช้ CPO สูงถึง 2.01 ตัน เติบโตจากปี 2566 ถึง 8.92% นอกจากนี้รัฐบาลอินโดนีเซียมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลเป็น B40 ในปี 2568 ซึ่งคาดว่าจะทำให้ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่ออกสู่ตลาดโลกเกิดภาวะตึงตัวมากขึ้น เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะเป็นปัจจัยบวกต่อ PCE เนื่องจากประเทศไทยไม่มีการเก็บภาษีส่งออกน้ำมันปามล์ดิบ จึงยังคงมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก และ PCE ได้ตั้งเป้าหมายการขายเติบโตราว 10-15% ในปี 2567

- Advertisement -