KS Daily View 14.11.2024 >>> ดัชนี S&P500 ปิดทรงตัวในกรอบแคบ หลังอัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามที่ตลาดคาด แต่ยังเป็นภาพของการเร่งตัวขึ้น ด้าน SET กลับมาปิดบวกได้ แต่ด้วยค่าเงินดอลลาร์ที่ยังแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง น่าจะกดดัน SET ต่อ มองกรอบที่ 1,440–1,465 แนะนำ PR9, TIDLOR
แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศ:
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวในกรอบแคบ หลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือนตุลาคมเป็นไปตามคาด โดย Dow Jones +0.11% และ S&P 500 +0.02% ขณะที่ Nasdaq Composite -0.26% และ Russell 2000 -0.94% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีการเคลื่อนไหวแบบผสม โดยระยะสั้นปรับลดลงจากความคาดหวังการลดดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม แต่ระยะยาวกลับเพิ่มขึ้นจากความกังวลด้านการขาดดุลงบประมาณเพื่อกระตุ้นผ่านนโยบายการคลัง
ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นราว 6 จุด ปิดที่ 1,451.47 จุด ค่อนข้างทำได้ดีกว่าตลาดในภูมิภาค โดยตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นแรงในช่วงต้นก่อนจะค่อยๆลดช่วงบวกลงมา โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ DELTA ที่มีส่วนทำให้ดัชนีบวกราว 4.5 จุด ตามมาด้วยกลุ่มโรงพยาบาล การเงิน จากผลประกอบการที่ออกมาค่อนข้างดี ในขณะที่กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี เป็นกลุ่มที่ปรับตัวลงกดดันดัชนี นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิต่อที่ 166 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันขายสุทธิเล็กน้อยที่ 40 ล้านบาท โดยเมื่อคืนนี้ค่าเงินดอลลาร์ยังแข็งค่าต่อ แม้ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะออกมาตามที่ตลาดคาดแต่ยังเป็นภาพของการเร่งตัวขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 34.9 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ยังอยู่ที่ 4.45% ซึ่งอาจกดดันตลาดหุ้นเอเชียและตลาดหุ้นไทย มองกรอบ SET ที่ 1,440–1,465 จุด แนะนำ PR9, TIDLOR
ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:
- สหรัฐฯ รายงานอัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคม CPI เพิ่มขึ้น 2.58% YoY และ 0.24% MoM เป็นการขยายตัวขึ้น YoY เป็นเดือนแรกในรอบ 7 เดือน และเป็นการเพิ่มขึ้น MoM มากที่สุดในรอบ 6 เดือน ในขณะเดียวกัน Core CPI เพิ่มขึ้น 3.3% YoY และ 0.28% MoM ซึ่งเป็นการเร่งตัวขึ้น YoY มากที่สุดในรอบ 5 เดือน และเป็นการเพิ่มขึ้น MoM ที่ระดับใกล้เคียง 0.3% ติดต่อกันแล้ว 3 เดือน โดยหลักๆมาจากราคาที่อยู่อาศัย (Shelter Cost) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและยังอยู่ในระดับสูง แต่อย่างไรก็ตามตัวเลขที่ออกมานั้น สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้
- ลอรี่ โลแกน ประธานเฟดดัลลัส กล่าวว่า แม้เฟดจะต้องลดดอกเบี้ยอีก แต่ควรดำเนินการอย่างระมัดระวังเพราะไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าต้องลดอีกกี่ครั้งและเมื่อใด เธอเตือนว่าการลดดอกเบี้ยต่ำกว่าระดับที่เป็นกลางอาจทำให้เงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวอีกครั้ง ถึงแม้ว่าปัจจุบันเงินเฟ้อจะลดลงและตลาดแรงงานมีเสถียรภาพ แต่ยังมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะอยู่เหนือเป้าหมายที่ 2%
- โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศแต่งตั้งอีลอน มัสก์และวิเวก รามาสวามี ให้นำทีมในหน่วยงานใหม่ชื่อ Department of Government Efficiency (DOGE) โดยมีภารกิจในการปรับโครงสร้างหน่วยงานรัฐบาล ตัดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น และลดค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง โดยมัสก์คาดว่าจะสามารถประหยัดงบประมาณได้อย่างน้อย 2 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้หน่วยงานดังกล่าวจะทำงานร่วมกับสำนักงบประมาณของทำเนียบขาวและมีกำหนดเสร็จสิ้นภายในวันที่ 4 กรกฎาคม 2026 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 250 ปีของสหรัฐอเมริกา
- รองนายกฯ และ รมว.คลัง พิชัย ชุณหวชิร เผยไทยจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนเพื่อผลักดันให้ GDP โตเฉลี่ย 3.5% จากปัจจุบันที่โตเพียง 1.9% โดยตั้งเป้าก่อหนี้ 3 ล้านล้านบาท หรือปีละ 7.5 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และผลักดันการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมไทย-กัมพูชา
- จีนประกาศมาตรการใหม่เพื่อกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยลดภาษีการโอนสำหรับบ้านขนาดไม่เกิน 140 ตร.ม. เหลือ 1% จากเดิมสูงสุด 3% (ทั้งหลังแรกและหลังที่สอง) ส่วนบ้านขนาดใหญ่กว่า 140 ตร.ม. ลดเหลือ 1.5% สำหรับหลังแรกและ 2% สำหรับหลังที่สอง พร้อมลดเพดานภาษีที่ดินลง 0.5% สำหรับผู้พัฒนาอสังหาฯ และในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเซินเจิ้น จะยกเลิกการแบ่งแยกระหว่างบ้านธรรมดาและบ้านหรูสำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบ้านที่ถือครองนานกว่า 2 ปี โดยมาตรการทั้งหมดจะมีผลในเดือนธันวาคม 2024
หุ้นแนะนำวันนี้ Top pick:
- PR9: ราคาพื้นฐาน 28.50
เรามีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นหลัง PR9 รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/2024 ที่ดีกว่าคาดและทำสถิติใหม่ทั้งรายได้ อัตรากำไรขั้นต้น และกำไร จากความสำเร็จด้านการตลาดในกลุ่มผู้ป่วยต่างประเทศทั้ง CLMV และตะวันออกกลาง ซึ่งให้อัตรากำไรขั้นต้นสูง โดยสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 18% หรือกว่า 200 ล้านบาทต่อไตรมาส ซึ่งเร็วกว่าที่บริษัทคาดไว้ว่าจะมีรายได้จากคนไข้ต่างประเทศที่ 20% ภายใน 2-3 ปี ขณะที่ผู้ป่วยไทยก็เติบโต 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในช่วงหน้าฝนและการใช้บริการตรวจสุขภาพที่มากขึ้น สำหรับไตรมาส 4/2024 คาดว่าจะเติบโตมากกว่าไตรมาส 3/2024 จากการเข้าสู่ไฮซีซันและการเร่งทำการตลาดในกลุ่มผู้ป่วยต่างประเทศ ประกอบกับการควบคุมต้นทุนที่ดี ส่งผลให้มีการปรับประมาณการปี 2024-26 เพิ่มขึ้น 18%, 24% และ 29% ตามลำดับ
- TIDLOR: ราคาพื้นฐาน 22.00
เรามีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นหลังการประชุมนักวิเคราะห์สำหรับงบไตรมาส 3/2024 โดยบริษัทคาดว่าจะเห็นการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั้งด้าน NPL formation และ Credit cost ในไตรมาส 4/2024 และคาดว่าพอร์ตสินเชื่อจะกลับมาเติบโตได้ทั้งในไตรมาส 4/2024 และปี 2025 เป็นต้นไป นอกจากนี้การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยรับ เกิดจากการปรับ Lending yield ให้เหมาะสมแต่ละ Product และคาดว่าการทำ Clean up loan portfolio จะส่งผลให้ Credit cost และ Asset quality กลับมาดีขึ้นได้ในปี 2025 เราชอบ TIDLOR ทั้งในแง่ของโอกาสการฟื้นตัวและ Valuation ที่ยังถูกเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ
- วันพฤหัสฯ ติดตามดัชนีราคาผู้ผลิตที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน (US Core PPI index) ของสหรัฐเดือน ต.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ +2.3% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 1.8% YoY ต่อด้วยถ้อยคำแถลงของเจอโรม พาวเวลล์ ในงานอภิปรายกลุ่มในหัวข้อ “Global Perspectives” ที่จัดโดยธนาคารกลางสหรัฐ สาขาดัลลาส และปิดท้ายด้วยจำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ตลาดคาดการณ์ที่ 2.23 แสนราย เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.21 ราย
- วันศุกร์ ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจของจีน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial production) เดือน ต.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ 5.6% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 5.4% YoY ต่อด้วย ดัชนียอดค้าปลีกของจีน (Retail sales) เดือน ต.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ 3.8% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 3.2% YoY และปิดท้ายด้วยตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ดัชนียอดค้าปลีก (Retail sales) เดือน ต.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ 0.3% MoM ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 0.4% MoM