CCET กำไรเดือด! 9 เดือนแตะ 1,953 ลบ ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์-มากกว่าผลงานปี 66 ตามแผน

บมจ.แคล-คอมพ์ อิเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (CCET) โชว์ผลงานสุดสตรอง! 9 เดือนแรก กำไรเดือดแตะ1,953.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 89.30% เทียบงวดเดียวกันของปีก่อน และสร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์-สูงกว่าผลงานปี 66 มีกำไรอยู่ที่ 1,115.61 ล้านบาท กำไรพุ่ง 3.2% สาเหตุหลักมาจากการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ผู้บริหารมั่นใจแนวโน้นการเติบโตในอนาคตจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นตามแผนงานเปิดโรงงานใหม่ 2 แห่งในสมุทรสาคร และเพชรบุรี

นายคงสิทธิ์ โจวกิจเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคล-คอมพ์ อิเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (CCET) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2567 บริษัทฯมีรายได้จากการขายสินค้าเท่ากับ 1,145.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือเทียบเท่ากับ 38,955.61 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 12.30% เทียบงวดเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความต้องการเครื่องพิมพ์ ผลิตภัณฑ์จัดเก็บข้อมูล และอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสนี้  โดยในไตรมาส 3/2567 มีกำไรสุทธิ 19.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือเทียบเท่ากับ 676.03 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 93.63% และอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 1.01% เป็น 1.74% เทียบงวดเดียวกันของปีก่อน

ส่วนผลการดำเนินงานในงวด9เดือนปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสินค้าเท่ากับ 3,001.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือเทียบเท่ากับ 106,594.84 ล้านบาท) มีกำไรสุทธิ 54.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเทียบเท่ากับ 1,953.69 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 89.30% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 0.91% เป็น 1.83% เทียบงวดเดียวกันของปีก่อน โดยกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการบริหารธุรกิจโดยรวมที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

“ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2567และในงวด 9 เดือนปีนี้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ แซงหน้าผลการดำเนินงานทั้งปีของปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิ 1,115.61 ล้านบาท เป็นผลมาจากการบริหารโครงสร้างต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”นายคงสิทธิ์ กล่าว

ฝ่ายบริหารของ CCET คาดการณ์ว่าผลประกอบการในอนาคตจะเติบโตอย่างต่อเนื่องตามแผน โดยโรงงานใหม่ในจังหวัดสมุทรสาครจะเริ่มดำเนินการในปีนี้ และโรงงานใหม่ในจังหวัดเพชรบุรีจะเริ่มดำเนินการในปีต่อๆไป  ซึ่งพร้อมรองรับคำสั่งซื้อที่มีมาร์จิ้นสูง นอกจากนี้สงครามการค้ายังคงดำเนินอยู่และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน และจีน-ไต้หวัน คาดว่าจะเร่งย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ลูกค้ารายใหญ่สองรายได้ประกาศแผนการย้ายฐานการผลิตไปยังโรงงานใหม่ของ CCET เพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร

- Advertisement -