KS Daily View 25.11.2024 >>> ติดตามเลขส่งออกไทย คาดจะเร่งตัวขึ้นเป็น 6.3% YoY มอง SET วันนี้ Sideway ที่กรอบ 1,430 – 1,455 จุด แนะนำ OSP, TIDLOR
Theme การลงทุนสัปดาห์นี้: คาดตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ยังพักตัวในกรอบ 1,430-1,460 จุด ท่ามกลางแรงกดดันจาก Bond Yield สหรัฐฯ ที่ทรงตัวสูง และค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าทะลุ 107 ตามค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าจากความกังวลเศรษฐกิจยุโรปที่อ่อนแอและความเสี่ยงสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อาจเร่งระดับก่อน Trump เข้ารับตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดยังขาดปัจจัยบวกชัดเจน แต่ก็ยังไม่มีปัจจัยลบรุนแรงพอที่จะกดดันดัชนีให้หลุดแนวรับ 1,440 จุด รวมถึงอาจได้แรงหนุนจากเม็ดเงินลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีที่เริ่มทยอยเข้ามา สัปดาห์นี้มีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามทั้งในและต่างประเทศ โดยในประเทศมีรายงานตัวเลขส่งออกไทยเดือน ต.ค. ในวันอังคาร ที่คาดจะเร่งตัวขึ้นเป็น 6.3%YoY จาก 1.1% ในเดือนก่อน พร้อมติดตามการประชุม ครม. ที่อาจมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นของขวัญปีใหม่ ส่วนปัจจัยต่างประเทศ มีรายงานยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ เดือน ต.ค. ในวันพุธ ที่คาดฟื้นตัวเป็น +0.4% MoM จาก -0.7% และบันทึกการประชุม FOMC ที่อาจให้มุมมองแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางสินทรัพย์เสี่ยง สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในสัปดาห์นี้ที่ตลาดคาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ แนะนำเก็งกำไรในหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ได้แก่CPALL TIDLOR TASCO OSP PR9 โดยเลือกจากหุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและมี SSSG ฟื้นตัวดี กลุ่มการเงินที่มีคุณภาพสินทรัพย์แข็งแกร่ง หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรัฐ รวมถึงหุ้นที่มีแนวโน้ม GPM ดีขึ้นจากต้นทุนที่ลดลงและมีการเติบโตใหม่ที่ชัดเจน
แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศวันนี้: ตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,446.30 จุด อยู่ที่แนวรับสำคัญที่บริเวณ 1,440 จุด โดยตลาดมีการปรับตัวขึ้นในวันศุกร์ปิดบวกราว 6 จุด แรงหนุนมาจากความผ่อนคลายสถานการณ์การเมืองในประเทศ หุ้นในกลุ่มพลังงาน การเงิน อสังหาริมทรัพย์ และอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวขึ้นหนุนตลาด นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 118 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 1,324 ล้านบาท คาดวันนี้ SET ยัง Sideway ที่ 1,430 – 1,455 จุด แนะนำ OSP, TIDLOR
ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:
1. เอกชนเสนอมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย โดยเสนอให้รัฐบาลฟื้นโครงการ “คนละครึ่ง” และ “เราเที่ยวด้วยกัน” พร้อมจัดสรรงบการตลาด 1% จากรายได้ท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท ควบคู่กับการดึงอีเวนต์ระดับโลกเข้าไทย ทั้งคอนเสิร์ต เทศกาลดนตรี และการถ่ายทำภาพยนตร์ โดยเพิ่มเงินคืนถึง 30% รวมถึงรักษามาตรการวีซ่าฟรี 60 วันสำหรับ 93 ประเทศ และส่งเสริมเที่ยวบินเข้าไทย ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน
2. สภา กทม. อนุมัติงบจ่ายหนี้ BTSC ก้อนแรกกว่า 14,549 ล้านบาท จากเงินสะสมที่มีอยู่ 50,000 ล้านบาท โดยตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติ 24 คน ให้แล้วเสร็จใน 45 วัน ก่อนครบกำหนดตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 21 ม.ค. 68 ซึ่งผู้ว่าฯ ชัชชาติระบุว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างรอบคอบและการจ่ายเงินจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี
3. สำนักงานประกันสังคมเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 สามารถล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ (APD) โดยครอบคลุมค่าวางท่อไม่เกิน 20,000 บาทต่อรายต่อ 2 ปี และค่าบริการทางการแพทย์ไม่เกิน 32,700 บาทต่อเดือน พร้อมให้บริการตรวจสุขภาพเชิงรุก 14 รายการ ผ่านสถานพยาบาลในเครือข่ายทั่วประเทศ
4. PMI ภาคการผลิตสหรัฐฯ หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แต่ภาคบริการปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดตั้งแต่มีนาคม 2022 ขณะที่ยูโรโซน PMI รวมลดลงเหลือ 48.1 จาก 50.0 จากภาคบริการที่หดตัวครั้งแรกตั้งแต่มกราคม ท่ามกลางปัญหาการเมืองในเยอรมนี ปัญหาการคลังของฝรั่งเศส และความกังวลเรื่องภาษีนำเข้าของทรัมป์ ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ECB จะลดดอกเบี้ย 0.5% ในเดือนธันวาคม
5. ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศแต่งตั้งScott Bessent นักลงทุนที่มีชื่อเสียง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ หลังการพิจารณาที่ยาวนาน โดยBessent วัย 62 ปี มีประสบการณ์ด้านการเงินและสนับสนุนการปฏิรูปภาษีและการผ่อนคลายกฎระเบียบ นักวิเคราะห์มองว่าการแต่งตั้งนี้เป็นที่น่าพอใจเพราะ Bessent เข้าใจตลาดและอาจช่วยลดโอกาสการใช้มาตรการภาษีที่รุนแรง
6. เฟดประกาศรายละเอียดการทบทวนนโยบายการเงิน โดยจะเริ่มหารือในการประชุมวันที่ 28-29 มกราคม 2025 เน้นทบทวนกลยุทธ์ระยะยาวและการสื่อสาร แต่ไม่รวมเป้าเงินเฟ้อ 2% โดยเจอโรม พาวเวล ระบุว่าพร้อมรับฟังความคิดเห็นและปรับแนวทางตามบทเรียน 5 ปีที่ผ่านมา และจะจัดประชุมวิชาการเพิ่มเติมในวันที่ 15-16 พฤษภาคม รวมถึงกิจกรรมFed Listens เพื่อรับฟังความเห็น
Daily pick
OSP: ราคาพื้นฐาน 29.10 บาท
เราคงมุมมองเชิงบวกต่อ OSP ในไตรมาส 4/2567 โดยคาดว่าจะกลับมาเติบโตในส่วนยอดขายเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศ หลังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในไตรมาส 3/2567 ทางภาคเหนือและอีสาน โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าร้านค้าดั้งเดิมที่มีสัดส่วนกว่า 50% คาดว่าส่วนแบ่งตลาดจะฟื้นตัวในไตรมาส 4/2567 และกลยุทธ์การปรับสินค้าให้เป็นพรีเมียมที่มีราคาสูงขึ้นจะช่วยเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นในระยะยาว นอกจากนี้คาดว่างบการเงินจะไม่มีรายการพิเศษอีกหลังจากขายทรัพย์สินที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไปหมดแล้ว โดยมองว่าการเติบโตในต่างประเทศที่มียอดขาย 28% จะสร้างการเติบโตในอนาคตได้ดีพร้อมอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้น
TIDLOR: ราคาพื้นฐาน 23.00 บาท
เราคงมุมมองเชิงบวกต่อ TIDLOR ในด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่มีโอกาสปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4/2567 และโอกาสลดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ได้มากที่สุดจากการประหยัดต่อขนาด นอกจากนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมที่แข็งแกร่งจะช่วยผลักดันการเติบโตของกำไรให้ดีขึ้น แม้อัตราการเติบโตของสินเชื่อจะชะลอตัวลง โดยคาดว่าปี 2568 จะเห็นการลดลงของต้นทุนทางเครดิตและการตั้งสำรองจะกลับสู่ภาวะปกติ หลังจากการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566
รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ
- วันจันทร์ ติดตามดัชนีธุรกิจภาคการผลิตของธนาคารกลางรัฐดัลลาส (Dallas Fed Manufacturing Index) เดือน พ.ย. เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ -3 จุด
- วันอังคาร ติดตามรายงานตัวเลขส่งออกจากกระทรวงพาณิชย์ (TH MOC Export) เดือน ต.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ 6.3% YoY เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ +1.1% YoY และตัวเลขนำเข้า (TH MOC Export) ตลาดคาดการณ์ที่ 6.8% YoY ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ +9.9% YoY ในส่วนของสหรัฐมีการรายงานตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ (New home sales) เดือน ต.ค. โดยตลาดคาดที่ 7.25 แสนหลังปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 7.38 แสนหลัง ต่อด้วยรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารสหรัฐ (FOMC minutes)
- วันพุธ ติดตามตัวเลข ดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคพื้นฐานส่วนบุคคล (Core PCE Price Index) ของสหรัฐฯ เดือน ต.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ 2.8% YoY เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 2.7% YoY ต่อด้วย ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) ของสหรัฐเดือน ต.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ 0.4%MoM เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ -0.7% MoM และปิดท้ายด้วย การรายงานของ GDP ใน 3Q24 ของสหรัฐครั้งที่สอง ตลาดคาดการณ์ที่ 2.8% QoQ ทรงตัวจากครั้งก่อนหน้า
- วันพฤหัสฯ ติดตามการประชุมธนาคารกลางเกาหลีใต้ครั้งสุดท้ายของปีนี้ ตลาดคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 3.25% และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ยูโรโซน เดือน พ.ย. เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ -13 จุด
- วันศุกร์ ติดตามตัวเลขส่งออก (Export) ของ ธปท. เดือน ต.ค. เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 1.1% YoY และตัวเลขนำเข้า (Import) เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 9.5% YoY