KS Daily View 03.12.2024 >>> S&P 500 ขึ้นต่อเนื่อง หลัง ISM ภาคการผลิตสูงกว่าคาด/ เฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย มองกรอบ SET 1,430-1,455 จุด แนะนำ TASCO, TIDLOR
แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศวันนี้: ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวในทิศทางผสมผสาน โดยหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ปรับตัวขึ้นแรงพาดัชนี S&P 500 และ Nasdaq Composite ทำจุดสูงสุดใหม่ที่ +0.24% และ +0.97% ตามลำดับ ขณะที่ Dow Jonesลดลง 0.29% โดยตัวเลข ISM ภาคการผลิตปรับขึ้นสู่ระดับ 48.4 สูงกว่าคาดที่ 47.5 และการกลับมาขยายตัวในส่วนของยอดคำสั่งซื้อใหม่ รวมถึงการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 25 bps ในการประชุมเดือนธันวาคมด้วยโอกาส 75% หลังจากคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ (ผู้ว่าการเฟดส่วนกลาง) ส่งสัญญาณสนับสนุนการลดดอกเบี้ย
ตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,437.11 จุด ปรับตัวขึ้น 9.57 จุด (+0.67%) โดยมีการลงไปทดสอบที่บริเวณ 1,420 ในช่วงครึ่งแรกของวัน ก่อนจะดีดกลับช่วงบ่ายและปิดที่จุดสูงสุดของวัน โดยแรงซื้อมาจากนักลงทุนสถาบันที่ซื้อสุทธิ 1,458 ล้านบาท ซึ่งอาจมาจากกองทุนวายุภักษ์และ ThaiESG ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิที่ 414 ล้านบาท ปัจจัยบวกที่เข้ามาได้แก่ ตัวเลขภาคการผลิตของจีนที่ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองและมากกว่าที่ตลาดคาด รวมถึง Bond Yield สหรัฐฯ ที่ปรับตัวลง โดยวานนี้มีหุ้นปิดบวกได้ 16 กลุ่ม นำโดยกลุ่มสื่อสาร อิเล็กทรอนิกส์ ค้าปลีก ขนส่ง พลังงาน และประกัน ในขณะที่กลุ่มอาหาร การเงิน วัสดุก่อสร้าง ปรับตัวลง ในระยะสั้นเราคาดตลาดน่าจะเจอฐานและน่าจะทยอยปรับตัวได้ดีขึ้น วันนี้มองกรอบที่ 1,430 – 1,455 แนะนำ TASCO, TIDLOR
ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ยืนยันว่าจะนำเสนอมาตรการช่วยเหลือชาวนาเข้าที่ประชุม ครม. วันที่ 3 ธันวาคม 2567 โดยจะให้ความช่วยเหลือในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ต่อครัวเรือน วงเงินรวม 38,578 ล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกร 4.68 ล้านครัวเรือน โดย ธ.ก.ส. จะทำหน้าที่โอนเงินเป็นรอบๆ ภายในปีนี้
- ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนพฤศจิกายน 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 49.3 จาก 47.0 ในเดือนตุลาคม โดยภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะกลุ่มพลาสติก ยางพารา และอาหาร ส่วนภาคบริการที่ไม่ใช่การผลิตเพิ่มขึ้นในกลุ่มโรงแรมและร้านอาหารจากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าดัชนีจะปรับลดลงมาที่ 51.3 เนื่องจากความกังวลในภาคยานยนต์และการค้าปลีก
- การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) คาดการณ์ว่าผลผลิตยางจะหายไปจากตลาดกว่า 319,675 ตัน เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ โดยส่งผลกระทบต่อพื้นที่สวนยางในแปดจังหวัด ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส นครศรีธรรมราช พัทลุง และตรัง ซึ่งมีพื้นที่รวมกว่า 5.3 ล้านไร่ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ และอาจนำไปสู่ภาวะผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในอนาคต
- ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ จาก Institute for Supply Management (ISM) ในเดือนพฤศจิกายนหดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ โดยเพิ่มขึ้น 1.9 จุด สู่ระดับ 48.4 ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 47.5 แม้จะยังคงต่ำกว่า 50 ซึ่งบ่งชี้การหดตัวเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน แต่ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ (New orders) ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี นอกจากนี้ ต้นทุนวัตถุดิบยังปรับตัวลดลง ชี้ให้เห็นว่าภาคการผลิตกำลังเริ่มมีเสถียรภาพหลังจากซบเซามา 2 ปี
- สหรัฐฯ ประกาศมาตรการควบคุมการเข้าถึงเทคโนโลยีชิปและ AI ของจีนเพิ่มเติม โดยจำกัดการขายชิปหน่วยความจำประสิทธิภาพสูง อุปกรณ์ผลิตชิป 24 ประเภท และขึ้นบัญชีดำบริษัทจีน 140 แห่ง อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้เบากว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ทำให้หุ้นบริษัทผลิตชิปทั่วโลกปรับตัวขึ้น แม้จะครอบคลุมถึงโรงงานในต่างประเทศของบริษัทสหรัฐฯ แต่ก็มีข้อยกเว้นบางประการสำหรับการดำเนินงานที่มีความเสี่ยงต่ำ
- มารีน เลอ แปน ประกาศจะร่วมมือกับฝ่ายซ้ายเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีมิเชล บาร์นิเยร์ หลังจากที่รัฐบาลใช้มาตรา 49.3 ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณโดยไม่ต้องลงมติ แม้บาร์นิเยร์จะยอมตามข้อเรียกร้องของเลอ แปนเกือบทั้งหมด รวมถึงการไม่ขึ้นภาษีไฟฟ้าและการยกเลิกแผนลดการเบิกจ่ายค่ายา แต่ปฏิเสธที่จะปรับเปลี่ยนการชะลอการปรับเพิ่มเงินบำนาญตามอัตราเงินเฟ้อ สถานการณ์ความไม่แน่นอนนี้ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของฝรั่งเศสพุ่งสูงขึ้นเทียบเท่ากรีซ
Daily pick
TASCO : ราคาพื้นฐาน 21.00 บาท
เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ TASCO จากสองปัจจัยสำคัญ ประการแรก คาดว่าความต้องการใช้ยางมะตอยในประเทศจะแข็งแกร่งไปจนถึงอย่างน้อยไตรมาส 2/2568 เนื่องจากการเบิกจ่ายภาครัฐที่เป็นไปอย่างราบรื่นและการเพิ่มงบประมาณของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทในปีงบประมาณ 2567/2568 โดยอุปสงค์ที่แข็งแกร่งนี้จะช่วยให้สามารถรักษาระดับราคาขายที่สูงได้อย่างต่อเนื่อง ประการที่สอง คาดว่าส่วนต่างกำไรของTASCO จะปรับตัวดีขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง ทั้งจากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะมีโอกาสลดลงมากกว่าเพิ่มขึ้น และการนำเข้าFeedstock อย่างน้อย 2 Cargo ในปี 2568 เพื่อกลั่นและขายเอง ซึ่งคาดว่าจะให้อัตรากำไรที่ดีกว่าการซื้อมาขายไป นอกจากนี้ อัตราเงินปันผลที่สูงราว 5% จะช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลงของราคาหุ้นได้
TIDLOR : ราคาพื้นฐาน 23.00 บาท
เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ TIDLOR โดยคาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ในไตรมาส 4/2567 จะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากประสิทธิภาพการเก็บหนี้ที่ดีขึ้น และจะเริ่มเห็นผลจากการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2566 ส่งผลให้ต้นทุนทางเครดิตและการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ใหม่ลดลงในปี 2568 และคาดว่าอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นจะกลับมาเติบโตได้ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป โดยมองว่าการเติบโตของสินเชื่อในปี 2568 จะอยู่ที่ระดับ 10% พร้อมกับการเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ด้านการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพจะช่วยผลักดันให้กำไรเติบโต 14-16% ในปี 2568-2569 นอกจากนี้ กลุ่มสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารอาจได้ประโยชน์จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลงในปี 2568
รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ
- วันอังคาร ติดตามตัวเลขตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่ของสหรัฐ (JOLTS Job openings) เดือน ต.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ 7.51 ล้านตำแหน่งเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 7.44 ล้านตำแหน่ง
- วันพุธ ติดตามตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของจีน (Caixin Service PMI) เดือน พ.ย. เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 52.0 จุด ต่อด้วยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการของสหรัฐ (ISM Service PMI) เดือน พ.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 55.5 จุดปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 56.0 จุด และปิดท้ายด้วยยอดสั่งซื้อสินค้าจากโรงงาน (Factory Orders) ในสหรัฐ เดือน ต.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ 0.3% MoM เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ -0.5% MoM
- วันพฤหัสฯ ติดตามถ้อยแถลงของเจอโรม พาวเวลล์ ในงาน New York Times Dealbook Summit, รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ (Fed Beige Book), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ (US Initial Jobless Claims) และการประชุม OPEC+
- วันศุกร์ ติดตามรายงานตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานของไทย (TH CPI)เดือน พ.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 1.20% YoY ปรับตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 0.83% YoY และตัวเลขเงินเฟ้อที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน (TH Core CPI) เดือน ต.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ 0.76% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 0.77% YoY ต่อด้วยตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่รายงานการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm payrolls) เดือน พ.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 200,000 ตำแหน่งเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 12,000 ตำแหน่ง ต่อด้วยตัวเลขอัตราการว่างงาน (Unemployment rate) เดือน พ.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 4.1% ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า