บล.กสิกรไทย:
(-) KS: ข่าวกระทรวงการคลังพิจารณาขึ้นภาษี VAT
- เรามองเป็นข่าวลบสำหรับประเด็นกระทรวงการคลังพิจารณาปรับเพิ่มภาษี VAT จาก 7% ในปัจจุบัน โดยเทียบอัตราภาษี VAT ในต่างประเทศที่อัตรา 15-25%
- ในอดีตที่ผ่านมามีการพูดถึงการปรับเพิ่ม VAT ในทุกปี แต่ยังคงไม่มีนโยบายปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เรามองจากวันนี้ไปในอนาคตสำหรับประเทศไทย มีโอกาสมากขึ้นที่ VAT จะถูกปรับขึ้น เนื่องจากเป็นภาษีที่สามารถจัดเก็บได้มากและจัดเก็บได้ง่าย อีกทั้งเพื่อชดเชยกับหนี้สาธารณะไทยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องใกล้เกณฑ์กรอบวินัยการเงินการคลังที่ระดับ 70% ของ GDP
มุมมอง KS
- เราประเมินหากปรับเพิ่มภาษี VAT จะกระทบต่อระดับราคาสินค้าในวงกว้าง และเชื่อการส่งผ่านของภาษี VAT ไปยังเงินเฟ้อหรือดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคจะสามารถทำได้โดยตรง ดังนั้นชัดเจนว่าอัตราเงินเฟ้อไทยจะเร่งตัวขึ้นตามอัตราภาษี VAT ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือ GDP จะเป็นภาพของการชะลอตัวลงเนื่องจากกำลังซื้อภาคเอกชนลดลง
- ยกตัวอย่างในต่างประเทศกรณีเช่นญี่ปุ่นที่มีการปรับเพิ่มภาษี VAT ในปี 2014 ขึ้น 3% จาก 5% เป็น 8% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.34% ในปี 2013 เป็น 2.76% ในปี 2014 หรือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2.42% ขณะที่ด้าน GDP growth ญี่ปุ่นปรับตัวลดลงจาก 1.98% ในปี 2013 เป็น 0.30% ในปี 2014 จากการบริโภคของภาคเอกขนที่ลดลงเนื่องจากกำลังซื้อที่น้อยลง
- หากมีการปรับเพิ่ม VAT และส่งผลกระทบมายังเงินเฟ้อไทยให้ปรับตัวขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกกดให้ต่ำ อาจส่งผลกดดันต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่า ดังเช่นที่เกิดกับ JPY ในปี 2014 ที่อ่อนค่าแรงจาก USDJPY ที่ระดับ 80 ไปแตะระดับราว 100 ในช่วงต้นปี 2015 หรืออ่อนค่าถึงราว 25%
- ขณะที่ด้านดัชนีหุ้น NIKKEI ปรับตัวขึ้นราว 6% ในปีนั้นจากระดับ 16,314 จุด เป็น 17,400 จุด ทั้งนี้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นตอบสนองเชิงบวกเนื่องจากญี่ปุ่นเผชิญกับสภาวะเงินฝืดมาเป็นเวลานาน อีกทั้งความเสี่ยงเชิงนโยบายต่อระบบการเงินมีน้อยกว่าเนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
- อย่างไรก็ดี เรามองต่างกับประเทศไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา การปรับเพิ่มขึ้นภาษี VAT ในระดับสูงอย่างฉับพลันอาจกระทบไม่เพียงอัตราเงินเฟ้อที่จะเร่งตัว แต่จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อเสถียรภาพการเงินไทย ดังนั้นเรามองหุ้นไทยอาจไม่ได้ตอบสนองเชิงบวกกับนโยบายขึ้น VAT เหมือนกับหุ้นญี่ปุ่น แต่หากการปรับเพิ่มขึ้น VAT เป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปน่าจะเป็นวิธีการจัดการที่ดีกว่าสำหรับเรื่องปัญหาหนี้สาธารณะและการจัดเก็บภาษี
- นโยบายการเพิ่ม VAT ดังกล่าวเรามองเป็นลบกับกลุ่ม Domestic play เช่น Commerce (ค้าปลีก) และ Finance (การเงิน) เนื่องจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจะกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้