บล.กสิกรไทย: 

กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ 7-0 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ 2.25%

  • กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ 7-0 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของเราและของตลาด อย่างไรก็ตาม การลงมติเป็นเอกฉันท์ 7-0 สะท้อนมุมมองที่ค่อนข้างเข้มงวด (hawkish tone) สำหรับนักลงทุนบางกลุ่มที่คาดว่าจะมีเสียงแตก
  • แม้เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากปัจจัยภายนอก แต่ กนง. มองว่านโยบายการเงินปัจจุบันที่ใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.25% นั้นเหมาะสม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้และใกล้กับระดับศักยภาพ ขณะที่เงินเฟ้อกำลังเข้าสู่กรอบเป้าหมาย อีกทั้งการคงดอกเบี้ยนโยบายยังช่วยรักษาความยืดหยุ่นของนโยบายการเงินในการรับมือกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า

มุมมอง KS

  • กนง. ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของเราที่ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเลือกใช้แนวทาง “รอดูสถานการณ์” หรือ wait and see mode เพื่อรักษาพื้นที่ในการดำเนินนโยบายการเงิน หลังจากที่เพิ่งมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแบบเซอร์ไพรส์ตลาดในช่วงเดือนตุลาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ทั้งกระทรวงการคลังได้ร่วมกับ ธปท. ในการให้ความช่วยเหลือกับภาคประชาชนผ่านตัวโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อช่วยลดภาระหนี้ครัวเรือน
  • ทั้งนี้เรามองการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูง จะส่งผลดีในระยะสั้นต่อกลุ่มธนาคาร (BBL, KTB, SCB)
  • นอกจากนี้ การที่ ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยของ Fed มีแนวโน้มลดลงต่อ จะช่วยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าหรือค่อนข้างมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

เราคาดว่าการแข็งค่าของค่าเงินบาทจะ

  • ส่งผลดีสุทธิกับ
    • กลุ่มปิโตรเคมี (IVL, PTTGC)
    • พลังงาน (PTT)
    • โรงไฟฟ้า (BGRIM)
    • วัสดุก่อสร้าง (TASCO)
    • ขนส่ง (AAV, BA)
  • แต่จะเป็นผลลบต่อ
    • กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (DELTA, KCE, HANA)
    • ผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล (STGT)
    • เกษตรและอาหาร (ASIAN, TU)
  • อย่างไรก็ตาม มองไปข้างหน้า เราคาดว่า ธปท. อาจกลับมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งในไตรมาส 1 ปี 2568 โดยคาดว่าจะลดลงรวม 50 bps สู่ระดับ 1.75% ในปี 2568
  • โดยเราเห็นโอกาสที่ ธปท. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อในปี 2568 หลังจากธนาคารกลางในภูมิภาค โดยเฉพาะธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ขณะที่ภาวะทางการเงินในไทยตึงตัวขึ้นจากภาพการลดลงของสินเชื่อในระบบ เรามองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. ในระยะถัดไปจะส่งผลดีต่อกลุ่มไฟแนนซ์ (MTC, TIDLOR) จากต้นทุนเงินทุนที่ลดลง แต่จะเป็นผลลบต่อกลุ่มธนาคารจากอัตราดอกเบี้ยส่วนต่างสุทธิ (NIM) ที่ลดลง
- Advertisement -