KS Daily View 23.12.2024 >>>ตลาดหุ้นไทย ปรับตัวลงรายสัปดาห์มากสุดในรอบ 8 เดือน แต่เริ่มเห็นการรีบาวด์สู้หลังลงไปทดสอบที่ 1,360 จุด เงินบาทแข็งค่ามาที่ 34.1 หลัง Core PCE สหรัฐฯ ต่ำกว่าคาด มองตลาดน่าจะฟื้นตัวขึ้นได้ กรอบวันนี้ 1,360 – 1,380 แนะนำ TASCO, MTC
แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศ:
คาดตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้มีโอกาสรีบาวด์ในกรอบ 1,360-1,385 จุด แม้แนวโน้มหลักยังเป็นขาลง แต่หลังจากดัชนีปรับตัวลงแรงกว่า 4% ในสัปดาห์ก่อน ตลาดอาจได้แรงหนุนจากเม็ดเงินกองทุนลดหย่อนภาษีช่วงปลายปีและการทำวินโดว์เดรสซิ่งของสถาบัน ปัจจัยสำคัญในประเทศสัปดาห์นี้มีการรายงานตัวเลขส่งออกเดือน พ.ย. ที่คาดชะลอตัวลงเป็น 7.0% YoY จาก 14.6% ในเดือนก่อน แต่ยังถือว่าเติบโตในระดับสูง นอกจากนี้ในการประชุม ครม. จะมีการพิจารณามาตรการ Easy e-Receipt โดยประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการที่มี e-Tax Invoice มาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท แบ่งเป็นสินค้าและบริการทั่วไปไม่เกิน 3 หมื่นบาท และสินค้าจากวิสาหกิจชุมชน SME และ OTOP อีก 2-5 หมื่นบาท ธีมการลงทุนสัปดาห์นี้ประเมินหุ้นที่มีการปรับตัวลงมาแรงในสัปดาห์ก่อนหน้ามีโอกาสรีบาวด์ รวมถึงหุ้นที่ให้ปันผลสูงและมีการปรับ ESG rating ขึ้น และหุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ หุ้นแนะนำสัปดาห์นี้เช่น MTC TRUE TASCO SAV CRC
แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศวันนี้: ตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,365.07 จุด ลดลงราว 12 จุด โดยเป็นการลดลงรายสัปดาห์ที่มากที่สุดในรอบ 8 เดือน ฉุดโดยกลุ่มพลังงานโดยเฉพาะ TOP ที่ปรับตัวลง 22% รวมถึงกลุ่มธนาคาร ขนส่ง และค้าปลีก ในขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลปรับตัวขึ้น โดยเราคาดว่าตลาดน่าจะฟื้นตัวได้หลังลงไปทดสอบแนวรับที่ 1,360 และมีแรงรีบาวด์ กอปรกับค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาที่ 34.1 บาทต่อดอลลาร์จาก Core PCE ของสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาดในคืนวันศุกร์ โดยเรามองกรอบวันนี้ที่ 1,360 – 1,380 แนะนำ TASCO, MTC
ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:
- Core PCE ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ Fed ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และเพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาด 2.9% สะท้อนการชะลอตัวของเงินเฟ้อในวงกว้าง ทั้งราคาสินค้าและบริการ ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวขึ้น 0.3% หลังปรับปรุงผลกระทบเงินเฟ้อ โดยได้แรงหนุนจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น 0.6% สูงสุดตั้งแต่เดือนมีนาคม ข้อมูลนี้อาจช่วยสนับสนุนการลดดอกเบี้ยของ Fed ในปี 2025
- กระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการ Easy E-receipt ต่อ ครม. สัปดาห์หน้า โดยจะเริ่มใช้สิทธิระหว่าง 15 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2568 ให้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท แบ่งเป็นวงเงิน 30,000 บาทแรกใช้กับสินค้าและบริการทั่วไปรวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว และวงเงิน 20,000 บาทที่เหลือใช้กับสินค้าวิสาหกิจชุมชน SME และ OTOP โดยร้านค้าต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและอยู่ในระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษี 10,000 ล้านบาท แต่จะกระตุ้นเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบถึง 70,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยกเว้นสินค้าและบริการบางประเภท เช่น สุรา เชื้อเพลิง ยานพาหนะ และค่าสาธารณูปโภค
- กระทรวงการคลังเตรียมเสนอร่างกฎหมายสนับสนุนโครงการ Entertainment Complex ต่อ ครม. ในต้นปี 2568 โดยจะมีการตั้งคณะทำงานพิเศษที่มีอำนาจหน้าที่คล้ายคณะกรรมการ EEC เพื่อขับเคลื่อนโครงการ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน คณะทำงานจะพิจารณากำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมและดูแลให้การแข่งขันของภาคเอกชนเป็นไปอย่างเป็นธรรม ผลการศึกษาระบุว่าโครงการนี้จะเป็น Game Changer ที่ช่วยเพิ่ม GDP 0.2% ในช่วงการลงทุน และอีก 0.7% หลังเปิดดำเนินการผ่านการท่องเที่ยวและการบริโภค โดยกระทรวงการคลังจะรับผิดชอบด้านกฎหมายให้ถูกต้องก่อนส่งให้สภาพิจารณาอีกครั้ง
- กระทรวงคมนาคมเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภาคอีสานเพื่อเชื่อมโยงไทย-ลาว-จีน โดยมีโครงการสำคัญ ได้แก่ รถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มอเตอร์เวย์ M6 บางปะอิน-นครราชสีมา ที่จะเปิดให้บริการปีใหม่ 2569 สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 ที่จะเปิดในปี 2568 พร้อมพัฒนาท่าเรือบกที่ขอนแก่นหรือนครราชสีมา และปรับปรุงสนามบินในภูมิภาค โครงการเหล่านี้มุ่งสร้างโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับจีน
- Volkswagen ประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ในเยอรมนี โดยจะลดพนักงาน 35,000 ตำแหน่งและลดกำลังการผลิตลงหลังการเจรจากับสหภาพแรงงานยาวนาน 70 ชั่วโมง แม้จะไม่มีการปิดโรงงานหรือเลิกจ้างทันที แต่จะปิดการผลิตที่โรงงานเดรสเดนภายในสิ้นปี 2025 และลดสายการผลิตที่โรงงานโวล์ฟสบวร์กจาก 4 เหลือ 2 สาย บริษัทคาดว่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 15.6 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
หุ้นแนะนำวันนี้ Top pick:
- TASCO : ราคาพื้นฐาน 21.00 บาท
เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ TASCO จากสองปัจจัยสำคัญ คือ 1) คาดการณ์อุปสงค์ยางมะตอยในประเทศที่จะแข็งแกร่งถึงไตรมาส 2/2568 จากการเบิกจ่ายภาครัฐที่ราบรื่นและงบประมาณที่เพิ่มขึ้นของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ซึ่งจะช่วยรักษาระดับราคาขายที่สูงได้ต่อเนื่อง โดยราคายางมะตอยในเดือนตุลาคมยังเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน และ 2) คาดส่วนต่างกำไรจะดีขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลงตามราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลง พร้อมแผนนำเข้าวัตถุดิบ 2 ลำในปี 2568 เพื่อกลั่นเอง ซึ่งจะให้อัตรากำไรดีกว่าการซื้อมาขายไป นอกจากนี้อัตราเงินปันผล 7% ที่ราคาปัจจุบันจะช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลง
- MTC: ราคาพื้นฐาน 55.50 บาท
เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ MTC คาดผลประกอบการไตรมาส 4/2567 ที่จะเติบโตทั้งเทียบกับปีก่อนและไตรมาสก่อน จากการเติบโตของสินเชื่อที่ 15% สำหรับทั้งปี 2567 และต้นทุนทางเครดิตที่กลับสู่ภาวะปกติหลังปรับปรุงพอร์ตสินเชื่อ คาดต้นทุนทางการเงินจะเริ่มลดลงตั้งแต่ไตรมาส 3/2568 และได้ประโยชน์จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีที่ลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 2.2-2.3% โดยคาดธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2568 และประเมินว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากมติคณะรัฐมนตรีล่าสุดจะมีผลกระทบจำกัดต่องบการเงิน
รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ
- วันจันทร์ ติดตามดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากคณะกรรมการการประชุม (Conference Board Consumer Confidence) เดือน ธ.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ 113.0 จุด เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 111.7 จุด
- วันอังคาร ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา เช่น ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (US Durable Goods Orders) ของสหรัฐในเดือน พ.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ -0.3% MoM เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 0.3% MoM ต่อด้วยตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ (US New Home Sales) เดือน พ.ย. ตลาดคาดที่ 6.63 แสนหลัง เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 6.10 แสนหลัง และปิดท้ายด้วยดัชนีภาคการผลิตของรัฐริชมอนด์ (Richmond Manufacturing Index) ของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ -14 จุด
- วันพุธ ติดตามรายงานตัวเลขส่งออกจากกระทรวงพาณิชย์ (TH MOC Export) เดือน พ.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 7.0% YoY ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 14.6% YoY และตัวเลขนำเข้า (TH MOC Import) ตลาดคาดการณ์ที่ 1.2% YoY ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 15.9% YoY
- วันพฤหัสฯ ติดตามการรายงานจำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (US Initial Jobless Claims) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.20 แสนตำแหน่ง
- วันศุกร์ ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจญี่ปุ่น เช่น อัตราการว่างงาน (Japan Unemployment Rate) เดือน พ.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 2.5% YoY เท่ากับเดือนก่อนหน้า ต่อด้วยดัชนียอดค้าปลีก (Japan Retail Sales) เดือน พ.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 1.8% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 1.6% YoY และปิดท้ายด้วยตัวเลขส่งออก (Exports) ของ ธปท. เดือน พ.ย. เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 14.2% YoY และตัวเลขนำเข้า (Imports) เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 17.1% YoY