PwC ชี้นักลงทุนปฏิเสธที่จะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างพนักงานและ AI โดยมากกว่า 70% เรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ ลงทุนในทั้งสองด้าน
- นักลงทุนเห็นความสำคัญของการลงทุนในบุคลากรควบคู่ไปกับเทคโนโลยี โดย 74% คาดหวังให้บริษัทต่าง ๆ เพิ่มการลงทุนในการพัฒนาทักษะใหม่ และมีแนวโน้มที่จะคาดหวังว่า AI จะนำไปสู่การเพิ่มจำนวนพนักงาน (32%) เท่ากับการลดจำนวน (32%)
- นักลงทุนมีมุมมองในแง่ดีอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับเศรษฐกิจ โดย 51% คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในอีก 12 เดือนข้างหน้า
- นักลงทุนยังคงจับตาดูการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ โดย 64% เรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ เพิ่มการลงทุนในระดับปานกลางหรือมากเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน
PwC เผยรายงานล่าสุดพบบริษัทต่าง ๆ กำลังเผชิญแรงกดดันในการเปลี่ยนการลงทุนใน AI ให้กลายเป็นผลลัพธ์ โดย 73% ของนักลงทุนกล่าวว่าบริษัทควรนำโซลูชัน AI มาใช้ในวงกว้าง ขณะที่ 66% คาดหวังว่าบริษัทที่พวกเขาลงทุนจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพจาก AI ได้ภายใน12 เดือนข้างหน้า พร้อมกับ 63% ที่คาดหวังว่า AI จะสามารถเพิ่มรายได้ และ 62% ที่คาดว่าจะเพิ่มความสามารถในการทำกำไร
รายงานผลสำรวจ Global Investor Survey ประจำปี 2567 ของ PwC รวบรวมความคิดเห็นของนักลงทุนและนักวิเคราะห์จำนวน 345 รายจาก 24 ประเทศและอาณาเขตต่าง ๆ พบว่า นักลงทุนมองว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจที่พวกเขาลงทุน (71%) นำหน้ากฎระเบียบของภาครัฐ (64%) ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป (61%) และความไม่แน่นอนของห่วงโซ่อุปทาน (60%)
นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า นักลงทุนไม่ได้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง AI และพนักงาน โดย 74% ของผู้ตอบแบบสอบถามเรียกร้องให้ธุรกิจที่พวกเขาลงทุนหรือครอบคลุมการลงทุน พัฒนาทักษะของพนักงาน นอกจากนี้ 32% คาดหวังว่า AI จะนำไปสู่การเพิ่มจำนวนพนักงาน 5% ขึ้นไป ซึ่งเท่ากับสัดส่วนที่คาดว่าจำนวนพนักงานจะเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยหรือไม่เปลี่ยนแปลงเลย (31%)
นาย เวส บริคเกอร์ หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชีระดับโลก PwC ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า:
“นักลงทุนคาดหวังที่จะเห็นผลลัพธ์ที่แท้จริงจาก GenAI ในปีหน้า และตระหนักดีว่าการบรรลุเป้าหมายนี้จำเป็นต้องอาศัยการลงทุนในบุคลากรและการพัฒนาทักษะใหม่ควบคู่ไปกับเทคโนโลยี ในขณะที่ฝ่ายบริหารจะถูกตรวจสอบอย่างใกล้ชิดว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพจาก AI ได้อย่างไร รวมถึงสนับสนุนแนวทางที่ขยายขอบเขตไปไกลกว่าแค่ใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงวิธีการดำเนินธุรกิจ”
นักลงทุนมีมุมมองในแง่ดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก
การสำรวจพบว่า นักลงทุนมีมุมมองในแง่ดีอย่างระมัดระวังต่อเศรษฐกิจโลก โดยครึ่งหนึ่ง (51%) คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ใน 12 เดือนข้างหน้า โดยความกังวลด้านเศรษฐกิจมหภาคและเงินเฟ้อลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2565 (จาก 62% เหลือ 34% ในปี 2567 และจาก 67% เหลือ 31%) ในขณะเดียวกัน นักลงทุนแสดงความกังวลมากที่สุดในประเด็นเรื่องความเสี่ยงทางไซเบอร์ (36%) และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (36%) ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2566
เนื่องด้วยความเสี่ยงเหล่านี้ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่นักลงทุนส่วนใหญ่คำนึงถึง นักลงทุนเกือบเก้าในสิบ (86%) จึงเห็นพ้องต้องกันว่า ความสามารถของบริษัทในการดำเนินธุรกิจให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุนของพวกเขา ขณะที่ 60% เชื่อว่า เป็นเรื่องสำคัญมากหรือสำคัญมากที่สุดที่บริษัทต่าง ๆ จะต้องพิจารณารูปแบบธุรกิจใหม่เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของห่วงโซ่อุปทาน และ 68%กล่าวว่า บริษัทต่าง ๆ ควรเพิ่มการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงนี้
นักลงทุนจับตาการดำเนินการเกี่ยวกับผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ
นักลงทุนยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินการเกี่ยวกับผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ โดย 30% คาดหวังว่า บริษัทที่พวกเขาลงทุนจะมีความเสี่ยงสูงหรือสูงมากต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใน 12 เดือนข้างหน้า หรือเพิ่มขึ้นแปดจุดจากปี 2565 แม้ว่าจะลดลงสองจุดจากปี 2566
นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจ 75% ยังเห็นด้วยว่า พวกเขาจะเพิ่มการลงทุนในบริษัทที่ดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในระดับปานกลางหรือมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทที่ดำเนินการเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนผ่านการทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์และชุมชน (80%) เมื่อประเมินถึงแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของบริษัทต่าง ๆ นักลงทุนกล่าวว่า การกำกับดูแล (72%) และค่าใช้จ่ายด้านเงินทุนหรือการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง (68%) มีความสำคัญมากหรือมากที่สุด นอกจากนี้ 71%กล่าวด้วยว่า บริษัทต่าง ๆ ควรผนวกแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental,social and governance: ESG) และความยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์องค์กรโดยตรง ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2566
อย่างไรก็ดี รายงานระบุว่ายังคงมีความท้าทายอยู่มาก โดย 44% ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นพ้องว่ารายงานของบริษัทต่าง ๆ เกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมักมีคำกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนในระดับมากหรือมากที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในช่วงสองปีที่ผ่านมา จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ 73% จะเรียกร้องให้มีการเปิดเผยรายละเอียดในรายงานการตรวจสอบข้อมูลด้านความยั่งยืนในระดับที่เทียบเท่ากับการตรวจสอบรายงานทางการเงิน
นางสาว นาดจา พิคาร์ด ผู้นำด้านการรายงานระดับโลก PwC ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า: “นักลงทุนยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินการเกี่ยวกับผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ โดยให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ในประเด็นเกี่ยวกับการกำกับดูแล ผลกระทบทางการเงิน และความมุ่งมั่นของแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ด้วยเหตุนี้ บริษัทต่าง ๆ จึงควรผนวกประเด็นเรื่ิองความยั่งยืนไว้ในกลยุทธ์ของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะที่บรรดานักลงทุนพิจารณาถึงการเปิดเผยข้อมูลและการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเพื่อประเมินการดำเนินงานของบริษัท”
นักลงทุนมองไกลกว่างบการเงิน
นักลงทุนให้ความสำคัญกับข้อมูลหลากหลายประเภทนอกเหนือจากข้อมูลทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการกำกับดูแลกิจการ (40%) และนวัตกรรม (37%) นักลงทุนส่วนใหญ่ยังรายงานด้วยว่า พวกเขาพึ่งพาแหล่งข้อมูลหลายแหล่ง รวมถึงการสื่อสารที่เน้นไปที่นักลงทุน (61%) และการพูดคุยโดยตรงกับบริษัท (57%) ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มีนักลงทุนน้อยลงอย่างมาก (55%) เมื่อเทียบกับปี 2566 (66%) ที่รายงานว่า พวกเขาพึ่งพางบการเงินและการเปิดเผยหมายเหตุประกอบงบการเงินในระดับสูงหรือสูงมาก ทั้งนี้ ในขณะที่นักลงทุนมองหาข้อมูลเชิงคุณภาพมากขึ้น AI จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลที่บริษัทต่าง ๆ เผยแพร่ โดยรายงานระบุว่า เกือบสองในสาม (62%) กล่าวว่า AI ได้เพิ่มความสามารถในการดำเนินการดังกล่าวได้อย่างมากหรือปานกลาง
นาย กาซี อิสลาม ผู้นำด้านกลยุทธ์และการเติบโตด้านการตรวจสอบระดับโลก PwC ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า: “ข้อมูลที่เชื่อถือได้เป็นเส้นเลือดใหญ่ของตลาดทุน แต่กระแสข้อมูลที่แพร่หลายในปัจจุบันมีทั้งคุณและโทษ ผู้นำธุรกิจจึงต้องสื่อสารให้นักลงทุนรับทราบถึงสิ่งที่มีความสำคัญต่อธุรกิจของพวกเขา โดยเพิ่มความโปร่งใสและความสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาสร้างความเชื่อมั่นผ่านการสื่อสาร และในขณะที่ AI มีความสามารถในการคัดกรองข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณได้ง่ายขึ้น การสื่อสารอย่างสม่ำเสมอและมีประสิทธิภาพของผู้นำบริษัทจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง”
ด้านนาย พิสิฐ ทางธนกุล ประธานกรรมการบริหาร PwC ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า: “ในส่วนของนักลงทุนไทย พวกเขาก็มีความคาดหวังให้บริษัทที่พวกเขาลงทุนนำ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างรายได้ และผลกำไรไม่แตกต่างไปจากนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งผู้บริหารส่วนใหญ่เริ่มตระหนักแล้วว่าควรนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อขยายขีดความสามารถและสร้างความไว้วางใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น โดยในปัจจุบัน มีบริษัทไทยจำนวนไม่น้อยที่ลงทุนนำ AI มาใช้งานควบคู่ไปกับการยกระดับทักษะของพนักงาน และมีแนวโน้มที่จะยิ่งเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้านอกจากนี้ นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไปก็หันมาสนใจในเรื่องการลงทุนอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยจะศึกษาข้อมูลเหล่านี้ผ่านรายงานความยั่งยืนของบริษัท ซึ่งในปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนของไทยส่วนใหญ่มีการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ผ่าน One Report แต่มีบริษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่งที่เปิดเผยข้อมูลด้าน ESG และกระบวนการจัดการความเสี่ยงผ่านการจัดทำรายงานความยั่งยืนโดยเฉพาะ อย่างไรก็ดี การได้รับการตรวจสอบ ESG Assurance จากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับรายงานของบริษัทที่ได้ทำการเปิดเผยแก่นักลงทุน”
ข้อความถึงบรรณาธิการ:
เกี่ยวกับรายงานผลสำรวจ Global Investor Survey ประจำปี 2567 ของ PwC
เมื่อเดือนกันยายน 2567 PwC ได้สำรวจนักลงทุนและนักวิเคราะห์จำนวน 345 รายใน 24 ประเทศและอาณาเขต และสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจำนวน 14 ราย ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบัน ประกอบด้วยผู้จัดการ พอร์ตโฟลิโอ (21%) นักวิเคราะห์ (21%) และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน (23%) โดย 52% มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนี้มากกว่า 10 ปี การลงทุนของพวกเขาครอบคลุมหลายประเภทสินทรัพย์ วิธีการลงทุน และระยะเวลาการลงทุน ขณะที่สินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ขององค์กรมีตั้งแต่น้อยกว่า500 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปจนถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐหรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ 53% ของผู้ตอบแบบสอบถามมาจากองค์กรที่มี AUM รวมมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เกี่ยวกับ PwC
ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 149 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 370,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบ บริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.pwc.com
เกี่ยวกับ PwC ประเทศไทย
PwC ประเทศไทย ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 65 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรมากกว่า 1,800 คนในประเทศไทย