นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการบริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EP

EP มั่นใจ 3 โปรเจควินด์ฟาร์ม COD ในต้นปี 68 หลังเวียดนามเร่งเคลียร์ปัญหา โชว์ 9 เดือนปี 67 “ธุรกิจสิ่งพิมพ์-โรงไฟฟ้าสร้างรายได้ 696 ลบ. 

ยุทธ ชินสุภัคกุลบิ๊กบอส บมจ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (EP) ส่งสัญญาณดี 3โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมเวียดนามจ่อ COD ต้นปี 68 หลังเวียดนาม สั่งเร่งแก้ไขปัญหาภายในเดือน ม.ค.68 เผย 9 เดือนปี 67 รายได้รวมกว่า 696.79 ล้านบาท จากธุรกิจสิ่งพิมพ์-โรงไฟฟ้า สร้างกำไร-กระแสเงินสดเข้าบริษัทฯต่อเนื่อง แจง กำไร-ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนไม่กระทบผลการดำเนินงาน เหตุเป็นมาตรฐานการบันทึกรายการเงินลงทุนเงินตราต่างประเทศที่ต้องแปลงเป็นเงินบาท ณ วันสิ้นงวด 

นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการ บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (EP) เปิดเผยว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขอให้ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาส 3/2567 นั้น บริษัทฯ ขอชี้แจงข้อมูลเหตุผลและผลกระทบต่อสภาพคล่องจากกรณีโรงไฟฟ้า 3 แห่งไม่สามารถ COD ได้ตามกำหนดเวลา พร้อมทั้งอธิบายแผนการดำเนินธุรกิจและความคืบหน้าของโรงไฟฟ้าดังกล่าว และการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ดังนี้

การที่โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งไม่สามารถ COD ได้ตามกำหนดเวลานั้น ส่งผลทำให้บริษัทฯ ต้องมีการกู้ยืมเงินระยะสั้น (Bridging Loan) เป็นจำนวนมาก สำหรับการจ่ายคืนเงินต้นของหุ้นกู้ รุ่น EP239A (2 ปี) ที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 จำนวน 750.00 ล้านบาท และหุ้นกู้ รุ่น EP230A (2.5ปี) ที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 จำนวน 770.00ล้านบาท แต่บริษัทฯ สามารถออกหุ้นกู้ทดแทนได้เพียง 670.20 ล้านบาท จากการที่ตลาดหุ้นกู้ถูกกระทบอย่างรุนแรง ในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัทฯ ต้องมีภาระในจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ไตรมาสละ 49 ล้านบาท ตรงตามกำหนดมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดในการระดมเงินทุน หรือเงินกู้ จากสถาบันการเงิน ตลาดเงินและตลาดทุน ในปัจจุบันจึงได้ขอขยายระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ สำหรับหุ้นกู้รุ่น EP249A จำนวน 570.00 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน 14 กันยายน 2567 และหุ้นกู้รุ่น EP24DA จำนวน 367.90 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน 27 ธันวาคม 2567 ออกไปอีก 1 ปี นับจากวันที่ครบกำหนดไถ่ถอนเดิม และได้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ตามที่ระบุในข้อกำหนดสิทธิสำหรับระยะเวลาที่ขยายออกไป อีกร้อยละ 0.50 ต่อปี สำหรับหุ้นกู้ทั้ง 2 รุ่น

ในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน บริษัทฯ ยังคงมีรายได้จากธุรกิจสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ และรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าทั้งในประเทศไทย และประเทศเวียดนาม (โครงการ Huang Linh 3 กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์) โดยใน 9 เดือนแรกของปี 2567 มีรายได้จากการดำเนินงานรวม 696.79 ล้านบาท เป็นสัดส่วนของธุรกิจสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ร้อยละ 63 และจากธุรกิจไฟฟ้า ร้อยละ 37 ซึ่งธุรกิจดังกล่าว ยังมีการเจริญเติบโต สามารถสร้างผลกำไรจากการดำเนินงาน และกระแสเงินสดให้แก่บริษัทฯ ได้ในปัจจุบัน

สำหรับการขอ COD สำหรับโรงไฟฟ้าอีก 3 แห่ง มีความคืบหน้า คือ เมื่อวันที่ 12ธันวาคม 2567 นายกรัฐมนตรี Pham Minh Chinh แห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม  ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อประกาศและดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยนโยบายและแนวทางการแก้ไขอุปสรรคและปัญหาสำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียน ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานการประชุมได้เรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2568

ทั้งนี้ การบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทฯ ขอชี้แจงว่า ผลกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้น ไม่ส่งผลต่อการดำเนินงานของโครงการในเวียดนาม และต่อบริษัทฯ ในภาพรวมแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นมูลค่าการลงทุนในโครงการลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมในสกุลเงินตราต่างประเทศ (US Dollar) ที่จะต้องใช้อัตราปิด หรืออัตราแลกเปลี่ยน ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน เพื่อบันทึกเป็นเงินบาทตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 21 และมาตรฐานบัญชีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันสิ้นงวดที่ผ่านมา มีความผันผวนเป็นอย่างมาก จึงมีผลกำไร หรือ ขาดทุน จากอัตราแลกเปลี่ยน ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง (Unrealized Gain or Loss) ซึ่งไม่ได้ส่งผลต่อการดำเนินกิจการในแต่ละวันเลย

ส่วนวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมเงินจากธนาคารในเวียดนาม 870 ล้านบาท สำหรับโครงการ HL3 นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปจ่ายให้แก่ผู้รับเหมาโครงการจำนวนประมาณ 130 ล้านบาท เมื่อการเพิ่มทุนครั้งที่ 1 แล้วเสร็จ สำหรับเงินกู้ส่วนที่เหลือ 740 ล้านบาท จะเป็นการชำระคืนเงินกู้ผู้ถือหุ้นจากต่างประเทศ (Offshore Shareholder Loan) เพื่อจะนำมาเป็นเงินทุนในการจัดการปัญหาสภาพคล่องของบริษัทฯ โดยจะสามารถเบิกงวดแรกได้ประมาณ 350 ล้านบาท เมื่อเงื่อนไขบังคับก่อนเรื่องการเพิ่มทุนครั้งที่ 2 แล้วเสร็จ และงวดที่ 2 เมื่อสามารถบรรลุข้อตกลงกับทาง EVN เรื่องการกำหนดราคาค่าซื้อไฟฟ้า (Final FIT) แล้วเสร็จ โดยขั้นตอนในการคืนเงินกู้ให้แก่ผู้ถือหุ้นที่อยู่ต่างประเทศ (Offshore Shareholder Loan) ดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดใหม่ของธนาคารกลางเวียดนาม (State Bank of Vietnam: SBV) (Circular 08/2566/TT-NHNN on June 30, 2567 ) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2566  ซึ่งคาดว่าการเบิกเงินกู้เพื่อคืนเงินกู้ผู้ถือหุ้นจากต่างประเทศจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนมีนาคม 2568

นอกจากนี้ การกู้ยืมเงินจากบริษัท เพียร์ ฟอร์ ยู จำกัด (มหาชน) (PEER) รายการดังกล่าว เป็นการชำระคืนเงินมัดจำให้แก่ PEER โดยอ้างอิงตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการชำระคืนเงินมัดจำ ค่าปรับ และค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบสถานะกิจการ

- Advertisement -