“วิษณุ – ศิริญา เทพเจริญ” อดีตผู้บริหาร NUSA เดินทางมาศาลอาญา ในคดีบริษัท ธนา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง ฟ้องความผิดตามพรบ.หลักทรัพย์ฯ กรณีขายโครงการบ้านจัดสรรฯ ในราคาต่ำกว่าประเมิน โดยไม่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ จำเลยปฏิเสธ ศาลฯนัดสืบพยานเพิ่มเติมธ.ค. 68

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา นายวิษณุ เทพเจริญ พร้อมด้วยนางศิริญา เทพเจริญ อดีตผู้บริหารและกรรมการ บริษัท ณุศาศิริ  (NUSA) หรือชื่อใหม่ “สเตลล่า เอ็กซ์ (STELLA)  ได้เดินทางมาศาลอาญา รัชดา ในความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เป็นคดีดำหมายเลข อ.590/2567 โดยมีบริษัท ธนา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง ผู้ถือหุ้นใหญ่ NUSA เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอดีตผู้บริหารและกรรมการรวม 3 คนเป็นจำเลย

นางศิริญา เดินทางมาศาลอาญา  เวลาประมาณ 08.45 น. เพื่อร่วมประชุมคดี สอบคำให้การจำเลย และตรวจพยานหลักฐาน พร้อมกับให้สัมภาษณ์สั้น ๆ ว่า ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา และยังมีอีกหลายคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ พร้อมกับเดินทางออกจากศาลอาญา ในเวลา 11.45 น. ขณะที่ศาลได้นัดสืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยเพิ่มเติม ในเดือนธันวาคม 2568

สำหรับคดีดังกล่าวศาลรับฟ้องเป็นคดีอาญาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 โดยบริษัท ธนา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ได้ยื่นฟ้องนายวิษณุ นายสมพิจิตร และนางศิริญา ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ ได้นำโครงการบ้านกฤษณา – พระราม 5 ซึ่งเป็นทรัพย์สินของ NUSA ไปขายให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง ที่มีน้องสาวต่างบิดาของนางศิริญาเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการ ในราคาต่ำกว่าราคาประเมิน และได้รับชำระเงินจากการขายเข้ามาเพียง 50% แต่ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อจนแล้วเสร็จ โดยไม่ได้รายงานรายละเอียดในการทำธุรกรรมครั้งนี้ให้บริษัททราบอย่างครบถ้วน ทั้งที่เป็นรายการเกี่ยวโยงกันตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ภายใต้พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยังได้กล่าวโทษอดีตกรรมการ ผู้บริหาร NUSA และพวกรวม 6 ราย ซึ่งรวมทั้งนายวิษณุ และนางศิริญา ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีธุรกรรมการเข้าลงทุนซื้อโรงแรมที่ต่างประเทศในราคาไม่สมเหตุสมผลอย่างมีนัยสำคัญ ธุรกรรมการขายห้องชุดของ NUSA ในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมิน รวมทั้งการผ่องถ่ายเงินจาก NUSA เข้าบัญชีส่วนตัวและบุคคลใกล้ชิด และกรณีการแสดงเอกสารและข้อมูลเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และ/หรือ ก.ล.ต. และผู้สอบบัญชี

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เรียกให้บริษัทชี้แจงประเด็นดังกล่าวซึ่ง NUSA ได้ทำหนังสือลงวันที่ 30 พ.ย. 2566 ลงนามโดยนายวิษณุ ชี้แจงว่าบริษัทฯ ได้ทำธุรกรรมดังกล่าวจริง แต่อ้างว่าเป็นธุรกรรมที่มีข้อตกลงไว้ก่อนผู้ถือหุ้นใหญ่จะเข้ามา แต่จากการตรวจสอบพบว่าเข้าข่ายรายการเกี่ยวโยงกัน โดยไม่ได้ขออนุมัติจากคณะกรรมการตรวจสอบตามขั้นตอน และราคาขายอาจไม่สมเหตุสมผล คณะกรรมการตรวจสอบจึงมีมติไม่อนุมัติธุรกรรมดังกล่าว ทั้งยังมีมติให้ฝ่ายบริหารซื้อทรัพย์สินคืนกลับมา แต่ปรากฏว่าจนถึงปัจจุบันกรรมการทั้ง 3 ราย ยังไม่ได้ดำเนินการซื้อทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาแต่อย่างใด

- Advertisement -