หลังการประกาศผลประกอบการปี 2567 ของ เอสซีจีไม่เพียง การรักษากระแสเงินสดและการสร้างสุขภาพองค์กรให้แข็งแรงซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารธุรกิจที่เอสซีจีกำลังดำเนินการอยู่ ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญ อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าจับตา คือ การเร่งรุกตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูงโดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตสูง การเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจ พร้อมการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง สร้างมูลค่าเพิ่มได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ย้ำถึงจุดยืนในการดำเนินธุรกิจว่า ปี 2568 นี้ เอสซีจีจะยังคงมุ่งขับเคลื่อนองค์กรฝ่าความท้าทายรอบด้าน ด้วยการสร้างสุขภาพองค์กรให้แข็งแรง และการเร่งรุกตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูง

“เอสซีจี มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า พร้อมเร่งมองหาโอกาสในตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นตลาดอาเซียนที่กำลังเป็นดาวรุ่งที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจมาแล้วหลายปี เนื่องจากเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภคในประเทศนั้น ๆ รวมทั้งเป็นโอกาสในการส่งออกไปยังประเทศและภูมิภาคอื่น ๆ ขณะเดียวกันยังเดินหน้าสร้างการเติบโตต่อในตลาดใหม่ ๆ อย่างสหรัฐอเมริกาที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของโลก ทวีปยุโรปที่เป็นตลาดสำคัญของสินค้ารักษ์โลก และภูมิภาค SAMEA ที่มีค่า GDP เฉลี่ยมากกว่า 70% และมีประชากรรวมกันมากกว่า 40% ของโลกด้วย”

อาเซียน ภูมิภาคดาวเด่นที่น่าจับตา

กลุ่มประเทศอาเซียนถือเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ตามที่ ‘ธนาคารพัฒนาเอเชีย’(Asian Development Bank – ADB) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของอาเซียนในปี 2568 จากเดิม 4.5% เป็น 4.7% โดยเฉพาะ ‘เวียดนาม’ ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 7-8% จากรัฐบาลที่ผลักดันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDI) และแรงสนับสนุนจากกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่ ‘อินโดนีเซีย’ ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 5-6% ก็เป็นอีกตลาดขนาดใหญ่ที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง อย่างแผนจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างเมืองหลวงใหม่ ‘นูซันตารา’ ทำให้ทั้ง 2 ประเทศมีแนมโน้ม GDP เติบโตกว่าค่าเฉลี่ยโลก

เอสซีจี จึงให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนอย่างมาก เห็นได้จากสินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ที่กว่า 46% เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน (นอกเหนือจากไทย) โดยเฉพาะในเวียดนามและอินโดนีเซีย ที่ถือเป็นเรือธงของกลยุทธ์สร้างการเติบโตของเอสซีจี เพราะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจข้างต้น ย่อมนำมาซึ่งแนวโน้มความต้องการสินค้าบริการที่มากขึ้นตามไปด้วย 

กลุ่มเคมิคอลส์ : รุก HVA ควบคู่บริหารต้นทุนแข็งแกร่ง

แม้ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในภูมิภาคจะมีการแข่งขันรุนแรงขึ้นจากกำลังการผลิตใหม่ ๆ แต่กลุ่มเคมิคอลส์โดย ‘SCGC’ หรือ ‘SCG Chemicals’ ผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ครบวงจรระดับภูมิภาค ก็ได้เร่งผลักดันนวัตกรรมมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) รวมทั้งการบริหารจัดการกระแสเงินสด ต้นทุน และเงินทุนหมุนเวียนอย่างระมัดระวัง เพื่อให้ธุรกิจคงความสามารถในการแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะการดำเนินโครงการ ‘Long Son Petrochemicals (LSP)’ โครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในเวียดนาม เพื่อผลิตสินค้าป้อนสู่ตลาดเวียดนามและส่งออกไปยังต่างประเทศ ที่ล่าสุด ได้เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลกในระยะยาว พร้อมช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ด้วยการ ‘เพิ่มวัตถุดิบก๊าซอีเทน’ โดยทำสัญญาจัดหาวัตถุดิบก๊าซอีเทนระยะยาวเป็นผลสำเร็จ ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี เป็นเวลา 15 ปี และเช่าเหมาเรือขนส่งก๊าซอีเทนระยะยาวแล้ว 3 ลำ ส่วนอีก 2 ลำกำลังเร่งดำเนินการ พร้อมสร้างถังเก็บและปรับปรุงโรงงานให้พร้อมรับก๊าซอีเทนได้ภายในปี 2570โดยโครงการนี้ใช้แหล่งเงินทุนภายในเอสซีจี

กลุ่มแพคเกจจิ้ง : ขยายสินค้าที่เติบโตตามผู้บริโภค เพิ่มความร่วมมือระหว่างธุรกิจ

ขณะที่กลุ่มแพคเกจจิ้งโดย ‘SCGP’ มีสินค้าหลากหลายที่ทำตลาดในอาเซียน อาทิ กระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์กระดาษและพอลิเมอร์ และบรรจุภัณฑ์อาหาร เนื่องจากตลาดภายในประเทศในอาเซียนมีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภค ส่งผลให้ยังรักษาความเป็นผู้นำส่วนแบ่งตลาดบรรจุภัณฑ์ในอาเซียนได้

SCGP มีการเพิ่มศักยภาพการให้บริการบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในอาเซียน ผ่านการควบรวมกิจการ (Merger & Partnership) และการขยายธุรกิจ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ทั้งกระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์กระดาษและพอลิเมอร์ และบรรจุภัณฑ์อาหาร และผสานความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างบริษัท (Integration) ด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี การขยายฐานลูกค้า และจัดหาวัตถุดิบ เพื่อยกระดับขีดความสามารถการดำเนินงาน อย่างการร่วมทุนกับ ‘Fajar’ ผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกในอินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีตลาดแข็งแกร่งและมีศักยภาพที่จะมุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจระดับโลก

นอกจากนี้ ยังมีการร่วมทุนกับ ‘Starprint Vietnam JSC’ ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษแบบพับได้ (Offset Folding Carton) และแบบคงรูป (Rigid Box) คุณภาพสูงในเวียดนาม ที่มีฐานลูกค้าหลักเป็นบริษัทระดับชาติและระดับโลก รวมทั้ง ‘Duy Tan’ ผู้ผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์แบบคงรูป (Rigid Packaging) ชั้นนำและสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ในบ้าน เช่น อุปกรณ์และภาชนะบรรจุอาหาร ฯลฯ ที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

อีกทั้งยังมีการพัฒนานวัตกรรมสินค้าเพื่อรุกตลาดต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มโอกาสเข้าตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูงอย่าง Healthcare Supplies ด้วยการลงทุนใน ‘บริษัทวีอีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ VEM-TH’ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กลยุทธ์สร้างการเติบโตในธุรกิจบรรจุภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์สำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการ ที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นด้วย

กลุ่มซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง : เดินหน้าสินค้ารักษ์โลก ตอบความต้องการคุณภาพ ราคาดี

ด้านสินค้าของเอสซีจีในกลุ่มซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ก็ได้รับปัจจัยบวกที่ดีจากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะ ‘ปูนคาร์บอนต่ำ’ ที่เอสซีจีได้เปิดตัวเป็นรายแรกในเวียดนาม ขณะที่ปูนซีเมนต์แบรนด์ท้องถิ่น (Local Brand) เช่น แบรนด์ ‘BEZT’ ในอินโดนีเซีย หรือ ‘ADAMAX’ ในเวียดนาม ที่คุณภาพและราคาเหมาะสม ก็สามารถทำตลาดตอบโจทย์ลูกค้าได้ครอบคลุมมากขึ้น

ส่วนธุรกิจร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างก็มีแนวโน้มเติบโต ‘SCG Distribution and Retail’ จึงมีแผนขยายสาขาร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง ‘Mitra10’ ในอินโดนีเซีย จากปัจจุบัน 56 สาขา เป็น 100 สาขา ภายในปี 2573 และ ‘SCGD’ หรือ ‘SCG Décor’ ยังเปิดร้านขายกระเบื้องเซรามิกและสุขภัณฑ์ ‘V-Ceramic’ ที่ภาคใต้ของเวียดนาม รวมทั้งเดินหน้าก่อสร้างโครงการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูงอย่างกลุ่มกระเบื้องพอร์ซเลน ที่มีจุดเด่นด้านความสวยงาม แข็งแรง เป็นที่นิยมในเวียดนามด้วย

นอกจากนี้ ‘SCGJWD’ ยังเข้าไปเชื่อมต่อด้านโลจิสติกส์ โดยนอกจากบริการขนส่งและจัดเก็บสินค้าทั่วไปแล้ว ยังขยายบริการคลังสินค้าห้องเย็น จัดเก็บ และขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิทั่วอาเซียนเพื่อรองรับการเติบโตของภูมิภาคนี้อีกด้วย

 “เอสซีจี เชื่อมั่นว่าการปรับตัวและขยายสู่ตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนนี้ จะทำให้ศักยภาพการแข่งขันในปี 2568 ของเอสซีจีแข็งแกร่ง และสู้กับความท้าทายต่าง ๆ พร้อมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนได้” นายธรรมศักดิ์ กล่าวปิดท้าย

แม้การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันจะมีความท้าทายหลายด้าน แต่องค์กรที่สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อย่างการขยายไปยังตลาดใหม่ ๆ ของเอสซีจี จะไม่เพียงช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาวอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนให้กับองค์กร แต่ยังช่วยยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจให้สามารถสร้างคุณค่าให้กับเศรษฐกิจ ผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อมในทุกประเทศที่เข้าไปดำเนินกิจการได้อย่างแน่นอน

- Advertisement -