บล.ฟินันเซีย ไซรัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน 27/03/68

ทรัมป์เก็บภาษีรถยนต์ 25% กดดันตลาดทั่วโลก
ตลาดหุ้นวานนี้ : SET Index ภาพรวมแกว่งในแดนบวกได้ตลอดทั้งวัน ก่อนปิดบวก 5.43 จุด ที่ระดับ 1,190.36 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ยังเบาบางเพียง 2.7 หมื่นลบ. อย่างไรก็ตามกาปรรับตัวค่อนข้างผสมผสาน หนุนโดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ค้าปลีก แต่ถ่วงโดยกลุ่มปิโตรเคมี การแพทย์ เป็นต้น สถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นบางๆ 287 ลบ.และ 182 ลบ. ตามลำดับ (แต่ต่างชาติพลิกมา Long Index Futures สุทธิถึง 1.4 หมื่นสัญญา)

แนวโน้มตลาดวันนี้ : เราคาด SET Index จะพลิกมาปรับตัวลดลงโดยมีแนวรับสำคัญระยะสั้นบริเวณ 1,180+- จุด ถูกกดดันหลังทรัมป์การประกาศเก็บภาษีรถยนต์ที่นำเข้าสหรัฐฯ 25% โดยจะมีผลวันที่ 2 เม.ย. และเริ่มเก็บภาษีวันที่ 3 เม.ย. ส่งผลให้เม็ดเงินไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง นอกจากนี้ยังต้องจับตาสัปดาห์หน้าว่าการประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของทรัมป์ในวันที่ 2 เม.ย. จะมีสินค้าใดเพิ่มเติมหรือเฉพาะเจาะจงที่ประเทศใดบ้าง รวมถึงเป็นเกิดเปิดทางให้เกิดการเจรจาการค้าระดับทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯและประเทศต่างๆมากน้อยเพียงใด ด้านตัวเลขเศรษฐกิจยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ก.พ. สหรัฐฯโดยรวมออกมาดีกว่าที่คาด และรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อ PCE เดือน ก.พ. คืนวันศุกร์

สำหรับไทยส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนไปยังสหรัฐฯปีละราว US$1.9 พันล้าน คิดเป็นสัดส่วนราว 3.5% ของการส่งออกไปสหรัฐฯซึ่งไม่สูงนักและราว 80% เป็นการส่งออกชิ้นส่วน ด้านการประชุมครม.วันนี้จับตาว่าจะมีการเคาะมาตรการทั้งภาคอสังหาฯและท่องเที่ยวหรือไม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง Low Season หลังสงกรานต์ รวมถึงร่าง พ.ร.บ. Entertainment Complex โดยรวมระยะสั้นคาดหุ้นในกลุ่มสินค้าบริการจำเป็นคาดว่าจะเคลื่อนไหวได้แข็งแรงกว่ากลุ่มอื่นๆท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ยังเน้น Selective Buy

กลยุทธ์ : ยังเน้น Selective Buy หุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ที่มีแนวโน้มกำไร 1Q25-2025 แข็งแกร่งและ Valuation ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดอย่างมีนัยยะ

หุ้นเด่นเดือน มี.ค. : BA, BTG, CPALL, MTC, PR9

FSSIA Portfolio : BA, BBL, BTG, CPALL, MTC, NSL, PR9, SEAFCO, SHR

หุ้นเด่นวันนี้ : NSL
• แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 43 บาท
• ระยะสั้นคาดกำไร 1Q25 แข็งแกร่งและมี Catalyst บวกจากแซนวิชใหม่ที่ Collab กับเนื้อแท้ซึ่งการตอบรับค่อนข้างดีมาก บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2025 โต 16-17% y-y หนุนจากทั้งสินค้าเดิมและใหม่ รวมถึงกค้าใหม่ยังเข้ามามากขึ้น และจะเห็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในโรงงานผลิตชีส ที่เพิ่งเริ่ม Operate 4Q24 ขณะที่กลุ่มน้ำมะพร้าว/น้ำผลไม้ส่งออก จะถูกรวมรายได้เข้ามาเต็มปี
• สมมติฐานรายได้ปี 2025 ของเราคาดไว้ +14% และกำไรสุทธิปี 2025 ที่ 600 ลบ. ถือว่า conservative และมี Upside ปัจจุบันราคาเทรด PER ไม่แพงเพียง 15 เท่า
• แนวรับ 29//27.75-27.50 บาท แนวต้าน 30.50//32 บาท

Fund Flow : วานนี้กระแสเงินทุนต่างชาติพลิกมาไหลเข้าภูมิภาคสุทธิ US$376 ล้าน เม็ดเงินไหลเข้าสูงสุดที่เกาหลีใต้ US$282 ล้าน ตามด้วยอินโดนีเซียที่ฟื้นตัวแกร่ง US$155 ล้าน ส่วนประเทศอื่นๆทั้งไต้หวันและอาเซียนไหลออกบางๆประเทศละ US$5-20 ล้าน แนวโน้มกระแสเงินทุนวันนี้คาดมีโอกาสพลิกมาไหลออกหลังทรัมป์ประกาศเก็บภาษีรถยนต์ 25% ที่นำเข้าสหรัฐฯ ส่งผลให้เม็ดเงินไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง

ประเด็นสำคัญวันนี้
(0) กลุ่มโรงไฟฟ้า กกพ. สรุปผลการรับฟังความเห็นการปรับค่าไฟฟ้าสำหรับงวด พ.ค. – ส.ค. 2025 พบว่าประชาชนเห็นด้วยกับแนวทางการตึงค่าไฟฟ้าต่อหน่วยไว้อยู่ที่ 4.15 บาท เท่ากับที่เรียบเก็บในงวดปัจจุบัน โดยตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดปัจจุบันที่ 36.72 สตางค์/หน่วย และทะยอยชำระคืนภาระต้นทุนคงค้างสะสมบางส่วนให้กับ กฟผ. ประมาณ 20.33 สตางค์/หน่วย ซึ่งเป็นไปตามที่เราและตลาดคาด อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะเป็นคนเคาะราคาสุดท้ายเดือนหน้า หากรัฐบาลยังคงมีนโยบายลดค่าไฟ รัฐบาลจะยังสามารถกดค่าไฟฟ้าต่ำกว่านี้ได้อีก 5-20 สตางค์/หน่วย โดยการปรับลดการจ่ายคืนต้นหนี้ของ กฟผ. อย่างไรก็ดีหากเป็นกรณีที่ตรึงค่าไฟฟ้าไว้เท่าเดิมก็จะมีผลกระทบต่อโรงไฟฟ้า SPP จำกัด แต่ดีกว่าสมมติฐานในประมาณการของเราในหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะ GPSC และ BGRIM เรายังให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มนี้เพียง Neutral

(-) ITC คาดกำไรสุทธิ 1Q25 ที่ 680 ลบ. -14% q-q, -17% y-y ต่ำกว่าที่เคยคาด แม้จะมีคำสั่งซื้อเข้ามาราว 98% ของเป้ารายได้ใน 1Q25 แต่ยังไม่สามารถส่งมอบได้ทั้งหมด แนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้น 1Q25 น่าจะอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ราว 25.2% จาก 25.5% ใน 4Q24 จากรายได้ที่ปรับลงและต้นทุนปลาทูน่าปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งค่าใช้จ่ายโดยรวมยังสูงและคาดจะเริ่มรับรู้ภาษีจ่ายที่สูงขึ้น แม้แนวโน้มรายได้ 1Q25 ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่บริษัทยังคงเป้ารายได้ปี 2025 เติบโต 13-15% y-y เรายังคงคาดกำไรสุทธิปี 2025 ที่ 3.56 พันลบ. ทรงตัว y-y เริ่มดูมี downside เล็กน้อยหากการฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปีช้ากว่าคาด ปรับคำแนะนำเป็น “ถือ”

(-) ตลาดดาวโจนส์ ลดลง 132.71 จุด หรือ -0.31%, ปิดที่ 42,454.79 จุด นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้า โดยล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ในอัตรา 25%

(-) ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลง โดยได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มเฮลท์แคร์ ขณะที่นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ที่มีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 2 เม.ย.นี้

(-) ตลาดหุ้นเอเชียเปิดลบตามทิศทางตลาดสหรัฐฯ หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ในอัตรา 25%

(-) ค่าเงินบาทอ่อนค่าอยู่ที่บริเวณ 33.98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 0.50%

(+) ราคาน้ำมันดิบ NYMEX เพิ่มขึ้น 65 เซนต์ หรือ 0.94% ปิดที่ 69.65 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยได้ปัจจัยหนุนจากสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว รวมทั้งการคาดการณ์ที่ว่าอุปทานน้ำมันในตลาดโลกจะเผชิญภาวะตึงตัวหลังจากสหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรกับประเทศที่ซื้อน้ำมันและก๊าซจากเวเนซุเอลา ในขณะที่เช้านี้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 69.73 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือ 0.11%

(-) ราคาทองคำ COMEX ลดลง 3.40 ดอลลาร์ หรือ 0.11% ปิดที่ 3,052.30 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเป็นปัจจัยกดดันตลาด อย่างไรก็ดี ราคาทองคำยังคงเคลื่อนไหวที่เหนือระดับ 3,000 ดอลลาร์ เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษีศุลกากรของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้นักลงทุนบางส่วนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ในขณะที่เช้านี้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 3,054.70 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ 0.08%
SPDR Gold Trust ถือครองทองคำ 929.36/-

ปัจจัยที่ต้องติดตาม
27 มี.ค.
สหรัฐ: 4Q24 GDP Growth rate (รอบสุดท้าย)
28 มี.ค.
สหรัฐ: Core PCE (ก.พ.) // อังกฤษ: ค้าปลีก (ก.พ.)
ฝรั่งเศส: เงินเฟ้อ (มี.ค.)
31 มี.ค.
สหรัฐ: NBS Manufacturing PMI (มี.ค.)
ฝรั่งเศส: เงินเฟ้อ (มี.ค.)
1 เม.ย.
ยูโรโซน: เงินเฟ้อ (มี.ค.) // จีน: Caixin Manufacturing PMI (มี.ค..) // สหรัฐ: ISM manufacturing (มี.ค.)
2 เม.ย.
ยูโรโซน: ECB Consumer Inflation Expectation (ก.พ.)
สหรัฐ: ยอดขายรถยนต์ (มี.ค.)

- Advertisement -