บล.กสิกรไทย:
กลุ่ม Electronic: การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์เดือนก.พ.เติบโต
- ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ การส่งออกภาคอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนก.พ.เติบโต 22% YoY และ 4% MoM อยู่ที่ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- การเติบโตมาจากอุปสงค์การสต๊อกสินค้าก่อนการประกาศขึ้นภาษี มีมุมมองเชิงบวกต่อ KCE และ SVI ขณะที่เป็นกลางต่อ DELTA และ HANA
- คงมุมมองเป็นกลางต่อกลุ่มธุรกิจ เรามองว่ามีปัจจัยหนุนจำกัดในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ขณะที่นโยบายภาษีตอบโต้ของสหรัฐอาจเป็นความเสี่ยงต่อการส่งออก
Highlights
- การส่งออกในภาคอิเล็กทรอนิกส์เดือนก.พ.เติบโต ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ มูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในเดือนก.พ. 2568 อยู่ที่ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 22% YoY และ 4% MoM การเติบโตเกิดขึ้นในหลายกลุ่ม ยกเว้นเซมิคอนดักเตอร์และพาวเวอร์ซัพพลาย หากพิจารณาตามปลายทาง การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปยังทุกประเทศขยายตัว YoY แต่ในเชิง MoM มีการเติบโตเฉพาะตลาดไต้หวันและจีน ซึ่งได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์การสต๊อกสินค้าก่อนที่สหรัฐฯ จะประกาศใช้มาตรการภาษีตอบโต้ในเดือนเม.ย.
- การส่งออกแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์เริ่มฟื้นตัว การส่งออกแผงวงจรพิมพ์ (PCB) อยู่ที่ 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 21% YoY และ 16% MoM ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 28 เดือน ขณะที่การส่งออกแผงวงจรพิมพ์ประกอบชิ้นส่วน (PCBA) อยู่ที่ 816 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 25% YoY และ 4% MoM
- การส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ยังคงอ่อนแอ การส่งออกเซมิคอนดักเตอร์อยู่ที่ 218 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 46% YoY แต่เพิ่มขึ้น 10% MoM จากฐานที่ต่ำ อย่างไรก็ตามการส่งออกยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีอยู่ 19% เนื่องจากความต้องการชิปในหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากศูนย์ข้อมูลและ AI ยังคงอ่อนแอ นอกจากนี้การส่งออกพาวเวอร์ซัพพลายอยู่ที่ 409 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทรงตัวทั้ง YoY และ MoM
- มุมมองต่อหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ไทย จากตัวเลขที่ออกมา เรามองเป็นบวกต่อ KCE และ SVI จากการส่งออกแผงวงจรที่ดีขึ้น เรามีมุมมองเป็นกลางต่อ DELTA และ HANA จากการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ที่ยังไม่ฟื้นตัวและการส่งออกพาวเวอร์ซัพพลายที่ทรงตัว
- มีความเสี่ยงจากมาตรการภาษีตอบโต้ จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าหากไทยถูกขึ้นภาษี 10% สำหรับสินค้าที่ส่งออกหลักไปยังสหรัฐฯ เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์การแพทย์ ฯลฯ จะกระทบต่อการส่งออกโดยรวมในปี 2568 ราว 0.5-1.0% เราเชื่อว่าประเด็นนี้เป็นปัจจัยลบต่อกลุ่มธุรกิจ
มุมมอง KS
- คงมุมมองเป็นกลางต่อกลุ่มธุรกิจ เราคงมุมมองเป็นกลางต่อกลุ่ม เนื่องจากเราเห็นว่าปัจจัยลบที่กดดันราคาหุ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 มีมากกว่าปัจจัยบวก
- เราเชื่อว่ากำไรของบริษัทส่วนใหญ่ในไตรมาส 1/2568 อาจทรงตัวหรืออ่อนแอลง YoY จากอุปสงค์ที่ยังอ่อนแอต่อเนื่องจากครึ่งหลังของปี 2567 ประกอบกับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่แต่ละบริษัทยังมีประเด็นเฉพาะตัวที่อาจกระทบต่อการเติบโตของกำไรด้วย