KS Daily View 16.04.2025 >>> คาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้น หลัง Tariffs ผ่อนคลายลงชั่วคราว กรอบ SET วันนี้ที่ 1,120 – 1,150 หุ้นแนะนำ CPF, AURA

แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศวันนี้: คาดตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้แกว่งตัวในกรอบ 1,110-1,160 จุด โดยแนวโน้มหลักยังเป็นขาลง แต่ระยะสั้นมีโอกาสฟื้นตัวหลังปรับลงมามากจากความกังวลเรื่องสงครามการค้า เนื่องจากทรัมป์ประกาศเลื่อนการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าแบบตอบโต้ออกไป 90 วัน เปิดโอกาสให้ประเทศคู่ค้าเจรจาหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง กลุ่มที่ปรับตัวลงแรงก่อนหน้าจึงมีโอกาสรีบาวด์ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวกับการส่งออกและอุปสงค์ต่างประเทศ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ (DELTA KCE HANA) ซึ่งทรัมป์ประกาศยกเว้นภาษีให้กับสินค้าโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ และชิป รวมถึงกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง (AAI ITC) นิคมอุตสาหกรรม (AMATA WHA) พลังงาน (PTTEP BANPU TOP) และปิโตรเคมี (PTTGC IVL SCC)

อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้าบรรยากาศการลงทุนยังผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของท่าทีทรัมป์ที่เปลี่ยนไปมาได้รวดเร็ว นักลงทุนสามารถซื้อเก็งกำไรกลุ่มส่งออกได้ แต่แนะนำเก็งกำไรระยะสั้นเท่านั้น โดยเฉพาะในสัปดาห์นี้เป็นช่วงวันหยุดยาว สภาพคล่องตลาดน้อย ทำให้ดัชนีและราคาหุ้นรายตัวอาจปรับขึ้นลงแรงกว่าปกติ นอกจากนี้ช่วงปลายเดือน เม.ย. ถึง พ.ค. หุ้นขนาดใหญ่หลายกลุ่มจะขึ้น XD จ่ายปันผล และเข้าสู่ช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/2568 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูงสุด

แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศวันนี้: ประเมินตลาดหุ้นไทยวันนี้ ปรับตัวขึ้นตาม Sentiment เชิงบวกจากนโยบาย Tariffs ที่ผ่อนคลายลงชั่วคราว หลังทรัมป์มีท่าทีผ่อนผันภาษีในสินค้ากลุ่มเทคจากจีน และกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์อาจช่วยให้กลุ่มส่งออกได้รับ Sentiment เชิงบวก แม้จะมีความไม่แน่นอนของการบังคับใช้ภาษีรออยู่ก็ตาม และติดตามการรายงานผลประกอบการของ TISCO และ TTB สำหรับหุ้นแนะนำสัปดาห์นี้เราเลือกหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตเชิง YoY, QoQ ใน 1Q25 BANPU AURA CPF OR

ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:

  1. ช่วงสุดสัปดาห์ทรัมป์ได้ประกาศยกเว้นภาษีนำเข้า 125% สำหรับสินค้าจากจีนและ 10% จากประเทศอื่นๆ ชั่วคราวสำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยอดนิยม เช่น iPhone, MacBook และชิป แต่ต่อมาได้ชี้แจงว่าเป็นเพียงการย้ายสินค้าเหล่านี้ไปอยู่ในกลุ่มภาษีเฉพาะอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีการประกาศอัตราใหม่ใน 1-2 เดือนข้างหน้า โดยคาดว่าจะต่ำกว่า 125% แต่ขณะนี้ยังต้องเสียในอัตราภาษี 20% ตามกลุ่ม Fentanyl tariffs อยู่ ส่งผลให้หุ้นบริษัทเทคโนโลยีได้รับผลกระทบเชิงบวกในระยะสั้น แต่ยังมีความเสี่ยงในอนาคตอันใกล้
  2. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวว่าเขากำลังพิจารณาช่วยเหลือบริษัทผลิตรถยนต์ที่ต้องใช้เวลาในการย้ายสายการผลิตจากต่างประเทศกลับมายังสหรัฐฯ โดยแม้ว่าเขาจะเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป 25% ไปแล้วตั้งแต่ 3 เม.ย. แต่เขาอาจผ่อนผันภาษีชิ้นส่วนรถยนต์ซึ่งจะเริ่มมีผลในวันที่ 3 พ.ค. เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อซัพพลายเชน ท่าทีของทรัมป์ครั้งนี้ส่งผลเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมในระยะสั้น แต่ยังสร้างความไม่แน่นอนต่อทิศทางนโยบายการค้าระยะยาว
  3. โอเปกได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของความต้องการน้ำมันโลกครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธันวาคม โดยอ้างถึงผลกระทบจากข้อมูลไตรมาสแรกและการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในรายงานประจำเดือน โอเปกระบุว่าความต้องการน้ำมันโลกจะเพิ่มขึ้น 1.30 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2025 และ 1.28 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2026 ซึ่งทั้งสองตัวเลขลดลง 150,000 บาร์เรลต่อวันจากประมาณการเดือนก่อน นอกจากนี้ยังได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้เหลือ 3.0% จาก 3.1% และปีหน้าเหลือ 3.1% จาก 3.2% เนื่องจากความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของทรัมป์
  4. คณะผู้เจรจาของไทยเตรียมเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อเจรจาลดผลกระทบจากมาตรการภาษี โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง จะนำคณะไปพบนักธุรกิจที่ซีแอตเทิลในวันที่ 17 เมษายน ตามด้วย รมว.พาณิชย์ที่จะร่วมเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ ที่วอชิงตัน ดี.ซี. ในวันที่ 21 เมษายน ภายใต้ 5 แนวทางหลัก ได้แก่ การเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจ การเปิดตลาดและลดภาษี การเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯ การเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าส่งออก และการส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ
  5. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เตรียมปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2568 จากผลกระทบของแผ่นดินไหวและภาษีนำเข้าของทรัมป์ที่มีต่อไทย 36% โดยนายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาค ระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงเหลือ 2.8% จาก 3.2% และไทยมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคที่ GDP อาจติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทั้งนี้ สศค.จะแถลงประมาณการเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2568 ในวันที่ 28 เมษายน พร้อมเตรียมมาตรการช่วยเหลือผ่านสถาบันการเงินของรัฐ โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบ

หุ้นแนะนำวันนี้ Top pick:

CPF: ราคาพื้นฐาน 28.40 บาท

เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ CPF จากการคาดการณ์กำไรในไตรมาส 1 ปี 2568 ที่จะเติบโตประมาณ 490% YoY มาอยู่ที่ 6,800 ล้านบาท จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรขั้นต้น และสำหรับการเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน จะไม่มีการตั้งสำรองเหมือนในไตรมาส 4 ปี 2567 ที่ผ่านมา เรามองว่าอัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับตัวดีขึ้นมาจากต้นทุนเลี้ยงสัตว์ที่ลดลงและราคาหมูในประเทศ รวมถึงในจีนและเวียดนามที่ปรับตัวสูงขึ้น เราคาดว่าราคาหมูที่สูงจะยังคงอยู่ได้อย่างน้อยถึงไตรมาส 2 ปี 2568 จากอุปทานที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในไทยและเวียดนามที่ปรับตัวลดลงถึง 5% และ 30% ตามลำดับ นอกจากนี้ เราคาดว่าผลกระทบจาก reciprocal tariffs มีค่อนข้างต่ำเนื่องจากมีธุรกิจส่งออกไปยังสหรัฐฯ ไม่ถึง 1% และ CPF มีโอกาสได้ประโยชน์จากการนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้อีกในอนาคต

AURA: ราคาพื้นฐาน 20.10 บาท

เรายังคงมุมมองเชิงบวกต่อ AURA จากราคาทองคำที่ปรับขึ้นมายืนเหนือ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งยังคงเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอน ส่งผลให้บริษัทคาดมีกำไรจากส่วนต่างการซื้อขายทองคำของธุรกิจ gold trading และคาดการทยอยปรับค่ากำเหน็จขึ้นในครึ่งหลังปี 2568 จะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตต่อเนื่อง นอกจากนี้บริษัทมีการตั้งเป้า 2568 ที่จะเพิ่มสาขาเป็น 644 สาขา และการเติบโตพอร์ตสินเชื่อ gold finance เติบโตเป็น 6,500 ล้านบาท หรือเติบโต 30% พร้อมตั้งเป้ากำไรสุทธิปี 2568 โต 20-30% โดยมีแผนขยายเพดานหนี้จาก 2 เท่าเป็น 2.5 เท่าและมีแผนออกหุ้นกู้ 2-3 พันล้านบาท พร้อมขอวงเงินกู้ syndicate loan อีก 3-4 พันล้านบาทที่คาดว่าจะเห็นผลในไตรมาส 2 ปี 2568 ช่วยเสริมสภาพคล่องการขยายสาขาการเติบโตของทองมาเงินไป นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงเช่นกันเนื่องจาก AURA มีสัดส่วนเงินกู้ที่เป็นอัตราลอยตัวราว 98%

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

  • วันพุธติดตามการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจของจีนอย่าง ตัวเลข GDP ใน 1Q25 ตลาดคาดการณ์ที่ +5.2% YoY ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 5.4% YoY ต่อด้วย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (China Industrial production) เดือน มี.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ 5.6% YoY และ ดัชนียอดค้าปลีก (China Retail sales) เดือน มี.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ +4.2% YoY ปิดท้ายด้วย ดัชนียอดค้าปลีกของสหรัฐ (US Retail sale) เดือน มี.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ +1.4% MoM เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ +0.20% MoM
  • วันพฤหัสฯ ติดตามนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB Main Refinancing Rate) ตลาดคาดการณ์ว่าคณะกรรมการจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อด้วยตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐรายงานจำนวนที่อยู่อาศัยเริ่มสร้าง (US Housing Starts) ของสหรัฐ เดือน มี.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ 1.41 ล้านหลัง ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 1.50 ล้านหลัง และ รายงานใบอนุญาตก่อสร้างบ้าน (US Building Permits) ของสหรัฐ เดือน มี.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ 1.45 ล้านหลังเร่งตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 1.46 ล้านหลัง
  • วันศุกร์ ติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่น (Japan Inflation) เดือน มี.ค. เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 3.70% YoY และ เงินเฟ้อที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 2.60% YoY
- Advertisement -