KS Daily View 18 เม.ย. 2025>>> S&P 500 ปิดทรงตัวก่อนวันหยุด และรอดูสัญญาณบวกจากการเจรจาทางการค้า ด้านตลาดหุ้นไทยวานนี้ปิดทรงตัว มองวันนี้น่าจะขึ้นต่อได้หนุนโดยการเจรจาทางการค้าและราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น ประเมินกรอบ 1,130-1,160 แนะนำ CPN, MOSHI

แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศวันนี้: ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดทรงตัวก่อนหยุดทำการในวัน Good Friday ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 0.13%, Nasdaq Composite ลดลง 0.13% และ Dow Jones ร่วงแรง 1.33% ตลาดรอดูผลการเจรจาทางการค้า และหวังว่าการส่งสัญญาณบวกกับญี่ปุ่น-ยุโรป จะนำไปสู่ข้อตกลงที่แท้จริง ในขณะเดียวกันแรงขายหุ้นชิปจากการจำกัดการส่งออก H20 ของ Nvidia ยังคงอยู่ และหุ้น UnitedHealth ร่วงแรงฉุด Dow Jones หลังลดคาดการณ์กำไรทั้งปีจากต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่พุ่งขึ้น

ตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,141.28 จุด ปรับตัวขึ้นราว 2 จุด (+0.21%) มูลค่าการซื้อขาย 2.96 หมื่นล้านบาท เคลื่อนไหวกรอบแคบจากการที่ยังไม่มีปัจจัยใหม่ในเชิงมหภาค โดยหุ้นกลุ่มแบงค์ปรับตัวขึ้นโดดเด่นที่สุดหลังเข้าสู่การรายงานผลประกอบการ, กลุ่มโรงไฟฟ้าหลังค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง และกลุ่ม China-Related ที่ทางการจีนเตรียมเผยแผนการขยายภาคบริการในวันจันทร์ ขณะที่กลุ่มอื่นๆ ค่อนข้างทรงตัว เรามองตลาดหุ้นไทยวันนี้น่าจะปรับตัวขึ้นได้ โดยมีปัจจัยหนุนอย่างการเจรจาการค้าที่มีสัญญาณที่ดีขึ้นโดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่ Bessent รมว. คลังของสหรัฐฯ ออกมาพูดว่าการเจรจากำลังไปในทิศทางที่น่าพอใจซึ่งช่วยทำให้ตลาดผ่อนคลายความกังวล Reciprocal tariffs ลง ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นหลัง OPEC+ ประกาศลดกำลังการผลิตลง 196,000-520,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงเมษายน 2025 ถึงมิถุนายน 2026 เพื่อชดเชยการผลิตเกินโควต้า โดยจะลดมากที่สุดในช่วงพฤษภาคมถึงตุลาคม 2025 ช่วยหนุนหุ้นในกลุ่มพลังงานโดยเฉพาะ PTTEP  ..

ประเมินกรอบ SET ที่ 1,130 – 1,160 หุ้นแนะนำเป็น CPN, MOSHI

ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:

  1. ทรัมป์แสดงความมั่นใจในการเจรจาการค้ากับพันธมิตรหลายประเทศ หลังประกาศว่ามี “ความคืบหน้าครั้งใหญ่” ในการเจรจากับญี่ปุ่น โดยนายเรียวเซอิ อาคาซาวะ หัวหน้าผู้เจรจาญี่ปุ่นระบุว่าจะมีการหารือ “อย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์” เพื่อบรรลุข้อตกลงก่อนสิ้นสุดช่วงพักภาษี 90 วัน โดยญี่ปุ่นเตรียมเสนอซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวและเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ เป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ รัฐบาลทรัมป์ระบุว่ามีกว่า 75 ประเทศที่ต้องการทำข้อตกลงการค้าใหม่ โดยอย่างน้อย 15 ประเทศได้ยื่นข้อเสนอแล้ว และทรัมป์ยังมั่นใจว่าจะได้ข้อตกลงกับสหภาพยุโรป 100% รวมถึงคาดว่าจะได้ข้อตกลงที่ “ดีมาก” กับจีนด้วย
  2. ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับลด Deposit Facilities Rate ลง 25 bps เหลือ 2.25% เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากสงครามการค้าที่มีต่อเศรษฐกิจยูโรโซน โดยประธาน Christine Lagarde ระบุว่าเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับการหดตัวของความต้องการในตลาดและความไม่แน่นอนที่รุนแรงผิดปกติ ที่อาจบั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและครัวเรือน แม้ว่าเงินเฟ้อพื้นฐานกำลังชะลอตัวและมุ่งสู่เป้าหมาย 2% ECB ได้เปลี่ยนแนวทางมาเป็น “Data-dependent and Meeting-by-meeting” โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และอาจลงไปถึง 1.5% ในปลายปีหากแรงกดดันจากภาษียังคงอยู่
  3. ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2568 ต่ำกว่า 2.5% หลังสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทย 36% โดยนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ระบุว่าผลกระทบจะเห็นชัดในครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นผลกระทบที่รุนแรงแต่จำกัดอยู่ในบางภาคส่วน ไม่เหมือนโควิด-19 ที่กระจายทั่วระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ธปท.จะพิจารณาปรับประมาณการ GDP ใหม่ในการประชุม กนง.วันที่ 30 เมษายนนี้
  4. BBL รายงานกำไรสุทธิ 1.26 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้ง QoQ และ YoY โดยมีปัจจัยหลักมาจากกำไรจากการลงทุนที่สูงกว่าคาด ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยลดลงจาก NIM ที่อ่อนแอ ซึ่งเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง แม้ PPOP จะต่ำกว่าคาด แต่ค่าธรรมเนียมและ Non-NII ยังแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อัตราหนี้เสีย (NPL) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 3.6% และ coverage ratio ลดลง ทำให้แม้จะมีกำไรโดดเด่น แต่ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังเป็นประเด็นที่ติดตาม ด้าน TISCO มีกำไร 1.64 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนและปีก่อนตามลำดับ จาก credit cost ที่สูงขึ้นและสินเชื่อหดตัว โดยเฉพาะกลุ่มรายย่อยและ SME ซึ่งได้รับผลกระทบจากตลาดรถยนต์ที่อ่อนแอ อย่างไรก็ตาม ธนาคารดำเนินนโยบายสินเชื่อแบบ Conservative และมีโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อควบคุม NPL ซึ่งช่วยพยุงคุณภาพสินทรัพย์ในระยะสั้น
  5. OPEC+ ประกาศแผนการชดเชยการผลิตน้ำมันเกินโควต้าด้วยการลดกำลังการผลิตรายเดือนลง 196,000-520,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงเมษายน 2025 ถึงมิถุนายน 2026 ซึ่งเป็นการปรับลดมากกว่าแผนเดิมที่ 189,000-435,000 บาร์เรลต่อวัน โดยจะมีการชดเชยมากที่สุดระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม 2025 ส่งผลให้กลุ่ม OPEC+ จะผลิตน้ำมันต่ำกว่าแผนในปีนี้และชดเชยการเพิ่มกำลังการผลิต 411,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนพฤษภาคม 2025 ทำให้ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวขึ้น 3% จากอุปทานที่อาจตึงตัวขึ้น

หุ้นแนะนำวันนี้ Top pick:

  • CPN: ราคาพื้นฐาน 78.00 บาท

ราคาหุ้น CPN ขณะนี้ซื้อขายที่ระดับ -2SD หรือ 12.5 เท่าของกำไรปี 2568  เราชอบ CPN ที่เป็นผู้พัฒนาอสังหาฯ สำหรับค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยพอร์ตธุรกิจที่กระจายความเสี่ยงที่ดีซึ่งส่งผลให้ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งและปรับเพิ่มค่าเช่าได้ตลอด CPN ยังสามารถสร้างกระแสเงินสดอิสระได้ดีจะช่วยในการลดหนี้สินลงได้ในอนาคต อีกทั้งแผนธุรกิจสำหรับปี 2568 มีแนวโน้มการเติบโตราว 10% จะมาจากส่วนของการปรับเพิ่มพื้นที่เช่าราว 4-5% โดยรายละเอียดโครงการใหม่ในปีนี้ เช่น โครงการดุสิตทั้งห้างและ ออฟฟิต และ Central Krabi ที่จะเปิดตัวครึ่งปีหลังจะเป็นปัจจัยกระตุ้นการเติบโตได้ต่อเนื่องในปี 2569

  • MOSHI: ราคาพื้นฐาน 56.10 บาท

เราคงมุมมองเชิงบวกต่อ MOSHI จาก SSSG ใน 1Q68 เป็นบวก 7-8% จาก feedback ที่ดีจาก merchandise กลุ่ม cartoon characters ใหม่ๆ ที่พัฒนาจากทีม R&D ของบริษัท และได้ประโยชน์จากการร่วม E-receipt เป็นปีแรก ซึ่งผู้บริหารคงเป้าการเติบโตของยอดขายที่ 15-20% ขณะที่มอง GPM ที่ไม่รวม impact ของ exhibition ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 54.2% ซึ่งหมายถึงจะเห็นการเพิ่มขึ้นโดยรวม ทั้งนี้บริษัทไม่มีแผนการทำธุรกิจ exhibition เพิ่มเติมจากนี้ ประกอบกับแผนการขยายสาขาในปี 2568 ยังคงแผนที่ 40 สาขาโดยแบ่งเป็น สาขาในศูนย์การค้าราว 30 สาขา และอีก 13 สาขาเป็นสาขารูปแบบ Standalone นอกจากนี้เราคาด Moshi มีโอกาสได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงจากสงครามทางการค้าเนื่องจาก moshi มีการนำเข้าสินค้าจากจีนราว 60-65% โดยปัจจุบันค่าเงิน CNYTHB อ่อนตัวลงราว 2% ตั้งแต่ต้นปี

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

  • วันศุกร์ ติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่น (Japan Inflation) เดือน มี.ค. เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 3.70% YoY และ เงินเฟ้อที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 2.60% YoY
- Advertisement -