บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2567 พิจารณาอนุมัติจัดสรรกำไร เคาะจ่ายปันผลสำหรับผลการดำเนินธุรกิจประจำปี 2566 แก่ผู้ถือหุ้น 0.25 บาท/หุ้น รวมเป็นเงิน 125 ล้านบาท กำหนดจ่ายเงินปันผล 15 พฤษภาคม 2567 เผยยอดขายรถจักรยานยนต์ไตรมาสแรกของปีลดลง 11.2% อีกทั้งยอดขายรายเดือนลดลงต่อเนื่อง 5 เดือนถึงปัจจุบัน ด้านผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์เข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2566 ขณะที่ตลาดรถจักรยานยนต์ใน กทม. ขยายตัวเล็กน้อยในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2567 เนื่องจากยังมีผู้ให้บริการเช่าซื้อบางรายยังคงเน้นปล่อยสินเชื่อฯ เพื่อเป้าหมายส่วนแบ่งการตลาด ย้ำ TK ยังคงมีเงินสดกว่า 2,000 ล้านบาท พร้อมขยายพอร์ตเช่าซื้อได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องออกหุ้นกู้
นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า จากการดำเนินธุรกิจของ TK ในปี 2566 ที่ผ่านมา พอร์ตลูกหนี้เช่าซื้อรวมของ TK จากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศมีรวม 3,658.8 ล้านบาท ลดลง 12% จาก 4,158.6 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 การบริหารงานและการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพของคณะผู้บริหารและพนักงาน ทำให้ผลประกอบการในปี 2566 มีรายได้รวม 1,653.9 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 92.1 ล้านบาท ทำให้สามารถจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินธุรกิจในปีที่ผ่านมาให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท จำนวน 500 ล้านหุ้น รวมเป็นเงิน 125 ล้านบาท และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 โดยได้รับอนุมัติจัดสรรกำไรจากผู้ถือหุ้นในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2567 เป็นที่เรียบร้อย
TK ยังคงดำเนินงานด้วยการยึดกลยุทธ์ทางธุรกิจทั้งการปล่อยสินเชื่อและการบริหารการเงินอย่างระมัดระวัง เข้มงวดในการตรวจสอบความสามารถในการชำระหนี้ การเร่งปล่อยสินเชื่อจำนวนมากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจในสภาพการณ์ปัจจุบัน ทั้งยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่สูงที่จะเพิ่มหนี้เสีย อย่างไรก็ตาม TK เน้นรักษาสถานะเงินสดของบริษัทฯ โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีเงินสดสูงถึง 2,000 ล้านบาท พร้อมเติบโตพอร์ตทันที โดยไม่ต้องออกหุ้นกู้หรือกู้เงินเพิ่ม และพร้อมเร่งเพิ่มจำนวนลูกค้าเพื่อขยายพอร์ตได้ทันทีที่ตลาดกลับมาสภาพปกติ
นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวว่า ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์รวมปี 2566 ที่ผ่านมาเติบโต 4% หรือ 1,878,655 คัน แบ่งเป็นยอดขายในกรุงเทพฯ 26% และต่างจังหวัด 74% อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตรายใหญ่คาดการณ์ตลาดรถจักรยานยนต์ในปี 2567 จะลดลงประมาณ 9% โดยในไตรมาส 1 ของปี 2567 ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลง 11.2% หรือ 454,796 คัน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากผู้ให้บริการเช่าซื้อส่วนใหญ่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตลาดรถจักรยานยนต์ลดลงต่อเนื่องมา 5 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ EV มีสัดส่วนเพียง 1% ยังไม่เติบโตเท่าตลาดรถยนต์ EV ในส่วนของยอดขายตลาดรถยนต์ในช่วง 3 เดือนแรกของปียังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ยอดขายรายเดือนลดลงตลอด 10 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
ตลาดเช่าซื้อภาพรวมหดตัวลดลง ทั้งจากมาตรการเพดานดอกเบี้ยจาก สคบ. และจากหนี้ครัวเรือนซึ่งอยู่ในระดับสูง 90% ของ GDP มาหลายปี อีกทั้งเงินเฟ้อสูง ส่งผลลบต่อกำลังการซื้อและการผ่อนชำระค่างวดของลูกค้าที่มีรายได้น้อย ในขณะที่ตลาดรถจักรยานยนต์ในกรุงเทพฯ ในไตรมาสแรกยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย นับเป็นตลาดที่มียอดขายมากที่สุดในประเทศที่มาพร้อมกับการแข่งขันที่ดุเดือด โดยยังมีผู้ให้บริการเช่าซื้อบางรายมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อเพื่อส่วนแบ่งการตลาดในพื้นที่ดังกล่าว
“ในปี 2566 ที่ผ่านมา พอร์ตเช่าซื้อในต่างประเทศมีสัดส่วน 38% ของพอร์ตรวมของ TK โดยพอร์ตใน สปป. ลาว สินเชื่อยังคงตัว ในขณะที่พอร์ตสินเชื่อในกัมพูชามีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คุณภาพลูกหนี้ในตลาดต่างประเทศถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าตลาดในประเทศ โดยเฉพาะลูกหนี้ใน สปป.ลาว” นายประพล กล่าว