NEX ประสบบความสำเร็จ ส่งมอบรถไฟฟ้า 591 คัน Q1/67 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 563 คัน จาก ดันรายได้ไตรมาส 1/2567 ที่ 2.5 พันล้านบาท ดีมานด์รถไฟฟ้าเติบโตต่อเนื่อง มั่นใจปีนี้ส่งมอบรถไม่ต่ำกว่า 5,000 คัน พร้อมรับมาตรการรัฐสนับสนุนหักค่าใช้จ่ายซื้อรถอีวีเชิงพาณิชย์ 2 เท่า มุ่งขยายตลาดต่างประเทศ ต่อยอดสร้างแบรนด์อีวีไทย
นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) (NEX) ผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์เชิงพาณิชย์แบบครบวงจรในประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2567 สิ้นสุด( 31 มีนาคม 2567) บริษัทฯ มีรายได้รวม 2,509 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิที่ 57.97 ล้านบาท บริษัทฯ มีการส่งมอบรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ไปกว่า 591 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 563 คัน แบ่งเป็น รถเมล์ไฟฟ้า ขนาด 11เมตร จำวน 94 คัน รถหัวลากไฟฟ้าจำนวน 171 คัน รถเมล์ ขนาด 8 เมตร จำนวน 230 และรถรุ่นอื่นๆ กว่า 96 คัน สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นอย่างมาก เป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างแท้จริง เนื่องจากมีผลต่อการลดค่าใช้จ่ายในด้านพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการส่งมอบรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 1/2567 ที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจและการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปไปในอนาคต
ทั้งนี้ การลดต้นทุนพลังงานและการใช้งานที่มีประสิทธิภาพเป็นจุดประสงค์หลักของธุรกิจและองค์กรในปัจจุบัน การส่งมอบรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้บริษัทลดต้นทุนในการดำเนินงานได้และเป็นการสร้างการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว ที่ผ่านมามีบริษัทมาใช้บริการ รถไฟฟ้าอีวีต่อเนื่อง อาทิ บริษัทในกลุ่ม PTTGC ,ทิปโก้แอสฟัลท์, บริษัท โลจิสติกส์ เอเชีย จำกัด ใช้ส่งสินค้าเครื่องดื่มและสินค้ากลุ่ม FMCG ให้ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ,บริษัท นิปปอน เอ็กซ์เพรส โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท ซีว่า ลอจีสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (CEVA Logistics) เป็นต้น และยังมีการเจรจากับลูกค้าอีกหลายราย ที่สนใจใช้รถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NEX กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี บริษัทฯยังเดินหน้าในการผลักดันยอดขายปีนี้คาดว่าจะส่งมอบรถไฟฟ้าให้ลูกค้าได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 คัน บริษัทฯยังมีโอกาสรับงานภาครัฐอีกด้วย
ขณะเดียวกันคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการลดการปล่อยคาร์บอน มาตรการดังกล่าวจะอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งาน โดยไม่กำหนดเพดานราคาขั้นสูง ในกรณีซื้อรถที่ผลิต/ประกอบในประเทศ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า และในกรณีนำเข้ารถสำเร็จรูปจากต่างประเทศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า ไม่จำกัดจำนวนคันและราคา ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการผลักดันยอดขายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
นอกเหนือจากการผลักดันยอดขายในประเทศ ยังมีการขยายไปยังตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพ อย่างใน สปป.ลาว ที่มีโอกาสเติบโตอีกมาก จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนกระบวนการจัดการด้านโลจิสติกส์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคที่ รวมไปถึง อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งมองว่าจะเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างแบรนด์รถ EV ของไทยให้ สามารถเติบโตได้ในตลาดต่างประเทศ และมั่นใจในศักยภาพความพร้อมเดินหน้าให้บริการอย่างเต็มกำลัง โดยปัจจุบันโรงประกอบยานยนต์ไฟฟ้ามีกำลังการผลิตสูงสุดที่ 9,000 คันต่อปี ซึ่งจะพิจารณาการขยายกำลังการผลิตที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้รถยานยนต์ไฟฟ้า