TTA รายงานกำไรสุทธิที่แข็งแกร่งจำนวน 1,116.0 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1/2567 เป็นผลมาจากอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าที่สูงขึ้น และรายได้ที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง
- โทรีเซน ชิปปิ้ง สามารถบริหารจัดการรายได้ต่อลำต่อวัน (TCE) ได้สูงสุด และติดอันดับที่สามของโลก ในปี 2566 และยังเป็นบริษัทเดียวที่ครอง 5 อันดับแรกในรอบระยะเวลา 6 ปีติดต่อกัน (ปี 2561 – 2566) จากรายงาน “Vesselindex Performance” ที่ประเมินผลการดำเนินงานของอุตสาหกรรมเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองระดับสากลโดย Liengaard & Roschmann
- กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ รายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 656.4 ล้านบาท และมีอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าเฉลี่ยที่ 15,932 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน สูงกว่าอัตราค่าระวางเรือซุปราแมกซ์สุทธิอยู่ร้อยละ 29
- กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง รายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 6.9 ล้านบาท โดยมีมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จำนวน 734.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาสที่ 1/2567
- กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร รายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 3.1 ล้านบาท ถึงแม้จะเป็นช่วงนอกฤดูกาลเพาะปลูก
บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA มีรายได้ จำนวน 6,523.1 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1/2567 โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง และกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มการลงทุนอื่น มีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 26 ร้อยละ 48 ร้อยละ 11 ร้อยละ 9 และร้อยละ 6 ของรายได้รวม ตามลำดับ โดยสรุป TTA รายงานผลกำไรสุทธิอย่างแข็งแกร่ง จำนวน 1,116.0 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1/2567 และเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญร้อยละ 419 เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ TTA มีโครงสร้างเงินทุนยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งเห็นได้จากอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับต่ำที่ 0.42 เท่า ณ สิ้นไตรมาส
นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA กล่าวว่า “ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1/2567 ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของกระแสเงินสดที่ดีและความสามารถในการทำกำไรที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือและกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง แม้ว่าภาวะการค้าขายของโลกอาจจะชะงักงันบ้าง เนื่องจากการสู้รบในทะเลแดง ความตึงเครียดในอ่าวเปอร์เซีย และสงครามที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในยูเครน แต่โทรีเซน ชิปปิ้ง ยังคงรักษาอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าเฉลี่ยได้สูงกว่าตลาด นอกจากนั้น Liengaard & Roschmann ที่ได้ทำการประเมินอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าของบริษัทจดทะเบียนที่ให้บริการขนส่งสินค้าแห้งเทกองในระดับสากล ได้เผยแพร่รายงาน “Vesselindex Performance” ฉบับล่าสุด ซึ่งปรากฏว่า โทรีเซน ชิปปิ้ง ติดอยู่ในระดับสามของโลก ด้วยอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าเฉลี่ยสูงกว่าตลาด อยู่ที่ 3,790 ดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 38.6 ในขณะที่ เมอร์เมด ยังคงทำผลงานได้ยอดเยี่ยม ในด้านงานวิศวกรรมใต้ทะเล (Subsea-IRM) และงานรื้อถอน (Decommissioning) งานขนส่งและติดตั้ง (Transportation & Installation: T&I) ดังนั้น เราจึงมั่นใจว่าเมอร์เมด มีอนาคตที่สดใส และมีศักยภาพที่จะขยายธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่งในประเทศไทย ตะวันออกกลาง และสหราชอาณาจักร ให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง”
ผลการดำเนินงานของรายกลุ่มธุรกิจ
กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ :
รายได้ค่าระวางของโทรีเซน ชิปปิ้ง อยู่ที่ 1,690.4 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1/2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน เนื่องจากอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าเฉลี่ยที่สูงขึ้น โดยอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าเฉลี่ยของกลุ่มธุรกิจฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปีก่อน มาอยู่ที่ 15,932 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน และอัตราการใช้ประโยชน์เรือยังคงสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 100 และมีอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าสูงสุดอยู่ที่ 36,343 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ในขณะที่ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของเรือ (OPEX) อยู่ที่ 4,113 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีก่อน ดังนั้น กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 854.5 ล้านบาท เช่นเดียวกับ EBITDA ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 815.5 ล้านบาท
ดังนั้น ไตรมาสที่ 1/2567 โทรีเซน ชิปปิ้ง รายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 656.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญร้อยละ 56 เมื่อเทียบกับปีก่อน โทรีเซน ชิปปิ้ง เป็นเจ้าของเรือ จำนวน 24 ลำ (เรือซุปราแมกซ์ จำนวน 22 ลำ และเรืออัลตราแมกซ์ จำนวน 2 ลำ) มีระวางบรรทุกเฉลี่ยเท่ากับ 55,913 เดทเวทตัน (DWT) และมีอายุเฉลี่ย 16.0 ปี
กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง :
บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) หรือเมอร์เมด รายงานรายได้ 3,139.0 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1/2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 112 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของงานวิศวกรรมใต้ทะเล (Subsea-IRM) และงานรื้อถอน (Decommissioning) งานขนส่งและติดตั้ง(Transportation & Installation: T&I) โดยรายได้จากงานวิศวกรรมใต้ทะเล งานรื้อถอน งานขนส่งและติดตั้ง และงานวางสายเคเบิลใต้ทะเล มีสัดส่วนร้อยละ 52 ร้อยละ 34 และร้อยละ 14 ของรายได้รวมของกลุ่มธุรกิจฯ ตามลำดับ
ในส่วนของรายได้จากงานวิศวกรรมใต้ทะเลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญร้อยละ 88 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของงานที่ไม่ใช้เรือในโครงการวิศวกรรมใต้ทะเลด้านสำรวจและซ่อมบำรุง และรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน จากอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือวิศวกรรมใต้ทะเลที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือวิศวกรรมใต้ทะเลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 83 ในไตรมาสที่ 1/2567 ในขณะที่ รายได้จากงานรื้อถอน งานขนส่งและติดตั้ง และงานวางสายเคเบิลใต้ทะเล เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญร้อยละ 119 เมื่อเทียบกับปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการขยายธุรกิจของงานรื้อถอน งานขนส่งและติดตั้งในประเทศไทย ส่งผลให้กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งที่ร้อยละ 180 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 479.2 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ EBITDA เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญร้อยละ 463 เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 281.3 ล้านบาท
โดยสรุป เมอร์เมด รายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 6.9 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1/2567 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญร้อยละ 107 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบที่แข็งแกร่ง จำนวน 734.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส
กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร :
ในไตรมาสที่ 1/2567 บริษัท พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMTA รายงานรายได้รวมที่ 711.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 73 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากปริมาณการขายปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น โดยมีรายได้จากการขายปุ๋ยทั้งในประเทศและส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 87 เมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณการขายปุ๋ยรวมอยู่ที่ 32.3 พันตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 130 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการฟื้นตัวของความต้องการใช้ปุ๋ยในประเทศเวียดนาม ซึ่งปริมาณขายปุ๋ยในประเทศเวียดนามอยู่ที่ 25.6 พันตัน คิดเป็นร้อยละ 79 ของปริมาณขายปุ๋ยทั้งหมด ขณะที่ปริมาณส่งออกปุ๋ยอยู่ที่ 6.8 พันตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 98 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากปริมาณส่งออกปุ๋ยไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการขยายตัว สำหรับรายได้จากผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อการเกษตรอื่น (pesticide) ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 32.7 ล้านบาท รายได้จากการให้บริการจัดการพื้นที่โรงงานลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 27.1 ล้านบาท จากกิจกรรมของคลังสินค้าที่ลดลง ส่งผลให้กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 229 เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 99.9 ล้านบาท และ EBITDA อยู่ที่ 32.1 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น ร้อยละ 511 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสรุป PMTA รายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 3.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 112 ในไตรมาสที่ 1/2567
กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage)
พิซซ่า ฮัท ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 พิซซ่า ฮัท มีสาขาจำนวน 186 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งสาขาทั้งหมดเป็นสาขาที่เปิดตามหัวเมืองใหญ่
ทาโก้ เบลล์ เป็นแฟรนไชส์อาหารสไตล์เม็กซิกันที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 ทาโก้ เบลล์ มี 26 สาขาทั่วประเทศ
กลุ่มการลงทุนอื่น (Investment) มุ่งเน้นธุรกิจการบริหารทรัพยากรน้ำและโลจิสติกส์
บริษัท เอเชีย อินฟราสตรักเชอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ AIM ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 91.87 เป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง และให้บริการครบวงจรทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ AIM ยังได้รับสัมปทานในการจำหน่ายน้ำประปาในหลวงพระบาง ประเทศลาว ผ่านบริษัทย่อยที่ AIM ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 100