รศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG

EPG ประกาศงบปีบัญชี 66/67 ยอดขาย 13,170 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% มีกำไรสุทธิ 1,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน เตรียมเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น 24 ก.ค. 67 จ่ายเงินปันผล 10 สตางค์ต่อหุ้น

รศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลก เปิดเผยว่าท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีความผันผวนไม่แน่นอน นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อการทำธุรกิจในตลาดโลก ในปีบัญชี 66/67 (1 เม.ย.66 – 31 มี.ค.67) โดยส่วนใหญ่ธุรกิจหลักสามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่ตั้งไว้ แม้ว่าธุรกิจบางแห่งในต่างประเทศดำเนินงานล่าช้ากว่าแผนงานที่กำหนดและต้องเร่งทบทวนผลการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม บริษัทยึดหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเป็นสำคัญ

ในปีบัญชี 66/67 บริษัทมียอดขายทั้งสิ้น 13,170 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มียอดขายอยู่ที่ 12,084 ล้านบาท จำนวน 1,086 ล้านบาท หรือ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9% มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 32% และมีกำไรสุทธิ 1,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,082 ล้านบาท จำนวน 129 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 12% ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการดำเนินงานของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่

ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex มียอดขาย 3,796 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อน มาจากยอดขายในสหรัฐอเมริกาที่ยังคงเติบโตต่ออย่างต่อเนื่องจากความต้องการสินค้าฉนวนยางที่มีคุณภาพสูงรวมถึงการขยายตลาดไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรม Ultra Low Temperature Insulation และ ระบบ Air Ducting system ซึ่งได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างดี ส่วนยอดขายในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ยอดขายในประเทศปรับตัวดีขึ้นตามการลงทุนภาคเอกชน

ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ Aeroklas และ TJM มียอดขาย 6,715 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อน ยอดส่งออกหลังคาครอบกระบะ (Canopy) ปรับตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้ง แอร์โรคลาส ได้รับคำสั่งซื้อสินค้าใหม่จากค่ายยานยนต์ญี่ปุ่น โดยเริ่มส่งสินค้าใหม่ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีบัญชี 66/67 แอร์โรคลาส มุ่งเน้นผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ที่มีน้ำหนักเบาซึ่งเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากมีส่วนช่วยในการประหยัดพลังงาน ประกอบกับยานยนต์รุ่นใหม่ได้ทยอยออกสู่ตลาด ส่งผลให้ แอร์โรคลาส ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น

ในขณะที่ธุรกิจในออสเตรเลียมียอดขายปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน จากภาวะตลาดที่ดีขึ้น และรับรู้รายได้จากการที่ Aeroklas Asia Pacific Group Pty. Ltd. ออสเตรเลีย ซื้อกิจการร้านค้าปลีก TJM ต่อจากตัวแทนจำหน่าย รวม 5 แห่ง เมื่อ 1 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้แบรนด์ EPP มียอดขาย 2,659 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อนเป็นผลมาจากการพัฒนากระบวนการผลิตให้ดีขึ้น และการปรับกลยุทธ์การขาย โดยเจาะตลาดกลุ่มบรรจุภัณฑ์ประเภทถ้วยน้ำดื่มราคาประหยัดให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ชดเชยยอดสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทกล่องใส่อาหารชะลอตัวลง

บริษัทมีต้นทุนขายสินค้า เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อน โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น บริษัทได้จัดหาวัตถุดิบจากแหล่งผลิตในหลายแหล่งเพื่อให้ต้นทุนเฉลี่ยจากราคาวัตถุดิบมีราคาเหมาะสม สำหรับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน มาจากธุรกิจในออสเตรเลีย 201 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายพนักงาน ค่าตัดจำหน่ายของแบรนด์ ค่าฐานข้อมูลลูกค้าของ 4Way Suspension Pty Ltd และ ค่าที่ปรึกษาในการยกระดับ Cyber Security ในขณะที่ค่าขนส่งของธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ลดลง 68.1 ล้านบาท อีกทั้ง   ในปีบัญชีนี้บริษัทตั้งสำรองผลขาดทุนทางเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ประมาณ 293ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากรายการลูกหนี้การค้าของบริษัท แอร์โรคลาส จำกัด ซึ่งจำหน่ายวัตถุดิบเพื่อใช้ผลิตสินค้าให้แก่ธุรกิจร่วมทุนในแอฟริกาใต้ ซึ่งได้รับคำสั่งซื้อสำคัญจากค่ายยานยนต์รายใหญ่ในมูลค่าที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจร่วมทุนดังกล่าวประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ดังนั้น เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงตัดสินใจผ่อนผันระยะเวลาการเก็บหนี้แก่ธุรกิจร่วมทุนในแอฟริกาใต้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวมีระบบควบคุมและตรวจสอบ เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริหาร อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นขั้นตอน ปัจจุบันบริษัทและผู้ถือหุ้นรายอื่น ได้ส่งที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เข้าไปดูแล ติดตาม และร่วมแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด พร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตแล้ว

ในปีบัญชีนี้บริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ 52.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่มีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 101 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าที่ 463ล้านบาท เพิ่มขึ้น 221 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าที่ 243 ล้านบาท มาจากการผลประกอบการที่ดีขึ้นของธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น และ ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ ทั้งในไทย อินเดีย และ จีน

รศ.ดร.เฉลียว กล่าวต่อว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 67 เพื่อขออนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปีให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท ในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท (สิบสตางค์) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 280 ล้านบาท ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2567 ในวันที่ 24 ก.ค. 67 และหากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผล จะกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่จะมีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 2ส.ค. 67 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นภายในวันที่ 21 ส.ค.67

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.66 บริษัท ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.12 บาท (สิบสองสตางค์) หากรวมกับการปันผลในครั้งนี้อีก 0.10 บาทต่อหุ้น (สิบสตางค์) จะทำให้บริษัทมีการจ่ายเงินปันผลรวม 0.22 บาทต่อหุ้น (ยี่สิบสองสตางค์) คิดเป็นร้อยละ 51.9 ของผลกำไรสุทธิ (Payout ratio)

- Advertisement -