บล. ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย): 

สนพ.ปรับลดประมาณการความต้องการใช้ก๊าซระยะยาว คาดกระทบ PTT และ PTTGC
📌ไทยจะใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าน้อยลงในระยะยาว
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ปรับลดประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติระยะยาวในปี 2580 เหลือ 4,747mmscfd (CAGR 13 ปีที่ -0.2%) จาก 5,348mmscfd (PDP 2561) สะท้อนว่าไทยจะใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าน้อยลง จากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าปี 2567 (PDP 2567) ระบุว่าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซจะลดเหลือ 41% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าโดยรวมในปี 2580 เทียบกับ 53% ตาม PDP 2561
📌ปรับเพิ่มประมาณการอุปทานก๊าซในประเทศ
ประมาณการอุปทานก๊าซในประเทศปรับขึ้นเป็น 1,708mmscfd ในปี 2580 ตาม Gas Plan 2567 เทียบกับ 1,429mmscfd ตาม Gas Plan 2561 สะท้อนปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากแหล่งเอราวัณ แต่ตัวเลขนี้ยังต่ำกว่า 2,645mmscfd ในปี 2567 หมายความว่าปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทยจะลดลง
นอกจากนี้ Gas plan 2567 ยังนับรวม “Potential Gas” เป็นหนึ่งในแหล่งจัดหาก๊าซระยะยาว ซึ่งจะมาจากการขยายเวลาสัญญาของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA), การต่ออายุสัญญาโครงการ Yadana รวมทั้งปริมาณก๊าซที่จะเพิ่มขึ้นอีก 5-15% ตาม DCQ (ปริมาณก๊าซที่ผู้ขายจะต้องส่งมอบตามสัญญาให้แก่ผู้ซื้อในแต่ละวัน) ของสัญญาซื้อขายก๊าซจากอ่าวไทย
แต่ Potential Gas นี้ ไม่รวมก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยกัมพูชา (OCA) น่าจะเป็นเพราะกรอบเวลาการเจรจายังไม่แน่นอน นอกจากนี้ ประมาณการ LNG นำเข้าถูกปรับลดเหลือ 2,300mmscfd ในปี 2580 ตาม Gas Plan 2567 เทียบกับ 3,418mmscfd ตาม Gas Plan 2561 เพราะอุปสงค์จากอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าลดลงอย่างไรก็ตาม Gas Plan 2567 อาจนำแผนก่อสร้าง FSRU (Floating Storage Regasification Unit) ในภาคใต้ของไทยในปี 2579 กลับมาใช้อีกครั้ง หากไม่มีการต่ออายุสัญญา JDA หลังครบกำหนด
📌คาดกระทบ PTT และ PTTGC
การที่อุปทานก๊าซในประเทศอยู่ที่ 1,708mmscfd ในปี 2580 หมายความว่าโรงแยกก๊าซของ PTT จะมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเหลือเพียง 57% ส่วน “Potential Gas” 625mmscfd อาจทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 81% ในปี 2580 อย่างไรก็ตาม เรามองว่าอุปทานก๊าซยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากแหล่งก๊าซที่มีอยู่ในอ่าวไทย ยกเว้นแหล่งอาทิตย์และแปลง B8/32 น่าจะไม่สามารถเพิ่มการผลิต เนื่องจากปริมาณสำรองกำลังลดลง
นอกจากนี้
การที่ปริมาณก๊าซในประเทศลดลง ยังส่งผลให้วัตถุดิบอีเทนที่ใช้ป้อน Gas Cracker ของ PTTGC ลดลงเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ Gas Cracker มีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำ ยกเว้นว่าบริษัทจะใช้วัตถุดิบโพรเพน/แนฟทาเพิ่มมากขึ้น แต่วิธีนี้จะกระทบ EBITDA margin
📌 แนะนำ Neutral หุ้นกลุ่มพลังงาน
ส่วนกรณีของ PTTEP เชื่อว่าถึงแม้ปริมาณสำรองก๊าซในประเทศจะลดลง แต่บริษัทยังสามารถจัดหาก๊าซเพิ่มจากต่างประเทศผ่านการซื้อกิจการ จึงยังแนะนำ Neutral กลุ่มพลังงาน สะท้อนความเสี่ยงด้านการกำกับดูแลที่สูงขึ้น แม้ว่าอุปสงค์-อุปทานในอุตสาหกรรมโรงกลั่นน่าจะสมดุลมากขึ้น มองว่า upside risk จะมาจากความต้องการน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากการกลั่นที่สูงกว่าคาด ส่วน downside risk จะมาจากการแทรกแซงราคาพลังงานของรัฐบาล
- Advertisement -