ยูโอบี เปิดตัว UOB Money Lock ฟีเจอร์รักษาความปลอดภัยใหม่ เพื่อป้องกันการโอนเงินออกผ่านออนไลน์ ลดความเสี่ยงจากมิจฉาชีพ
ธนาคารยูโอบี ประเทศไทยได้เปิดตัวฟีเจอร์รักษาความปลอดภัยใหม่ UOB Money Lock ซึ่งเป็นบริการเพื่อความปลอดภัยใหม่ล่าสุดสำหรับลูกค้ายูโอบีที่มีบัญชีเงินฝากเพื่อป้องกันการโอนเงินออกผ่านออนไลน์ ลดความเสี่ยงจากมิจฉาชีพ
จากข้อมูลจากรายงานการหลอกลวงในเอเชียประจำปี 2023[1] เผยว่าเอเชียกำลังเป็นเป้าหมายสำคัญของเหล่าอาชญากร ที่มีแนวโน้มใช้เทคโนโลยี AI สร้างเครือข่ายหลอกลวงได้ง่าย รวดเร็ว และดำเนินการในต่างประเทศเพื่อให้ยากต่อการตรวจสอบและจับกุม ในบรรดาประชากรเอเชียทั้งหมด ประชากรไทยมีแนวโน้มตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางโทรศัพท์มากที่สุด (ร้อยละ 88) โดยเป็นการหลอกลวงออนไลน์ผ่าน Facebook, LINE และอีเมล ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ถูกใช้บ่อยที่สุดในการฉ้อโกง รวมถึงการขโมยข้อมูลส่วนตัวและหลอกให้ลงทุน
ฟีเจอร์ UOB Money Lock จะช่วย “ล็อค” บัญชีเงินฝากที่กำหนดไม่ให้สามารถเกิดการโอนเงินออกจากบัญชีผ่านช่องทางแอปพลิเคชันหรืออินเทอร์เน็ตแบงกิ้งของธนาคาร เพื่อลดความเสี่ยงการถูกหลอกลวงให้ทำรายการโดยมิจฉาชีพ สำหรับการถอนเงิน ลูกค้าจะต้องไปที่สาขาของธนาคารยูโอบี เพื่อยืนยันตัวตน หรือถอนเงินจากตู้ ATM โดยใช้บัตรเดบิต โดยบัญชีที่ถูกล็อกจะยังสามารถรับเงินโอนเข้าได้ทุกช่องทาง และลูกค้ายังสามารถดูธุรกรรมของบัญชีผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างสะดวก ทั้งนี้ ในการขอปลดล็อกบัญชีนั้นลูกค้าจะต้องไปที่สาขาของธนาคารเพื่อทำการยืนยันตัวตน เพื่อความปลอดภัยของบัญชีของท่าน
นายยุทธชัย เตยะราชกุล กรรมการผู้จัดการ Head of Personal Financial Services ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “ฟีเจอร์ UOB Money Lock นี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของธนาคารในการยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้า ให้สอดคล้องกับนโยบายการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน เพื่อลดความเสี่ยงจากการหลอกลวงทางออนไลน์ โดยยกระดับความปลอดภัยขึ้นไปอีกขั้น และแม้ว่า UOB Money Lock จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวง แต่ลูกค้ายังคงต้องระมัดระวังในการใช้งานบัญชี และพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนทำธุรกรรมอยู่เสมอ”
[1] https://files.gogolook.com/2023-asia-scam-report.pdf
ลูกค้าสามารถสมัครใช้งานฟีเจอร์ UOB Money Lock ผ่านธนาคารยูโอบีทุกสาขา บริการ Live Chat บนแอป UOB TMRW หรือ UOB Contact Center ได้ที่หมายเลข 02-285-1555 ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม และเงื่อนไขและข้อกำหนดของบริการ UOB Money Lock ได้ที่เว็บไซต์ของUOB
เกี่ยวกับธนาคารยูโอบี
ธนาคาร ยูโอบี เป็นธนาคารชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย มีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศสิงคโปร์และมีการดำเนินธุรกิจในจีน อินโดนิเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม อีกทั้งยังมีเครือข่ายระดับโลกที่ประกอบด้วยสำนักงานประมาณ 500 แห่ง ใน 19 ประเทศและเขตการปกครอง ทั้งในเอเชียแปซิฟิก ยุโรปตะวันตก และอเมริกาเหนือ นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ 2478 ธนาคารยูโอบีได้พัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องผ่านการควบรวมกิจการที่สำคัญ ปัจจุบันธนาคารยูโอบีได้รับการจัดลำดับให้เป็นธนาคารที่มีความแข็งแกร่งในระดับสากลจากบริษัทจัดลำดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ได้แก่ Aa1 โดย มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และ AA- โดย ฟิทช์ เรทติงส์ และเอสแอนด์พี โกลบอล เรทติงส์
ตลอดระยะเวลาเกือบ 9 ทศววรษ ธนาคารยูโอบีดำเนินธุรกิจโดยยึดความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลางเพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ธุรกิจในระยะยาวโดยการปรับกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคผ่านพลังงานแห่งความสร้างสรรค์และความมุ่งมั่นในการทำสิ่งที่ถูกต้องแก่ลูกค้า ยูโอบีพร้อมที่จะพัฒนาอนาคตของภูมิภาคอาเซียนในเติบโต ทั้งประชากรและธุรกิจให้มีความเชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึงในภูมิภาค
เรายังมีส่วนในการเชื่อมต่อโอกาสทางธุรกิจภายในภูมิภาคนี้ ผ่านเครือข่ายทางการเงินที่แข็งแกร่ง เรามีการจัดทำฐานข้อมูลและรวบรวมข้อมูลเชิงลึกสำหรับพัฒนาและนำเสนอประสบการณ์ทางการเงินส่วนบุคคล และบริการทางการเงินที่เหมาะสมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลง ยูโอบีมีความมุ่งมันที่จะสร้างความยั่งยื่นในการดำเนินธุรกิจให้แก่ลูกค้า ผ่านกิจกรรมการมีส่วนร่วมทางสังคม สร้างผลกระทบที่ดีต่อสื่งแวดล้อม พร้อมไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ธนาคารเชื่อมั่นในการเป็นผู้บริการทางการเงินที่มีความรับผิดชอบ พร้อมทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผ่านการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมด้านศิลปะ เยาวชน และ การศึกษา
เกี่ยวกับธนาคารยูโอบี ประเทศไทย
ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีเครือข่ายทั่วประเทศ 147 สาขา และเครื่องเบิกเงินสดอัตโนมัติ 343 เครื่อง (ข้อมูลถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566) โดยได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำ ได้แก่ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (อันดับความน่าเชื่อถือเงินฝากระยะยาวที่ A3) และฟิทช์ เรทติ้งส์ (อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวที่ A- และความน่าเชื่อถือภายในประเทศระยะยาวที่ AAA(tha))