AP THAILAND – CPAC ผนึกกำลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเพื่อการอยู่อาศัยไทยสู่ความยั่งยืน ก้าวสู่ยุคใหม่ด้วยคอนกรีตคาร์บอนต่ำ และรถโม่เล็กซีแพค
AP Thailand จับมือ CPAC ในเครือเอสซีจี ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญและต่อเนื่อง ตอกย้ำจุดยืนเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเพื่อการอยู่อาศัยไทยที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยก้าวสู่ยุคใหม่ด้วยสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Society) ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างบ้านคุณภาพรักษ์โลกไปด้วยกัน ซึ่งบริษัทฯ เชื่อมั่นและเลือกใช้ “คอนกรีตคาร์บอนต่ำซีแพค” ในงานโครงสร้างโครงการบ้านแนวราบในเครือเอพี ไทยแลนด์ ที่มุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมสู่การสร้างบ้านคุณภาพ ทั้งยังช่วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการขนส่งผ่าน “รถโม่เล็ก CPAC” ขนาดคล่องตัวที่ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์
นายบุญชัย จันทร์กระจ่างเลิศ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานซัพพลายเชน บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตอกย้ำความเป็นผู้นำในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย เพื่อให้ทุกโครงการเครือเอพีคือที่…ที่ดีที่สุด ภายใต้พันธกิจสำคัญคือ การพัฒนาโครงการในเครือเอพี มุ่งส่งมอบชีวิตดีๆ ที่เลือกเองได้ให้กับทุกคน ควบคู่ไปกับความเชื่อที่ว่า “มากกว่าคำว่าบ้าน” แต่คือการสร้างชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน เพื่อให้ทุกพื้นที่ในบ้านเอพี เติบโตไปพร้อมกับทุกช่วงเวลาชีวิตของทุกคนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านความใส่ใจในทุกรายละเอียด ตั้งแต่การออกแบบ การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด Green Construction โดยเฉพาะงานซีเมนต์และคอนกรีตผสมเสร็จที่ถือเป็นวัสดุหลักของการก่อสร้าง ซึ่งบริษัทฯ มีความเชื่อมั่นในนวัตกรรมคอนกรีตคาร์บอนต่ำจาก CPAC ในเครือเอสซีจี
“เอพี ไทยแลนด์ เราเชื่อมั่นในการสร้างบ้านคุณภาพที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ลูกค้าได้อยู่อาศัยอย่างมีความสุขและมีสุขภาพที่ดีในระยะยาว ผ่านการเลือกใช้สินค้ารักษ์โลก (Green Product) จาก CPAC ในการก่อสร้างโครงการบ้านแนวราบรวมกว่า 56 โครงการในปีนี้ (2567) ตลอดจน เลือกใช้ ‘รถโม่เล็ก CPAC’ และ ‘คอนกรีตคาร์บอนต่ำซีแพค’ ซึ่งจุดเด่นของ ‘รถโม่เล็ก CPAC’ เหมาะสำหรับงานก่อสร้างในพื้นที่จำกัด ช่วยลดเสียงรบกวน ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับคอนกรีตทั่วไป ‘คอนกรีตคาร์บอนต่ำซีแพค’ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยลดผลกระทบต่อสภาพอากาศ ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจของบริษัทฯ ที่ต้องการมอบสิ่งที่ดีที่สุด เป็นบ้านคุณภาพที่ยั่งยืนและปลอดภัย เป็นมิตรต่อสุขภาพ และเป็นมิตรต่อโลกของเราทุกคน”
ด้าน นายถิรวัฒน์ พูนกาญจนะโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า “นับเป็นความภูมิใจของ CPAC ในการพัฒนานวัตกรรมและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับ AP Thailand ที่มีวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยการดำเนินงานร่วมกันกับ AP Thailand ตั้งแต่มกราคม – ปัจจุบัน (กันยายน 2567) สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1,112,600 กิโลกรัม เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 117,116 ต้น นับเป็นอีกหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 และล่าสุด AP Thailand กับการเลือกใช้ ‘คอนกรีตคาร์บอนต่ำซีแพค’ และ ‘รถโม่เล็ก CPAC’ เพื่อเข้ามาใช้ในโครงการพัฒนาอสังหาฯ ใจกลางเมือง ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราหวังว่านวัตกรรมนี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ตอบโจทย์การก่อสร้างสมัยใหม่และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างยั่งยืน”
สำหรับรถโม่เล็ก CPAC ขึ้นชื่อว่าเล็กกะทัดรัด มีความคล่องตัว ตอบโจทย์งานโครงการที่พักอาศัยในเมืองใหญ่และด้วยสามารถบรรทุกคอนกรีตได้มากถึง 2 คิวต่อเที่ยว อีกทั้งยังไม่ส่งผลกระทบต่อถนนให้ทรุดตัวเสียหายจากการรับน้ำหนัก และลดมลภาวะทางเสียง ส่วนคอนกรีตคาร์บอนต่ำซีแพค มีความโดดเด่นด้วยเนื้อคอนกรีตทึบแน่น ผิวเรียบ ทนต่อการขัดสีและหลุดล่อน ช่วยให้งานก่อสร้างแข็งแรง และสามารถออกแบบตามกำลังอัดให้เหมาะสมกับงานประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานพื้น เสา คาน หรือโครงสร้างที่ต้องการความทนทาน ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบการใช้งานสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในกระบวนการผลิตได้อย่างน้อย 25 กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร(คิว) เทียบเท่าการใช้คอนกรีต 1 คิว เท่ากับการปลูกต้นไม้ได้ถึง 2.5 ต้น
และทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ AP Thailand และ CPAC ที่มีแนวทางร่วมกันที่ไม่ใช่เพียงแต่ ตอบโจทย์เรื่องที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม พร้อมยังสร้างแรงกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยเกิดการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำอีกด้วย