KS Daily View 21.10.2024 >>> SET เริ่มมีแรงขาย ลุ้นมาตรการกระตุ้น ผลประกอบการกลุ่มแบงก์ มองกรอบ SET 1,480 – 1,510 จุด แนะนำ CPALL, BCH
Theme การลงทุนสัปดาห์นี้: ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,480 – 1,520 จุด หลังจากดัชนีขึ้นมาแตะระดับสำคัญที่ 1,500 จุดเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่ 1) การประกาศอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางจีน (PBOC) ซึ่งตลาดคาดว่าจะมีการปรับลดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 2) การประชุมคณะรัฐมนตรีไทยซึ่งคาดว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ “ซื้อ-แต่ง-ซ่อม-สร้าง” และ 3) การประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ของธนาคารหลัก KTB, SCB, KBANK และบริษัท TRUE แม้ว่าผลประกอบการของธนาคารส่วนใหญ่จะออกมาดีกว่าคาด แต่ตลาดยังคงกังวลเรื่องคุณภาพสินทรัพย์และผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. ทำให้ตลาดตอบรับในเชิงลบกับบางธนาคาร ในเชิงกลยุทธ์ แนะนำการลงทุนในกลุ่มที่ได้รับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นอย่างค้าปลีก และกลุ่มนิคมที่ได้รับประโยชน์จากการเลือกตั้งสหรัฐฯ หุ้นแนะนำในสัปดาห์นี้ AMATA ILM CPALL SAK BCH
แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศวันนี้: ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นทดสอบระดับ 1,500 จุด การที่ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps ยังเป็นแรงหนุนต่อเนื่อง แต่ช่วงปลายสัปดาห์ SET มีการปรับตัวลดลงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลให้หุ้น ADVANC ลดลง 15 บาท หรือราว 5% ในขณะที่กลุ่ม Electronic และ Commerce เป็นตัวหนุน มอง SET วันนี้น่าจะ Sideway ที่กรอบ 1,480 – 1,510 จุด รอผลประกอบการของกลุ่มธนาคาร
ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:
1. รัฐบาลเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยจะหารือรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 2 วงเงิน 10,000 บาท มาตรการ “เที่ยวไทยไปต่อ” ให้ลดหย่อนภาษีค่าท่องเที่ยวในพื้นที่น้ำท่วม 2 เท่า และขยายเวลายื่นภาษีพร้อมลดหย่อนภาษีซ่อมแซมที่อยู่อาศัยในพื้นที่น้ำท่วม รัฐบาลยืนยันจะออกมาตรการต่อเนื่องทั้งก่อนและหลังปีใหม่ เพื่อดันเศรษฐกิจไทยปี 2568 ให้โตเกิน 3%
2. สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเสนอรัฐบาลนำมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาใช้ช่วงปลายปี โดยเสนอให้ลดหย่อนภาษีสูงสุด 50,000 บาท ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้มากกว่าแสนล้าน
3. AWS Thailand ประกาศลงทุน 1.9 แสนล้านบาทในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและศูนย์ข้อมูลในประเทศไทย ภายในระยะเวลา 15 ปี โดยจะเริ่มให้บริการ AWS Asia Pacific (Bangkok) Region ในช่วงปี 2568 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูล ลดความล่าช้าในการเข้าถึงข้อมูล และสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจดิจิทัลในประเทศไทย การลงทุนนี้จะครอบคลุมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การฝึกอบรม และการสร้างนวัตกรรมเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย
4. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมมือกับการรถไฟลาวเพื่อพัฒนาการขนส่งทางรางระหว่างประเทศ โดยตั้งเป้าเพิ่มขบวนรถสินค้าเป็น 14 ขบวนต่อวัน และเพิ่มตู้โดยสารในเส้นทางกรุงเทพ-เวียงจันทน์ ซึ่งมีผู้ใช้บริการแล้วกว่า 13,000 คน นอกจากนี้ รฟท. จะมอบแคร่รถไฟที่ปลดระวางให้รถไฟลาวใช้ขนส่งสินค้า เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งทางรางในอาเซียน และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางในภูมิภาค
5. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์กรุงเทพฯ-ปริมณฑลไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ 45.1 ลดลงเล็กน้อยและต่ำกว่า 50 ต่อเนื่อง 7 ไตรมาส เหตุดอกเบี้ยสูง แต่มีสัญญาณบวกจากมาตรการรัฐและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ดัชนีหลายด้านปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นผู้ประกอบการรายกลาง-รายย่อยเพิ่มขึ้นเป็น 41 ด้าน ธอส. คาดดัชนีจะเพิ่มเกิน 50 เร็วกว่าที่คาด
6. ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนเผยอาจลด RRR สำหรับธนาคารพาณิชย์อีก 25-50 bps ภายในสิ้นปี และคาดการณ์การลดอัตราดอกเบี้ยหลายประเภท รวมถึง LPR ที่อาจลดลง 20-25 bps ในวันจันทร์นี้ สะท้อนแนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ต่อเนื่องจากมาตรการปลายเดือนก.ย. เพื่อสร้างเสถียรภาพภาคอสังหาริมทรัพย์และฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตลาดทุน
Daily pick
CPALL : ราคาพื้นฐาน 79.20 บาท
เราคงมุมมองเชิงบวกอย่างต่อเนื่องกับ CPALL โดยมองว่าเป็น 1 ใน 3 ผู้เล่นในบริษัทค้าปลีกที่มี SSSG ใน 3Q24 เป็นบวกที่ 3% และคาดกำไรใน 3Q24 จะออกมาเติบโตได้ดีต่อเนื่องราว 38% YoY จากรายได้ที่เติบโต 6% และ GPM ที่ดีขึ้นจาก Product mix และผลประกอบการของ CPAXT ที่แข็งแกร่ง ถึงแม้จะเจอหน้าฝนก็ตาม นอกจากนี้เรายังคงมุมมองเชิงบวกต่อผลประกอบการใน 4Q24 ว่าจะยังสามารถเติบโตได้ดี จากทั้งมาตรการกระตุ้นแจกเงิน 10,000 บาทให้แก่กลุ่มเปราะบางรวมถึงการเข้าสู่ช่วง High season ของการท่องเที่ยว ที่คาดว่าอาจมี Upside จากประมาณการ 4% สำหรับปี 2024
BCH: ราคาพื้นฐาน 20.30 บาท
เรามองผลการประชุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ และครั้งที่ 3 สำหรับ บอร์ดประกันสังคมในเรื่องของการปรับงบประมาณการรักษาโรคยาก Adj.Rw>2 ในมุมมองเชิงบวก เราคาดว่ามีโอกาสค่อนข้างสูงที่ผลการประชุมจะมีมติให้ปรับวงเงินงบประมาณขึ้นจาก 746 บาทต่อคนต่อปี เพื่อให้ SSO มีความสามารถในการจ่ายผลตอบแทนให้กับสมาชิกโรงพยาบาลได้ในอัตรา 12,000 บาท ต่อ Adj.Rw โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 90 วัน นอกจากนี้เรามองว่าการกลับมาของคนไข้คูเวตในปี 2025 จะเป็น Upside ต่อทั้งรายได้และ GPM ในปี 2025 อีกทั้งเราคาดว่าจะไม่มีโรงพยาบาลเปิดใหม่จนถึง 4Q27 และโรงพยาบาลใหม่ที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ 3 โรงคาดจะมีผลกำไรได้ในปี 2025
รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ
วันจันทร์ ติดตามธนาคารจีน (PBOC) ประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (Loan prime rate) ระยะเวลา 1 ปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อภาคธุรกิจและ 5 ปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยภาคครัวเรือน และสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการลดดอกเบี้ยทั้ง 2 ประเภทลง 20 bps สู่ระดับ 3.15% และ 3.65% ตามลำดับ
วันอังคาร ติดตามรายงานดัชนีภาคการผลิตของธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขาริชมอนด์ (Richmond Manufacturing Index) เดือน ต.ค. โดยตลาดคาดการณ์ -17 จุด โดยเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ -21 จุด
วันพุธ ติดตามตัวเลขยอดขายบ้านมือสอง (Existing home sale) ของสหรัฐฯเดือน ก.ย. โดยตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 3.88 ล้านหลังเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 3.86 ล้านหลัง
วันพฤหัสฯ ติดตามตัวเลขส่งออกของไทยจากกระทรวงพาณิชย์เดือน ก.ย. เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ +7.0% YoY และ ตัวเลขนำเข้าเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ +8.9% YoY ต่อด้วยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโซนยุโรปครั้งแรก (HCOB Manufacturing PMI Flash) เดือน ต.ค. เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 45.0 จุด และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐครั้งแรก (S&P Global US Manufacturing PMI Flash) เดือน ต.ค. เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 47.3 จุด จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.41 แสนตำแหน่ง และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ (Fed Beige Book)
วันศุกร์ ติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในเมืองโตเกียวที่ไม่รวมราคาอาหาร (Tokyo CPI excluding food) เดือน ต.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ +1.7% YoY ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ +2.0% YoY ต่อด้วยรายงานยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนครั้งแรก (Durable Goods Orders prelim) ของสหรัฐฯเดือน ก.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ -1.0% MoM ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ +0.0% MoM ปิดท้ายด้วยคาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครัฐจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (Michigan Consumer Sentiment Prelim) ของสหรัฐฯเดือน ต.ค. เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 68.9 จุด