- ระดมทุนตอกย้ำการเป็น Music Pure Play หนึ่งเดียวในตลาดหุ้นไทย
บมจ.จีเอ็มเอ็ม มิวสิค หรือ GMM ยื่นไฟลิ่ง ต่อ สำนักงาน ก.ล.ต.เสนอขายหุ้น IPO โดยหุ้นที่ขาย จะมาจาก GRAMMY ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ จะขายหุ้นที่ถืออยู่ 148 ล้านหุ้น บวกกับหุ้นออกใหม่ 80 ล้านหุ้น รวมแล้วไม่เกิน 228.80 ล้านหุ้น หรือ 26% วัตถุประสงค์เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ขยายกำลังการผลิตผลงานเพลงของกลุ่มบริษัทฯ รวมถึงลงทุนในกิจกรรมร่วมการค้า มี บล.ฟินันซ่า เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จีเอ็มเอ็ม มิวสิค กล่าวว่า หลังจากที่ GMM Music ได้ Spin-off ออกจากบริษัทแม่ เพื่อสร้างความชัดเจนทางธุรกิจสำหรับดำเนินตามแผนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสร้าง New Music Economy ของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ล่าสุด GMM Music และ GRAMMY ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เตรียมเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เรียบร้อยแล้ว โดยเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) GMM Music จะออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 80,000,000 หุ้น และ GRAMMY ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ จะขายหุ้นเดิมออกไม่เกิน 148.80 ล้าน หุ้น รวมแล้วไม่เกิน 228.80 ล้านหุ้น คิดเป็น 26%
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราได้เดินเกมรุกเพื่อ Unlock Value มูลค่าบริษัทฯ ยกระดับคุณภาพ และสร้างโอกาสใหม่ๆ เพื่อเดินหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้สู่การเป็น “The Next Asia’s Dragon” ผ่านการสร้างความร่วมมือกับผู้นำด้านธุรกิจดนตรีที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการจับมือลงทุนเชิงกลยุทธ์กับ ‘”เทนเซ็นต์ มิวสิค เอ็นเตอร์เทนเมนต์ กรุ๊ป (TME)” และ “เทนเซ็นต์ โฮลดิ้งส์ ลิมิเต็ด (TENCENT)” จากประเทศจีน รวมถึง “วอร์เนอร์ มิวสิค กรุ๊ป คอร์ป (WMGC)” จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งการผนึกกำลังกับพันธมิตรเหล่านี้ นับเป็นการปูทางสู่การเติบโตอย่างก้าวกระโดด
นอกจากนี้ ยังมีการร่วมทุนกับค่ายเพลง “แอลดีเอช (LDH)” จากญี่ปุ่นก่อตั้งบริษัท จี แอนด์ แอลดีเอช จำกัด (G&LDH) เพื่อพัฒนาศิลปินร่วมกัน รวมถึงการก่อตั้งบริษัท วายจีเอ็มเอ็ม จำกัด (YGMM) เพื่อผลิตศิลปินฝึกหัดร่วมกับค่ายเพลง “วายจี (YG)” จากเกาหลี ทุกความร่วมมือที่ได้กล่าวมา เป็นส่วนหนึ่งของจุดมุ่งหมายในการสร้างระบบเศรษฐกิจเพลงยุคใหม่ (New Music Economy) ให้เกิดขึ้นจริง สอดรับกับอนาคตอันสดใสของอุตสาหกรรมดนตรีในระดับโลกที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการเติบโตระลอกที่สอง (Music Second Wave Boom)
“ยิ่งไปกว่านั้น จุดเด่นที่สำคัญของ GMM Music คือการจะเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านเพลงโดยเฉพาะ (Music Pure Play) เพียงรายเดียวในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ครอบคลุมธุรกิจเพลงแบบครบวงจร ผ่านกลุ่มธุรกิจของบริษัทฯ กว่า 7 กลุ่มธุรกิจ ตั้งแต่การเฟ้นหาพัฒนาศิลปิน การผลิตเพลง การบริหารค่ายเพลง และการทำตลาดทุกช่องทาง โดยมีกลุ่มเรือธงที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัทฯ มาจาก 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจดิจิทัลมิวสิค กลุ่มธุรกิจโชว์บิซ และ กลุ่มธุรกิจบริหารศิลปิน”
นายฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด จีเอ็มเอ็ม มิวสิค กล่าวเสริมว่า กลุ่มบริษัทฯ มีผลประกอบการที่แข็งแกร่งและเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นจาก 1,838.28 ล้านบาทในปี 2564 เป็น 3,072.90 ล้านบาทในปี 2565 และ 3,912.75 ล้านบาทในปี 2566 มีกำไรสุทธิที่เติบโตอย่างโดดเด่น จาก 80.16 ล้านบาทในปี 2564 เป็น 304.58 ล้านบาทในปี 2565 และ 402.81 ล้านบาทในปี 2566 ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ยังคงรักษาการเติบโตที่แข็งแกร่ง มีรายได้ถึง 1,796.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,719.73 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สะท้อนถึงศักยภาพของธุรกิจด้านเพลงโดยเฉพาะ (Music Pure Play) และกลยุทธ์การบริหารจัดการที่ดีของเรา ทำให้มั่นใจว่าจะยังคงรักษาการเติบโตอย่างยั่งยืน สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนในอนาคต
โดยวัตถุประสงค์การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ของ GMM Music มีดังนี้
1. เพื่อใช้ลงทุนผลิตผลงานเพลงของกลุ่มบริษัทฯ โดยมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนเพลงสำหรับส่งลง Music Streaming, เพิ่มศิลปินใหม่ และศิลปินฝึกหัด รวมถึงขยายสเกลของ Music Festival ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ฯลฯ
2. เพื่อใช้ลงทุนในกิจการร่วมค้า ผ่านการขยายขอบเขตความร่วมมือไปยังพันธมิตรใหม่ๆ โดยมุ่งเน้นไปยังพาร์ทเนอร์ที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมดนตรีระดับโลกที่มีชื่อเสียง เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเอื้อให้เกิดรูปแบบความร่วมมือใหม่ๆ ที่จะสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมได้มากยิ่งขึ้น
3. เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินของกลุ่มบริษัทฯ
4. เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ สำหรับเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ลดความจำเป็นในการกู้ยืมสถาบันทางการเงิน ทั้งยังเป็นการสร้างแต้มต่อในการคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคต