ผลประกอบการ SCGD 9 เดือนแรกปี 67 คว้ากำไร 730 ล้านบาท เพิ่ม 15% จากปีก่อน แม้ฝ่ามรสุมรอบด้าน ไตรมาส 3 ยังกำไร 189 ล้านบาท เล็งลดต้นทุนต่อ รัดเข็มขัด ใช้พลังงานสะอาด
ผลประกอบการ SCGD 9 เดือนแรกปี 67 คว้ากำไร 730 ล้านบาท เพิ่ม 15% จากปีก่อน แม้ฝ่ามรสุมรอบด้าน ไตรมาส 3 ยังกำไร 189 ล้านบาท เล็งลดต้นทุนต่อ รัดเข็มขัด ใช้พลังงานสะอาด พร้อมหารายได้เพิ่ม ขยายช่องทางจัดจำหน่าย ผลิตกระเบื้องเกรซพอร์ซเลนในเวียดนามที่เติบโตสูง
ผลประกอบการ SCGD 9 เดือนแรกปี 67 กำไรสุทธิ 730 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนที่ 637 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 3 เผชิญความท้าทายรอบด้าน เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว น้ำท่วมในไทย – เวียดนาม ตลาดก่อสร้าง – ค้าปลีกฟิลิปปินส์อ่อนตัว อินโดฯ ยังรอภาครัฐอนุมัติงบฯ โครงการฯ แต่บริษัทฯ บริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ คว้ากำไร 189 ล้านบาท จากกลยุทธ์ลดต้นทุน ใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ 36.3 เมกกะวัตต์ หรือ 10.7% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด วางแผนติดตั้งเพิ่มในเวียดนาม และใช้พลังงานชีวมวลเพิ่มขึ้นเป็น 19.3% ของพลังงานความร้อนทั้งหมด หนุนสร้างรายได้เพิ่ม เสิร์ฟสุขภัณฑ์ กระเบื้องโดนใจลูกค้าโดยเฉพาะตลาดเวียดนามซึ่งเติบโตสูง เพิ่มไลน์ผลิตกระเบื้องพอร์ซเลนขนาดใหญ่ กำลังผลิต 2.5 ล้านตารางเมตร ขยายช่องทางจัดจำหน่าย เปิดร้าน V-Ceramic รูปแบบ Manufacturing Outlet สาขาแรกทางภาคใต้เวียดนาม ล่าสุดคว้าสุดยอดแบรนด์สุขภัณฑ์ Asia Excellent Brand Awards 2024 มั่นใจรายได้โต 2 เท่า ตามเป้าปี 2573
นายนำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCG Decor (SCGD) ผู้นำธุรกิจเซรามิก วัสดุตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า “แม้เศรษฐกิจอาเซียนยังไม่ฟื้นตัว โครงการก่อสร้างในประเทศชะลอตัว เกิดอุทกภัยทางภาคเหนือ ภาคกลางของประเทศเวียดนาม และภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อุปสงค์ตลาดก่อสร้าง-ค้าปลีกในฟิลิปปินส์ยังอ่อนตัว อินโดนีเซียอยู่ระหว่างรอการอนุมัติงบฯ โครงการต่าง ๆ จากภาครัฐหลังประธานาธิบดีเข้ารับตำแหน่ง แต่ SCGD สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำเสนอนวัตกรรมสินค้าที่เน้นความคุ้มค่า สะดวกสบายและรักษ์โลก ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ส่งผลให้ผลประกอบการ 9 เดือน ปี 2567 มีกำไร 730 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA 2,530 ล้านบาท ถึงแม้ว่ารายได้จากการขาย 19,585 ล้านบาท จะลดลงร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 6,235 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีกำไรสำหรับงวด 189 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA (กำไรก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย โดยรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม) 766 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 16 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 13 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ”
อย่างไรก็ดี บริษัทฯ เร่งปรับตัวต่อเนื่อง แม้เผชิญความท้าทายรอบด้าน โดยบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนากระบวนการผลิตต่อเนื่อง มุ่งใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดต้นทุน โดยไตรมาส 3 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ทั้งหมด 36.3 เมกกะวัตต์ คิดเป็น 10.7% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยผลิตได้ 24.7 เมกกะวัตต์ ส่วนประเทศเวียดนามติดตั้งโซล่าเซลล์เพิ่มเติม 1.9 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าในต่างประเทศเป็น 11.6 เมกกะวัตต์ นอกจากนั้นได้จัดสรรงบลงทุน 63.2 ล้านบาท ดำเนินโครงการ Hot Air Generator เพิ่มเติมที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมหนองแค (NKIE) จะช่วยลดต้นทุนได้ 16.8 ล้านบาทต่อปี คาดแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ปี 2568 ปัจจุบันบริษัทฯ ใช้พลังงานชีวมวลคิดเป็น 19.3% ของพลังงานความร้อนทั้งหมด
ในอนาคต ตลาดก่อสร้าง ตกแต่งในภูมิภาคมีแนวโน้มเติบโตสูง บริษัทฯ เตรียมคว้าโอกาสนี้ด้วยการขยายกระเบื้องเกรซพอร์ซเลนขนาดใหญ่ในไทยและเวียดนาม ตั้งเป้ารวม 14 ล้านตารางเมตรภายในสิ้นปี 2568 และจัดสรรงบลงทุน 167 ล้านบาทเพื่อปรับไลน์ผลิตกระเบื้องเซรามิกเป็นกระเบื้องพอร์ซเลนขนาดใหญ่ กำลังการผลิต 2.5 ล้านตารางเมตร ที่เมืองฟู้เอียน (Pho Yen) ประเทศเวียดนาม ซึ่งจะแล้วเสร็จช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 ขณะเดียวกันยังขยายช่องทางจำหน่ายให้เข้าถึงลูกค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น ล่าสุดจับมือกับบริษัท VAN PHUC TRADING Company Limited ด้วยทุนจดทะเบียน 17 ล้านบาท เปิดร้านจำหน่ายกระเบื้องเซรามิกและสุขภัณฑ์ V-Ceramic ในรูปแบบ Manufacturing Outlet สาขาแรกทางภาคใต้ของเวียดนามเมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเตรียมพร้อมตลาดที่กำลังเติบโต และรองรับสินค้าจากการจัดตั้งโรงงานกระเบื้องทางตอนใต้ของเวียดนาม นอกจากนี้ บริษัทฯ จะเพิ่มตัวแทนจำหน่ายด้านสุขภัณฑ์กว่า 170 รายในอาเซียน ทั้งนี้ ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มียอดขายสุขภัณฑ์ในอาเซียนกว่า 460 ล้านบาท อีกทั้งเร่งขยายธุรกิจวัสดุปิดผิว ธุรกิจสุขภัณฑ์และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (Complementary) อาทิ ปูนกาวยาแนว ท็อปเคาน์เตอร์ครัว บานประตูหน้าต่าง เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและแสวงหาลูกค้าใหม่ ตามเป้าหมายเพิ่มรายได้เป็น 2 เท่า ภายในปี 2573
“บริษัทฯ นำความต้องการของลูกค้ามาสร้างสรรค์สุขภัณฑ์ กระเบื้องคุณภาพสูงตอบเทรนด์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ อาทิ วัสดุปิดผิว LT by COTTO สำหรับสัตว์เลี้ยง ฝักบัวอาบน้ำสำหรับสัตว์เลี้ยง ตู้เฟอร์นิเจอร์ห้องน้ำ ผลิตจากวัสดุคอมโพสิต แข็งแรง ทนทาน หน้าต่างประตูสำเร็จรูปไทเทเนียม และเคาน์เตอร์ท็อปครัวที่ทนทานการใช้งาน ลดการดูดซึมของเหลวบนผิวหน้า ซึ่งช่วยยกระดับแบรนด์สินค้าให้ครองใจผู้บริโภค ล่าสุด COTTO ได้รับรางวัลแบรนด์วัสดุปิดผิวและแบรนด์สุขภัณฑ์ชั้นนำ “ Marketeer Number 1 Brand Thailand” จากสื่อ Marketeer “รางวัลวัสดุก่อสร้างที่ออกแบบมาเพื่อสัตว์เลี้ยงดีเด่น” (Pet Award สำหรับวัสดุปูพื้น LT by COTTO) จากบ้านและสวน และ “รางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย” Asia Excellent Brand Awards 2024 ในประเทศเวียดนาม” นายนำพล กล่าว
สืบเนื่องจากการแจ้งข่าวของบริษัทฯ ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับเรื่อง PT Keramika Indonesia Assosiasi Tbk (หรือ “KIA”) และบริษัทลูก ซึ่ง KIA ได้ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐของอินโดนีเซีย เพื่อขอให้ยกเลิกการเรียกร้องที่หน่วยงานรัฐแจ้งว่า KIA มีหนี้ต่อรัฐบาลอินโดนีเซีย มูลค่ารวมประมาณ 3,000 ล้านบาท และขอให้ยกเลิกระงับการเข้าระบบจดแจ้งทางทะเบียนกับ Ministry of Law and Human Rights (MOLHR) ของ KIA และบริษัทลูก เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งของ KIA นั้น
ที่ผ่านมา KIA และบริษัทลูก ได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐของอินโดนีเซียเป็นอย่างดีชี้แจงแล้วว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ก่อตั้งของ KIA โดยหุ้น KIA ที่ได้มาโดยสุจริตในตลาดหลักทรัพย์ และได้ใช้ที่ปรึกษาทางกฎหมายชั้นนำของประเทศอินโดนีเซีย ในการตรวจสอบแล้วว่าทั้งหุ้น KIA และ KIA และบริษัทลูกเอง ก็ไม่มีภาระหนี้ใดๆ กับรัฐบาลอินโดนีเซีย
ล่าสุด ถึงแม้ว่า ศาลสูง ประเทศอินโดนีเซีย ได้ตัดสินยืนยันตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องหน่วยงานรัฐของอินโดนีเซีย KIA และบริษัทลูก จะดำเนินการโต้แย้งต่อศาลฏีภา เพื่อขอให้ทบทวนคำพิพากษาข้างต้น และเหตุผลที่ชัดเจนต่อไป